เลือกกองทุนลดหย่อนภาษีด้วยอะไรดี กองทุน TESG ตัวใหม่ดีไหม ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ เรามาทำความเข้าใจเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีกันก่อนครับ
ต้องบอกว่า คำว่า “ค่าลดหย่อน” หรือ “รายการลดหย่อนภาษี” เป็นรายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกว่า “วิธีเงินได้สุทธิ” ซึ่งมาจาก (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า ถ้าหากรายการค่าลดหย่อนเรามีมากขึ้น มันจะช่วยให้เงินได้สุทธิของเราลดลงได้ และเมื่อเงินได้สุทธิลดลง ก็จะเสียภาษีน้อยลงไปด้วย แต่จะเสียภาษีน้อยลงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่เราเสียครับ (ตั้งแต่ยกเว้น - 35%) นั่นเองครับ
แต่เนื่องจากปี 2566 ช่วงปลายปี มีรายการค่าลดหย่อนใหม่ล่าสุดอย่าง กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund หรือ TESG เกิดขึ้นมา ซึ่งเริ่มเปิดขายหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม. 2566 นี้ โดยผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน TESG จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี 2566 ที่ต้องยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2567
โดยนโยบายการลงทุนของกองทุน ThaiESG นั้นกำหนดให้สามารถลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ซึ่งกำหนดเงื่อนไขในการซื้อและถือครองดังนี้ครับ
โดยวงเงินในการซื้อกองทุน TESG จะไม่ถูกนับรวมกับ กลุ่มลดหย่อนเพื่อเกษียณ เช่น กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันถูกกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
นั่นแปลว่าเมื่อนับรวมกันแล้ว จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 600,000 บาท
ถ้าหากถามว่ากองทุนนี้เหมาะกับใคร ก็ต้องบอกว่า เหมาะกับผู้เสียภาษีที่มีเงิน (ฮา) และต้องการลดหย่อนเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ลงทุน SSF กับ RMF และกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ที่ใช้จนเต็มสิทธิ์แล้วและมองเห็นโอกาสศักยภาพการเติบโตในหุ้นยั่งยืนและธุรกิจที่ดำเนินงานตามหลัก ESG ในประเทศไทยร่วมกับสามารถถือครองกองทุน TESG อย่างน้อย 8 ปีขึ้นไปเพื่อให้ครบตามเงื่อนไขลดหย่อนภาษีนั่นแหละครับ
ดังนั้นสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราต้องกลับมาถามตัวเองอีกที คือ เป้าหมายการเงินที่เรามี กับตัวช่วยลดหย่อนภาษีมันสอดคล้องกันหรือเปล่า เพื่อให้เราเลือกลงทุนได้ดีที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเรามีเป้าหมายการเงินในอีก 8 ปีข้างหน้า และเรามั่นใจว่ากองทุน TESG นั้นลงทุนในธุรกิจตามหลัก ESG ที่ตอบโจทย์ผลตอบแทนที่เราคาดว่าจะได้รับ ร่วมกับรับความเสี่ยงในการลงทุนกองทุนหุ้นได้ การซื้อสะสมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการเงินและลดหย่อนภาษีก็เป็นเรื่องควรทำ เพราะมันตอบได้ทุกจุดที่เราต้องการ
หรือถ้าหากเรามองว่าเราต้องลดหย่อนตามเป้าหมายอื่นที่สำคัญกว่าก่อน แล้วค่อยซื้อสะสมเพิ่มเติมก็ไม่ใช่เรื่องผิด ติดที่ต้องเช็คเงิน (สภาพคล่อง) ที่เรามี ร่วมกับเป้าหมายการเงินที่เราต้องการ เพียงแค่นั้นก็ทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ
สุดท้ายแล้ว ผมมองว่าการวางแผนจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ดีผ่านการลดหย่อนภาษีนั้น เราควรถามวัตถุประสงค์ของการใช้ชีวิตก่อนว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ หลังจากนั้นค่อยแนะนำไล่เรียงไปตามความสำคัญของสิ่งที่เราต้องการ แล้วค่อยมองหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยเราได้อีกทอดหนึ่งครับ
เพราะไม่ว่าเราจะเลือกรายการลดหย่อนภาษีแบบไหน มันก็สามารถช่วยลดภาษีได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างมันคือสินทรัพย์และเป้าหมายการเงินที่เราได้รับนอกเหนือจากการลดหย่อนภาษีมากกว่าครับ
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms