“ พี่ครับ ถ้าผมขายของออนไลน์ อยากเริ่มต้นเสียภาษีให้ถูกต้อง ควรเริ่มยังไงดีครับ”
คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมได้รับบ่อย ๆ หลังจากที่ทำคลิปพูดคุยประเด็นฮอตฮิตในช่วงปลายปีที่ผ่านมาอย่าง แพลตฟอร์มส่งข้อมูลให้สรรพากร ทำให้หลายคนเริ่มตื่นเต้นและรู้สึกว่าต้องเตรียมตัวทำอะไรสักอย่าง เพื่อรับมือเรื่องต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้น
เมื่อได้รับคำถามแบบนี้ สิ่งแรกที่ผมอยากให้เริ่มต้น คือ “การจัดการข้อมูลรายได้” ครับ หรือพูดง่าย ๆ ว่า รู้จำนวนรายได้ของตัวเองเสียก่อน ตั้งแต่แยกให้ชัดว่า รายได้ที่ได้รับจากช่องทางออนไลน์มาจากทางช่องทางไหนบ้าง และแต่ละช่องทางมีจำนวนเท่าไร เพื่อให้ตัวเองรู้ก่อนที่จะไปคำนวณภาษี
ผมคงจำเป็นต้องย้ำให้ชัดอีกเสียทีว่า ถ้าหากอยากเริ่มต้นอย่างถูกต้องอย่างคำถามที่ว่ามาจริง ๆ เราต้องเริ่มจากความคิดที่จะหาจำนวนรายได้ที่ถูกต้องเสียก่อน เพื่อให้เราไปต่อในการคำนวณและจัดการภาษีได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ เพราะจำนวนรายได้ที่ว่ามานี้ สำคัญมาก ๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็น การคำนวณภาษีเงินได้ และ การเตรียมตัวจัดการภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงการคำนวณหากำไรของธุรกิจที่เราทำ
โอเคครับ สมมติว่าจัดการหาจำนวนรายได้ที่ว่ามาอย่างที่ผมแนะนำได้จริง ๆ ก็มาต่อกันที่เรื่องภาษีกันเลยดีกว่าครับ โดยเริ่มจาก ภาษีเงินได้กันก่อนเลย
ภาษีเงินได้ขึ้นอยู่กับ “รูปแบบ”
สำหรับ “ ภาษีเงินได้ ” นั้น จะขึ้นอยู่กับ “รูปแบบ” ของธุรกิจที่เราทำครับ หากธุรกิจขายของออนไลน์ของเราเป็น “บุคคลธรรมดา” ก็จะเป็น “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ส่วนถ้าเป็น “นิติบุคคล” (จดบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) ก็จะเป็น “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” นั่นเองครับ
สำหรับบทความนี้จะเน้นในส่วนของบุคคลธรรมดา (ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล) ที่เกี่ยวข้องกับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ก่อนนะครับ หลังจากที่เรารู้ว่า “รายได้” ของเราเท่าไร สิ่งที่เราต้องทำต่อไป คือ เข้าใจวิธีการคำนวณภาษีครับ
ต้องบอกว่าการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความซับซ้อนประมาณหนึ่งครับแต่หลัก ๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับ “รายได้” หรือเงินได้ที่เรามีนี่แหละครับ โดยแบ่งเป็นสองวิธีตามนี้ นั่นคือ
- วิธีแรก คำนวณจากเงินได้สุทธิ หรือ (เงินได้ — ค่าใช้จ่าย — ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
- วิธีที่สอง คำนวณจากเงินได้พึงประเมิน โดยนำ เงินได้ x 0.5 %
โดยทั้งสองวิธีเมื่อคำนวณแล้ว เราจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากวิธีที่คำนวณได้มากกว่า แต่เราจะใช้วิธีที่สองในการคำนวณภาษีมาเปรียบเทียบกับวิธีแรกเมื่อมีรายได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี
หรือถ้าจะให้พูดแบบสรุปสุด ๆ การเข้าใจวิธี “เงินได้สุทธิ” น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะมักจะใช้เป็นวิธีหลักในการคำนวณภาษี ถ้าหากใครสนใจเรื่องนี้แบบละเอียด สามารถดูคลิปเพิ่มเติมได้ที่ คลิปเดียวจบ ! วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | ศึก 12 ภาษี EP.1 ครับ
โดยจุดสำคัญของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อเรารู้ข้อมูลรายได้ของเราแล้ว สิ่งที่เราต้องมาวางแผนต่อ จะมีดังนี้ครับ
- การหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ควรเลือกแบบไหนดี ระหว่าง หักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตรา 60% (กรณีซื้อมาขายไป หรือเข้าเกณฑ์ที่สามารถใช้สิทธิ์หักในอัตราเหมาตามที่กฎหมายกำหนด) กับ เลือกหักค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษี (ตามเอกสารหลักฐานที่่เรามีและเกี่ยวข้องกับรายได้)
- การวางแผนลดหย่อนภาษี (รายการค่าลดหย่อน) อะไรได้บ้าง สำหรับ รายการลดหย่อนภาษีที่เกิดขึ้นในแต่ละปี และแนวทางการจัดการภาษีที่เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของเรา
ถ้าหากเป็นไปได้ ผมแนะนำเพิ่มเติมให้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่ถูกต้องประกอบด้วยนะครับ เพื่อให้รู้ว่ากำไรที่แท้จริงของธุรกิจเป็นเท่าไรครับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่าลืมจดให้ถูกต้อง และต้องเช็คเรื่องการตั้งราคาขาย
นอกจากเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว เราจำเป็นต้องรู้จัก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยครับ ซึ่งหลักการของภาษีตัวนี้จะอยู่ที่ กิจการที่เราทำ นั่นคือ ถ้าปีไหนเราเริ่มมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทและไม่ได้ประกอบธุรกิจที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เราต้องรีบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภายใน 30 วัน) ไม่อย่างนั้นจะถือว่ามีความผิดได้ครับ
โดยคำว่า รายได้ที่ว่านี้ หมายถึงรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายนะครับ และภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นไม่เกี่ยวกับ “รูปแบบ” ของธุรกิจ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากทำธุรกิจที่ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วล่ะก็ เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทในปีไหน ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องทันทีครับ
สำหรับธุรกิจที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่ มาตรา 81 แห่งประมวลรัษฏากร จะมีบอกไว้ครับว่าธุรกิจอะไรบ้างได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มบ้าง
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันอยู่ที่ 7% ดังนั้นสิ่งที่คนขายของออนไลน์ต้องรู้จริง ๆ คือ การแข่งขันด้านราคา เพราะถ้าหากเราจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาจริง ๆ เราจะบวกราคาขายเพิ่มไปอีก 7% เพื่อผลักภาระภาษีตัวนี้ให้กับลูกค้าได้หรือเปล่า เพราะถ้าหากเราบวกไม่ได้ ก็แปลว่ารายได้ของเราจะลดลงไปอีก 7% นั่นเองครับ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลิปนี้ครับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คืออะไร ใครต้องจ่าย ใครต้องจด จดแล้วต้องทำอะไรบ้าง? | ศึก 12 ภาษี EP.6
บทสรุป
สำหรับคนที่ตั้งคำถามว่า ขายของออนไลน์ เสียภาษีให้ถูกต้อง เริ่มต้นยังไงดี มาถึงตรงนี้คำตอบที่ผมมีให้ก่อนจากกันก็คือ ทำความเข้าใจภาษี 2 ตัวนี้ให้ดี ทั้ง ภาษีเงินได้ และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่สิ่งที่ต้องเริ่มจริง ๆ คือ การรู้ข้อมูลรายได้ที่ถูกต้องของตัวเอง เพราะถ้าหากไม่รู้รายได้แล้ว ก็ไม่สามารถคำนวณภาษีทั้งสองประเภทนี้ได้อย่างถูกต้องเช่นเดียวกันครับ...ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังอีกที แต่สำหรับบทความตอนนี้คงต้องลากันไปก่อนครับผม