การเงิน

3 สิ่งที่ควรคิดก่อน ลดหย่อนภาษีประจำปี

5 พ.ย. 66
3 สิ่งที่ควรคิดก่อน ลดหย่อนภาษีประจำปี

ถ้ามีคนถามว่า ลดหย่อนภาษีประจำปี 2566 ซื้ออะไรลดหย่อนดี ผมคิดว่าคำตอบที่ได้รับคงจะแตกต่างกันไปตามการให้ความสำคัญของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ประกัน กองทุน หรือทางเลือกอื่นๆ ตามที่คิด 

แต่เชื่อไหมครับว่า สิ่งที่เราไม่เคยกลับมาถามตัวเองเลย คือ แล้วจริงๆ เราควรวางแผนลดหย่อนภาษีอย่างไร ? เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการภาษีและการเงินของเรา แหม่.. พูดแล้วดูนามธรรม ลองดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ

สมมติว่านายบักหนอมเป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้ปีละ 600,000 บาท หากนายบักหนอมถามว่าควรวางแผนภาษีด้วยอะไรดี คำตอบที่นายบักหนอมได้รับอาจจะเป็น ซื้อประกันสิ ซื้อกองทุนนี้ หรือซื้อทั้งคู่ ไปจนถึงแนวทางที่ต้องมาพิจารณาดูอีกมากมาย

แต่ถ้านายบักหนอมสารภาพว่า พี่ครับ ถึงแม้ผมรายได้ปีละ 600,000 บาทก็จริง แต่สิ่งที่ผมเจออยู่นั้นมันหนักหนามาก หนี้บ้านเดือนละ 20,000 บาท หนี้รถเดือนละ 10,000 บาท ไม่รวมกินอยู่และคนที่ต้องดูแลอีกเดือนละเกือบ ๆ  20,000 บาทคิดไปคิดมาเงินเดือนผมไม่เคยจะเหลือเลยครับ เดือนชนเดือนตลอด ทุกวันนี้มีแต่นายจ้างที่หักภาษี ณ ที่จ่าย กับประกันสังคมไว้ แค่นี้ก็ไม่เหลือแล้วครับ

นั่นแปลว่าสิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนวางแผนภาษี นั่นคือ สภาพคล่องหรือกระแสเงินสดเรามีเพียงพอไหมนั่นเองครับ เพราะถ้าหากยังไม่มีสภาพคล่องหรือเงินสดเพียงพอ ก็คงดูท้อเมื่อพูดถึงการวางแผนภาษีขึ้นมาทุกทีสิน่า

แต่ถ้าหากในทางกลับกัน นายบักหนอมเปลี่ยนคำตอบใหม่เป็น ผมมีรายได้ปีละ 600,000 บาท ผ่อนบ้านผ่อนรถดูแลคนที่รักครบๆ หักภาษี ณ ที่จ่าย ประกันสังคม แล้วยังเหลืออีกเดือนละ 5,000 บาท (ปีละ 60,000 บาท) แบบนี้ควรวางแผนภาษียังไงดี 

นั่นแน่! ก็ต้องบอกว่าอย่าเพิ่งแนะนำว่าควรวางแผนด้วยตัวไหน แต่ควรถามต่อไปว่า เป้าหมายการเงินของนายบักหนอมนั้น มันมีตัวไหนร่วมกับทางเลือกในการวางแผนภาษีได้หรือเปล่า ? 

สมมติต่อว่า นายบักหนอมบอกว่า อ๋อ ผมตั้งใจเก็บเงินไว้อีก 5 ปีข้างหน้าครับ กะว่าจะเอาเงินสัก 2-3 แสนที่เก็บได้เดือนละ 5,000 ตั้งแต่วันนี้ ไปสร้างครอบครัวใหม่กับคนรัก อันนี้ก็จะเห็นว่าคำตอบมันก็เปลี่ยนไปอีกครับว่า ถ้าไม่มีตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่ตอบโจทย์ การเก็บเงินและจ่ายภาษีตามปกติก็เป็นคำตอบที่ไม่ผิดแต่ประการใด 

และนี่ก็แปลว่า สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจต่อหลังจากมีสภาพคล่องพอก็คือ ป้าหมายการเงินที่เรามี กับตัวช่วยลดหย่อนภาษีมันสอดคล้องกันหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ เราก็อาจจะต้องยอมจ่ายภาษีมากหน่อยในวันนี้ แล้วค่อยมาว่ากันหลังจากที่เป้าหมายการเงินเรากับการลดหย่อนภาษีมันสอดคล้องกัน

ลดหย่อนภาษี

ทีนี้มาดูตัวอย่างแบบสมบูรณ์กันบ้างครับ นั่นคือ นายบักหนอมเหลือเงิน 5,000 บาทต่อเดือนเหมือนเดิม แต่เงินก้อนนี้ถูกวางแผนไว้ใช้เพื่อลดหย่อนภาษีอย่างที่คิด เนื่องจากภารกิจทั้งหมดได้เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่นายบักหนอมต้องกลับมาตัวเองก็คือ ตัวช่วยในตอนนี้ที่เกี่ยวกับเรื่องเงินมีอะไร เช่น

  • ต้องการความคุ้มครองส่วนหนึ่งเพื่อคนข้างหลัง และป้องกันไว้เผื่อเป็นโรคร้าย อันนี้ทางเลือกประกันชีวิต และ ประกันสุขภาพก็จะเข้ามาตอบโจทย์
  • ต้องการลงทุนเพื่อเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดหวังผลตอบแทนในอนาคตที่มากกว่าการฝากเงิน และเสี่ยงได้ แบบนี้ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ก็จะเข้ามาตอบโจทย์
  • ต้องการวางแผนเพื่อเกษียณ เนื่องจากนายจ้างยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้่ยงชีพ ก็อาจจะต้องมองที่ประกันบำนาญ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกอบกัน

ดังนั้นข้อสำคัญสุดท้ายที่นายบักหนอมควรตอบ เมื่อมีทั้งสภาพคล่อง และ เป้าหมายลดหย่อนภาษีแล้ว ก็คือ ควรเลือกตัวไหนดี เพือให้เงินที่เรามีอย่างจำกัด ได้ประโยชน์สูงสุด ตามที่ต้องการ

สมมติว่า จากทางเลือก 3 ทางที่นายบักหนอมต้องการ ตอนนี้กังวลเรื่องความคุ้มครองมากที่สุด เพราะกลัวว่าจะเป็นอะไรไปแล้วคนข้างหลังลำบาก ช่วงนี้ก็อาจจะต้องเทน้ำหนักไปที่ประกันชีวิตมากกว่าตัวอื่นๆ 

แต่ถ้าหากในอนาคตนายบักหนอมมีเงินเหลือมากขึ้น สภาพคล่องดีขึ้น การใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในส่วนอื่นๆ ก็จะเสริมเติมขึ้นมาตามเป้าหมายที่ตัวเองต้องการได้เช่นเดียวกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความสามารถ และอนาคตที่นายบักหนอมวางไว้ให้กับตัวเอง

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มเข้าใจสิ่งที่ผมอธิบายทั้งหมดแล้วใช่ไหมครับว่า ถ้าหากเราจะวางแผนลดหย่อนภาษี เราควรเริ่มจากเช็คสภาพคล่องที่เรามี เป้าหมายการเงินที่สอดคล้องกับรายการลดหย่อน และ เลือกตัวที่เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของเราให้มากที่สุดจากเงินที่เรามี

และถ้าตอบคำถามทั้งหมดเหล่านี้ได้ เราจะรู้ว่าเราควรเลือกอะไร โดยที่ไม่ต้องถามใครว่า ควรวางแผนแบบไหนยังไงดี เพราะคนที่ตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดมีอยู่คนเดียว นั่นคือตัวเราครับ :)

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT