หากเราเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้า ‘Siam Discovery’ หนึ่งในห้างที่ชิคที่สุดของเครือสยามพิวรรธน์ เมื่อเราเดินขึ้นบันไดเลื่อนไปถึงชั้น 3 เราก็จะได้พบกับความเชียวชะอุ่มของ ‘Ecotopia’ และสินค้านับแสนรายการ ที่ผลิตขึ้นโดยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อโลก หรือทำให้พฤติกรรมของเราดีต่อโลกมากยิ่งขึ้น สินค้าทุกชิ้น ณ ที่แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นมาโดยคำนึงถึง ‘ความยั่งยืน’ จนติดอันดับ 1 ใน 20 ร้านค้าปลีกที่เยี่ยมยอดสุดในเอเชีย (Asia’s 20 Coolest Retailers) จาก Inside Retail
Spotlight ได้เชิญชวน ‘คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์’ ประธานบริหารสายงานปฎิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ ‘คุณอุสรา ยงปิยะกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด พูดคุยถึงสิ่งที่สยามพิวรรธน์มองเห็น และมุ่งเป้าสู่ความยั่งยืนก่อนใคร ในวันที่คำว่า ‘Sustainability’ ยังไม่ได้เป็นกระแสด้วยซ้ำ
Ecotopia ถือกำเนิดมาตั้งแต่กระแส Sustainability ยังไม่บูมเสียอีก!
Ecotopia เริ่มจากการเป็นร้านเล็กๆ โดย Ecotopia นับเป็นหนึ่งแพลตฟอร์มด้านความยั่งยืน ซึ่งสยามพิวรรธน์ทำด้านความยั่งยืนมาหลายแพลตฟอร์มมาก แต่ในด้านการจัดการขยะ สยามพิวรรธน์นับเป็นศูนย์การค้าแรกที่ทำกระบวนการจัดการขยะแบบ ‘Drive-Thru’ หมายความว่า ผู้ใช้งานศูนย์การค้าสามารถนำขยะส่งมาให้สยามพิวรรธน์คัดแยกให้ได้
นอกจากนี้ ยังเริ่มกระบวนการด้าน Eco มาตั้งแต่สยามพิวรรธน์ครบรอบ 60 ปี โดยการปลูกต้นไม้ในโครงการต่างๆ เอง ทำดินเอง หรือกากจากเมล็ดกาแฟที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจากร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ห้างสรรพสินค้าของสยามพิวรรธน์ ก็จะถูกนำมาผลิตเป็นปุ๋ยแล้วมาวางจำหน่ายที่ Ecotopia การทำธุรกิจค้าปลีก ในมุมหนึ่งนับว่าเป็นผู้ผลิตขยะรายใหญ่ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็นับว่าเป็นผู้บริหารจัดการขยะรายใหญ่ ซึ่งสามารถดูแลขยะที่เกิดขึ้นภายในศูนย์การค้าได้ทั้งหมดเช่นกัน
สยามพิวรรธน์ไม่ได้ทำด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังใช้สถานที่ที่มี ดึงดูดคนอื่นๆ ให้มาทำด้วยกัน ทั้งให้คนมาทำความรู้จัก และให้ความรู้คน เพราะเมื่อคนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้
แล้ว Ecotopia เห็นคนรักษ์โลกเยอะขึ้นมั้ย?
คนรักษ์โลกในช่วงหลายปีมานี้มีจำนวนเยอะขึ้นมาก Ecotopia เป็นผู้นำเรื่องความยั่งยืนมานาน ตั้งแต่คนยั่งไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ เท่าที่เห็น 2-3 ปีหลัง เด็กรุ่นใหม่ มี Awareness เรื่องนี้มากกว่าคนใน Gen X เพราะคน Gen X อาจคุ้นชินกับพฤติกรรมเดิมๆ ที่เป็นมา แต่เด็กรุ่นใหม่มองไปข้างหน้า และมีความคิดที่ว่า โลกของเขามีอยู่ใบเดียว จะรักษาอย่างไรให้ยั่งยืน?
เด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำกิจกรรมกับ Ecotopia เยอะมาก แล้ว Co-creator ของเราก็ล้วนเป็นเด็กรุ่นใหม่เช่นกัน อย่าง Environman ที่มีผู้ติดตามนับแสนคน ก็จัดกิจกรรมกับเราบ่อย เพราะรู้สึกว่าเราเอาจริง และเราก็มีแพลตฟอร์มที่สามารถเข้ามาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ จึงเกิดเป็นกระแสกับคนรุ่นใหม่ แล้วเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ชวนพ่อแม่มา ความรู้ความเข้าใจจึงค่อยๆ ขยายไปสู่คนรุ่นที่โตกว่าต่อไป
สยามพิวรรธน์เอง ลงมือทำอะไร เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน?
สิ่งที่สยามพิวรรธน์ใช้มาโดยตลอดคือการทำ Shared value ให้ทุก Stakeholder ได้ประโยชน์ ประสานประโยชน์ธุรกิจไปด้วยกัน ทั้งชุมชน สังคม เศรษฐกิจ / ยกตัวอย่างเช่น ไอคอนสยาม พท. สุขสยาม เชิญชวนผู้ประกอบการขนาดเล็ก ทำธุรกิจร่วมกันกับเรา หรือ การทำ Zero Waste เป็นองค์กรมุ่งมั่น ทำให้ขยะเป็น 0
การให้ขยะเป็น 0 ไม่ได้แปลว่าไม่ใช้ขยะ แต่ใช้ขยะอย่างไรให้ฉลาด เริ่มจากการคัดแยกขยะให้ถูกต้อง ซึ่งจะผลให้การนำไปรีไซเคิล, Upcycling, หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น แม้ขยะกำพร้า (ขยะที่ไม่ได้ผ่านการคัดแยก และไม่คุ้มค่าที่จะนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล) ก็จะถูกนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงต่อได้ มีกระบวนการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ นำขยะทุกชิ้นกลับมาสร้างประโยชน์อีกครั้ง นี่เป็นกระบวนการต้นน้ำ
ส่วนกลางน้ำ เราก็เริ่มให้ความรู้ เรามีพาร์ทเนอร์ที่จะสามารถนำวัสดุที่คัดแยกมา ไปทำธุรกิจต่อได้ พอไปถึงปลายทาง (เป็นสินค้า Upcycling เรียบร้อยแล้ว) ก็จะกลับมาสู่ Ecotopia
สยามพิวรรธน์อำนวยความสะดวกในการให้พื้นที่ ให้คนรักโลกมาทำกิจกรรมร่วมกัน มาให้ความรู้ มี Co-creator จากในวงการ มาช่วยดีไซน์
หน้าที่ของสยามพิวรรธน์คือ จะทำยังไงให้เราสามารถนำสิ่งที่เป็นปรัชญาของเรา ให้กลายมาเป็นต้นแบบของความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ จึงเกิดเป็นคอนเซปต์ของ ‘Ecotopia’ เป็นสโตร์ซึ่งเป็น ‘ต้นน้ำของปลายน้ำ’ คนอาจจะนึกไม่ถึงว่า ใช้ชีวิตแบบยั่งยืน ไม่ใช่แค่การซื้อสินค้า แต่ต้องเริ่มตั้งแต่การปรับความคิด แล้วต่อยอดสู่การผลิต จนกลายเป็นสินค้าให้กับผู้บริโภค
Ecotopia เป็นเวที เป็นแพลตฟอร์ม ให้ทุกคนนำสินค้ารักษ์โลก นำเสนอให้กับผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่เพียงจัดจำหน่ายสินค้า แต่ยังต้องทำหน้าที่ในการให้ความรู้กับผู้บริโภค จัดกิจกรรม Workshop ต่างๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยพาร์ทเนอร์ของเราที่เรียกว่า Co-creator ไม่ว่าจะเป็นกูรูด้านสิ่งแวดล้อม ดีไซน์ เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิต
สิ่ง Ecotopia อยากปลูกไว้ในใจของคน หลังจบงาน SX2022
แพลตฟอร์มที่ Ecotopia นำเสนอในงาน Sustainability Expo 2022 ที่ผ่านมา ก็จัดว่าเป็นการพูดถึงความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม และจับต้องได้อย่างแท้จริง
บูธ Ecotopia ในงาน SX 2022 ซึ่งมีลักษณะเด่นคือเป็นขั้นบันไดสีเขียว ตั้งตระหง่านอยู่กลาง Grand Planeray hall นั้น วัสดุที่นำมาจัดสร้างทุกชิ้น ไม้ทุกแผ่น ป้าย จอ ไฟ หรือแม้แต่สีที่ใช้ก็เกิดจากการรีไซเคิล หรือสามารถนำไปใช้ซ้ำได้หลังจบงาน ไม่เกิดเป็นขยะแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
คุณนราทิพย์กล่าว่า ความยั่งยืนเดินทางไปพร้อมกับยุคสมัยได้ (แถมยังยกตัวอย่างถึงคุณอุสรา ที่เป็นคนทันสมัย แต่ก็ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน สีย้อมผมที่ใช้ยังเป็นสีออแกนิกจากธรรมชาติ!) และเดินทางไปพร้อมกับการทำธุรกิจได้
ไม่ใช่อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดว่า ชีวิตที่ยั่งยืนต้องอยู่อย่างยากลำบาก แต่ใช้อย่างชาญฉลาด ของที่ใช้ครั้งเดียว นำกลับมาใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิล หรือแม้แต่นำไป Upcycling เพิ่มคุณค่าให้กับของเหล่านั้นได้มั้ย?
พอเราเริ่มทำ Ecotopia ก็จะเห็นว่า เราเริ่มมีกลุ่มคนที่รักษ์โลกเข้ามาเยี่ยมชม เริ่มเกิดไอเดียว่า นี่คือสินค้าที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
นอกจากการนำเสนอความยั่งยืนผ่านทางสินค้าแล้ว เราก็จะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ที่ Ecotopia เรามีบริการรีฟิล เพื่อให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้ิอน้ำยาซักผ้า น้ำยาสระผมขวดใหม่ตลอด
คุณสามารถใช้ชีวิตได้แบบปกติ แต่แชมพูสระผมที่เราใช้ จะทำยังไงถึงไม่ทำให้น้ำเสีย หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดเครื่องสำอางบนใบหน้า ก็ล้วนก่อให้เกิดขยะทั้งนั้น เราจะทำยังไงไม่ให้ขยะที่เกิดขึ้น สร้างอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม?
ตัวคุณอุสราเองใช้ทั้งสีย้อมผม และน้ำยาทาเล็บที่เป็นออร์แกนิก ฝั่งของสยามพิวรรธน์เองก็คำนึงถึงความยั่งยืนในมิติของสุขภาพเช่นกัน เพราะถ้าเรามีสุขภาพที่ดี ใช้ผลิตภัณฑ์ปราศจากสารเคมีสังเคราะห์ต่างๆ ในแต่ละวัน ก็ย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
เช่นเดียวกับในมิติของเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้าแบบไหนที่เรียกว่ายั่งยืน? ตัวคุณนราทิพย์เองแต่งกายด้วยผ้าไทย ของคนไทย เพื่อส่งเสริมชุมชน หรือถ้าอยากตามเทรนด์แฟชั่น ก็ต้องไม่ใช่ Fast Fashion นำเสื้อผ้ากลับมาใช้ซ้ำ ทำใหม่
“เราไม่ได้ต้องเปลี่ยนชีวิต เพียงแต่ปรับพฤติกรรม เราก็จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ หรือส่งต่อไปยังลูกหลานของเราได้”