Bangkok Green Link "กรุงเทพฯ สีเขียว" ควรเขียวแค่ไหน? เริ่มได้ตั้งแต่ "สวนดาดฟ้า" ถึงสวนข้างบ้าน Pocket Park
"กรุงเทพฯ" เป็นเมืองที่เกิดการพัฒนามาโดยตลอด เราจะหยุดการโตของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ทุกครั้งของการโตก็จะมีสิ่งที่หายไปด้วย ซึ่งก็คือ "พื้นที่สีเขียว" โดยเป็นเหมือนสิ่งที่เราต้องเลือก ทั้งที่ในความจริงหลายคนอาจมีคำถามว่า "ไม่เลือกได้ไหม"?
"กรุงเทพฯ" เป็นเมืองที่เกิดการพัฒนามาโดยตลอด เราจะหยุดการโตของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ทุกครั้งของการโตก็จะมีสิ่งที่หายไปด้วย ซึ่งก็คือ "พื้นที่สีเขียว" โดยเป็นเหมือนสิ่งที่เราต้องเลือก ทั้งที่ในความจริงหลายคนอาจมีคำถามว่า "ไม่เลือกได้ไหม"?
นี่คือสิ่งที่ ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ “we!park” และภูมิสถาปนิกและผู้บริหารบริษัท ฉมา จำกัด แสดงมุมมองในเวทีเสวนาหัวข้อ BANGKOK GREEN LINK ในงาน Sustainability Expo 2022 เพื่อร่วมแชร์มุมมองและมองหาทางออกร่วมกันว่า พื้นที่สีเขียวในเมืองของเราควรเป็นแบบไหน และจะเป็นได้จริงหรือไม่
"คำว่าสวนในกรุงเทพฯ มันดูเป็นเหมือนความฝันของชนชั้นกลาง ที่จะมีพื้นที่ปิคนิค พื้นที่วิ่งเล่นได้ แต่จริงๆ นี่คือปัญหาของสังคมโดยรวมเลย มันคือเรื่องของอากาศที่เราหายใจ มลพิษ ความร้อน น้ำท่วม เพราะมันคือการสูญเสียธรรมชาติที่หายไป" ยศพล กล่าว
แต่ก่อนจะคุยกันเรื่องการปลุกต้นไม้เพิ่ม การทำสวนสาธารณะเพิ่ม คงต้องเริ่มที่การตีความหมายกันก่อนเลยว่า "พื้นที่สีเขียว" คืออะไร และคำว่า "กรุงเทพฯ สีเขียวนั้นควรจะเขียวแค่ไหน"
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) กล่าวว่า พื้นที่สีเขียวไม่ใช่แค่ต้นไม้ของบ้านคนอื่นที่ช่วยให้เราสบายตา ไม่ใช่ต้นไม้ที่ปลูกตามเกาะกลางถนน แต่ต้องเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่มีการทำกิจกรรมได้ คนทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น นั่นถึงจะเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใช้เป็นตัวชี้วัดตามมาตรฐานเมืองที่ดี
คำว่า "กรุงเทพฯ สีเขียวนั้นควรจะเขียวแค่ไหน" ถ้าตามมาตรฐานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ต้องบอกว่า มาตรฐานพื้นที่สีเขียวที่ดีควรจะอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน
แต่หากจะถามว่า "กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอหรือไม่" ก็ต้องบอกว่ายังไม่พอ เพราะทุกวันนี้เราไม่สามารถออกจากบ้านแล้วเดินผ่านหรือไปเจอพื้นที่สีเขียวได้เอง แต่ต้องตั้งใจและเตรียมตัวออกไปหา เช่น การต้องขับรถหรือนั่งรถเมล์ไปสวนรถไฟในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียงประมาณ 7.6 ตารางเมตร/คน ซึ่งน้อยกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับลอนดอน ซึ่งอยู่ที่ 18.9 ตารางเมตร/คน แต่ตัวเลขนี้คำนวณแค่ "คนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น" ยังไม่นับรวมคนต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียน มาอาศัย มางานในกรุงเทพฯ ดังนั้น ถ้าเทียบจำนวนคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ จริงๆ จำนวนพื้นที่สีเขียวต่อคนก็น่าจะน้อยลงยิ่งกว่านี้อีก
แต่คำว่าพื้นที่สีเขียวนั้นมีการตีความหลายแบบ หากรวมพื้นที่สีเขียวอื่นๆ มาเติมเต็มด้วย เช่น เขียวตามแบบผังเมืองรวม เขียวตามข้อกำหนดกฎหมาย กทม.เราจะได้เพิ่มมาอีกนิดเป็น 8.9 ตร.ม. แม้จะยังน้อยเมื่อเทียบกับปารีสที่ 13 ตร.ม./คนก็ตาม ทางออกจึงต้องเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ แต่ก็ตามมาด้วยคำถามทันทีว่า "จะไปเอามาจากที่ไหน ใครจะยกพื้นที่ที่เป็นเงินเป็นทองให้มาปลูกต้นไม้"?
รอง ผอ. UDDC กล่าวว่า ในทางปฏิบัติจริง เราสามารถเติมเต็มพื้นที่สีเขียวให้เมืองอย่างง่ายๆ ก็ได้เช่น สวนบนหลังคา สวนในกระถาง ซึ่งเป็นแนวคิดที่คนเมืองกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น แต่การจะเพิ่มพื้นที่แบบจริงจังก็ต้องใช้ "พื้นที่ที่มีศักยภาพ" เราต้องปรับปรุงพื้นที่สีเขียวอื่นๆ เช่น ที่ราชการซึ่งกระจายตัวไปเยอะมาก พื้นที่วัด พื้นที่สนามกอล์ฟ หรือพื้นที่ทหาร จะมีส่วนที่สามารถเปิดเป็นพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นให้ได้ไหม ในบางประเทศอาจมีกฎหมายเรื่องพื้นที่สีเขียวที่เข้มงวด เช่น จีน ที่มีประกาศห้ามใช้พื้นที่สนามกอล์ฟในเมือง
จากการสำรวจ Data ช่วยวิเคราะห์ได้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ยังมี "พื้นที่ว่างที่มีศักยภาพ" ที่สามารถช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะเป็น "ต้นทุนคุณภาพชีวิตที่ดี" ให้คนกรุงได้ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน/แนวถนน 25,000 ไร่, พื้นที่สวนหลังคา 20,000 ไร่, พื้นที่ทหาร 12,000 ไร่ พื้นที่ราชการ/ศาสนสถาน 9,500 ไร่, และพื้นที่สนามกอล์ฟอีก 7,600 ไร่
ยศพล บุญสม จาก “we!park” มองว่า ปัญหาที่เรายังมีพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ไม่พอ ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า เราไม่ได้มองพื้นที่สีเขียวเป็นความจำเป็นในระดับ "โครงสร้างพื้นฐาน" (Infrastructure) ทำให้มันไม่ได้ถูกลงทุน และไม่ได้ถูกวางแพลนของเมืองมาตั้งแต่ต้น ไม่เหมือนกับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสาธารณูปโภค เช่น ถนน หรือสะพาน และทำให้เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) ที่เพียงพอ เราจึงควรต้องปรับมุมมองใหม่ให้พื้นที่สีเขียวเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นในสังคมของเรา
อย่างไรก็ดี การเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็ไม่ได้หมายถึงการต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่หลายสิบไร่เสมอไป เราสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ด้วย "กลยุทธ์ Pocket Park" หรือพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก เพราะสิ่งสำคัญนอกจากปริมาณแล้ว "การกระจายตัว" ของพื้นที่สีเขียวในเมืองยังเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรอยู่ในระยะที่สามารถเดินถึงได้ 400 - 500 เมตร (ประมาณ 10 นาที)
ดังนั้น แทนที่จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง เราสามารถใช้กลยุทธ์ Pocket Park สู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กจำนวนมาก แทรกเข้าไปในเมืองอย่างเท่าเทียม เข้าถึงง่าย และทั่วถึงแทน
สวนขนาดเล็กที่ว่านี้จะมีขนาดพื้นที่กะทัดรัดกว่าประเภทสวนตามนิยามพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร ที่ขั้นต่ำคือระดับ สวนชุมชน มีพื้นที่น้อยกว่า 25 ไร่ แต่สวนหย่อมขนาดเล็ก (pocket park) ใช้พื้นที่ไม่ถึง 2 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน ทางกลุ่ม We Park และเครือข่ายพันธมิตรได้ร่วมกันทำให้เกิดสวนขนาดเล็กสำหรับชุมชนต่างๆ ไปแล้ว หลายแห่ง อาทิ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ - สวนข้างบ้านของชุมชนหลังวัดหัวลำโพง คนสามย่าน-สุรวงศ์, สวนชุมชนโชฎึก - ย่านตลาดน้อย, และสวนสานธารณะ - เขตคลองสาน
การมีพื้นที่สีเขียวไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลเกินเอื้อมอีกแล้วในยุคใหม่ที่ใครๆ ก็มีสวนระเบียง-ดาดฟ้า ของตัวเองได้ เป็นสวนแนวตั้งที่ไม่ต้องรอฝันถึงพื้นที่บ้านเดี่ยวแบบมีที่ดินไว้ปลูกต้นไม้อีกต่อไป
ปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Bangkok Rooftop Farming กล่าวว่า ก่อนจะเป็นสวนดาดฟ้าที่มีเครือข่ายทั่วกรุงเทพฯ ในวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนและร้านค้าเอสเอ็มอีรายเล็กๆ เพื่อช่วยหาทางออกในการกำจัดขยะเศษอาหาร (Food Waste) จนปัจจุบันสามารถจัดการเศษอาหารเหลือทิ้งจากห้างได้ 240 กิโลกรัม/เดือน และช่วยลดการปล่อนคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ได้ถึง 18 ตัน
และจากการกำจัดขยะเศษอาหารนี่เอง ที่ทำให้เกิดการคิดต่อยอดว่าเศษอาหารจะนำไปเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร จนกลายไปสู่การคิดโมเดลธุรกิจเพิ่มมูลค่าด้วยการทำฟาร์มผักบนสวนดาดฟ้า
ใครจะคิดว่าพื้นที่ 200 ตร.ม.บนดาดฟ้า จะทำให้เราสามารถปลูกผักได้ 240 กิโลกรัม/เดือน และสิ่งที่สองที่เราได้ตามมาก็คือปุ๋ยหมัก
ปีที่แล้วทางกลุ่มสามารถทำฟาร์มดาดฟ้าได้ 19 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราสามารถจัดการ food waste ได้ 220 ตัน ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตปริ้นท์ได้ 180 ตัน
Big Trees Project
รักษาลมหายใจของต้นไม้ใหญ่
อนันตา อินทรอักษร ผู้ร่วมก่อตั้ง Big Trees Project ร่วมถ่ายทอดมุมมองของการรักษา "ต้นไม้ใหญ่" ทั้งในเมืองกรุงและเครือข่ายเล็กๆ ที่กระจายทั่วประเทศว่า เป็นการรวมตัวกันของคนจากหลากหลายอาชีพที่หลายคนไม่ได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมหรืออนุรักษ์ธรรมชาติ แต่เพราะมีใจที่ต้องการช่วยรักษาธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นไม้ต้นใหญ่ที่เริ่มลดน้อยลง จึงนำไปสู่การรวมตัวและผสานความร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ และปลูกความเข้าใจให้ผู้คน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนให้กับเมืองและพื้นที่อื่นๆ
เพราะบิ๊กทรี ไม่ใช่เรื่องของต้นไม้ใหญ่ แต่เป็น "เรื่องใหญ่ของต้นไม้"
เมื่อพื้นที่สีเขียวในฝันไม่ใช่แค่การปลูกหรือรดน้ำพรวนดินสม่ำเสมอเท่านั้น เพราะสิ่งที่ต้นไม้ในเมืองต้องการ คือ การดูแลอย่างถูกต้องบนพื้นฐานของความเข้าใจ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราทุกคนต้องเป็นผู้เป็นพิทักษ์เหล่าต้นไม้ใหญ่ให้เติบโตไปพร้อมกับเมือง บิ๊กทรีไม่ได้ปลูกต้นไม้ แต่กำลังปลูกความเข้าใจให้ผู้คน เพื่อการมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนให้กับเมือง
จากจุดเริ่มต้นที่ความพยายามรักษาต้นไม้ใหญ่ในย่านใจกลางเมือง สุขุมวิท 35 ไม่ให้ถูกตัดออกไปท่ามกลางการเติบโตของเมือง วันนี้ ทางกลุ่มมีการขยายตัวและมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์รณรงค์ต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจ เพื่อดูแล 60 สวนสาธารณะในเมืองไทย ปลุกปั้นโรงเรียนต้นไม้เพื่อสร้างนักดูแลต้นไม้ใหญ่ ที่บางคนอาจเรียกว่า "หมอต้นไม้" หรือชื่อจริงๆ ว่า "รุกขกร" (Arborist) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญและเป็นเสียงที่พูดแทนเหล่าต้นไม้ เพื่อปกป้องปอดของกรุงเทพฯ ผ่านโครงการต่างๆ
"เพราะเวลาที่ดีที่สุดในการปลูกต้นไม้คือ 20 ปีที่แล้ว แต่เวลาที่ดีที่สุดครั้งใหม่ คือ 'ตอนนี้'"
ถ้าเราเริ่มปลูกต้นไม้กันตั้งแต่ตอนนี้ เราจะกลายเป็นช่วงเวลาที่ดีสุดของพื้นที่สีเขียวในอนาคตของลูกหลานได้เช่นกัน