Recap ปีนี้, Goals ปีหน้า, ปีหน้าจะ… เป็นประโยคยอดฮิตช่วงปลายปีของคนไทยหลายคนในช่วงปลายปีนี้ ช่วงเวลาแห่งการทบทวนสิ่งที่ผ่านพ้น พร้อมกับการวาง “New Year Resolutions” หรือเป้าหมายใหม่สำหรับปีถัดไป ซึ่งกลายเป็นประเพณีที่หลายคนยึดถือเพื่อสร้างแรงผลักดันสำหรับปีถัดไป แต่ในสภาวะที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคม ความกังวลใจสะสมกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเริ่มมองหาความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น
โดยข้อมูลจาก Kantar Thailand 2024 market brief ระบุว่า คนไทย ให้ความสำคัญกับ เรื่องการมีสติ (Mindfulness) และการพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance) มากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งโลก ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการสร้างความแข็งแกร่งทางใจเพื่อรับมือกับปีที่ยากลำบากข้างหน้า
ขณะเดียวกันผลสำรวจจาก Ipsos พบว่า 78% ของผู้ใหญ่จาก 31 ประเทศเชื่อว่าสุขภาพจิตมีความสำคัญเทียบเท่ากับสุขภาพกาย และปัจจุบันสุขภาพจิตถือเป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของโลกแซงหน้าโรคร้ายอย่างมะเร็ง ซึ่งบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่ผู้คนเริ่มมองเห็น “ความยั่งยืนทางใจ” เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง
คำถามที่น่าสนใจคือ:
• ปีใหม่นี้เราจะดูแลใจตัวเองอย่างไรให้พร้อมรับมือกับความท้าทายข้างหน้า?
• ในปีใหม่นี้ แบรนด์ต่างๆ จะช่วยดูแล “ใจ” ของผู้คนได้อย่างไร? และจะสื่อสารคุณค่าเหล่านี้อย่างไรให้มีความหมายในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างมองหาแรงบันดาลใจและความมั่นคงทางใจ?
บทความนี้จะพาไปสำรวจ 3 แนวทางสำคัญ ที่แบรนด์สามารถใช้ในการสร้าง “ความยั่งยืนทางใจ” เพื่อช่วยให้ผู้คนเริ่มต้นปีด้วยความมั่นคงและพร้อมรับมือกับความท้าทายอย่างยั่งยืน
“ความยั่งยืนทางใจ” คือแนวคิดที่เน้นการดูแลจิตใจให้สมดุล แข็งแรง และสามารถฟื้นฟูได้ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงการจัดการความเครียดเฉพาะหน้า แต่คือการสร้าง ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience) เพื่อให้ผู้คนสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด และเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงเพราะสุขภาพจิตที่แข็งแรงคือรากฐานของชีวิตที่สมดุลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่สำหรับตัวบุคคล แต่ยังรวมถึงสังคมโดยรวม
• จากการศึกษาของ Deloitte ในปี 2023 พบว่า 66% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่แสดงจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิต ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี 2021
• รายงาน Edelman Trust Barometer ประจำปี 2024 เปิดเผยว่า 73% ของผู้บริโภคคาดหวังให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงประเด็นสุขภาพจิต ผ่านการตลาดและการดำเนินงานของแบรนด์
• การสำรวจโดย National Alliance on Mental Illness (NAMI) พบว่า 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อแบรนด์ที่สนับสนุนโครงการเกี่ยวกับสุขภาพจิตอย่างเปิดเผย
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “การใส่ใจสุขภาพจิตไม่ได้เป็นเพียงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ยังเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างความไว้วางใจและความจงรักภักดีจากผู้บริโภค”
เมื่อผสานแนวคิดความยั่งยืนทางใจเข้ากับบทบาทของแบรนด์ในช่วงสภาวะที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในปีหน้า การสร้างพื้นที่ในการดูแลจิตใจ สนับสนุนความยืดหยุ่นทางใจ และสื่อสารข้อความที่มีความหมาย จะทำให้แบรนด์สามารถสร้างคุณค่าที่มากกว่าแค่การขายสินค้า แต่คือการเป็น “พลังสนับสนุนทางใจ” ให้ผู้คนพร้อมรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึง
การตั้งเป้าหมายใหม่มักมาพร้อมกับแรงกดดัน แต่การรู้จัก “หยุดพัก” อย่างมีคุณค่า คือกุญแจสำคัญในการสร้างพลังใจให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
“Pause is a Power” แคมเปญจาก โอกิลวี่ นิวยอร์ก และ Powerade (แบรนด์เครื่องดื่มเกลือแร่) มีเป้าหมายในการต่อต้านค่านิยมและวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในวงการกีฬา กับแนวคิดของการ "ชนะให้ได้ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไร" ที่ถูกพูดผ่านแบรนด์กีฬาและเครื่องดื่มชูกำลังในตลาดกลายเป็นบรรทัดฐานและสิ่งที่ต้องทำของนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งบั่นท่อนสุขภาพจิต สร้างความเครียดและแรงกดดันมหาศาลให้กับนักกีฬาจำนวนมาก โดย Powerade ด้วยการสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางจิตใจและร่างกายของนักกีฬา ด้วยการหล่อหลอมค่านิยมใหม่ เพื่อให้คนเห็นอีกด้านของชัยชนะ ที่ไม่ใช่แค่ ผลักดันกดดัน หรือ บังคับลิมิตตัวเองจนกว่าจะทำได้ แต่คือการ หยุดพักเพื่อชาร์ตพลัง ผ่อนคลาย เพื่อสร้างพลังให้เรากลับมาแข็งแกร่งมากกว่าเดิม
โดย Powerade ได้ต่อยอดจากแคมเปญในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 ในปารีส กับยิมนาสติกชื่อดังอย่าง Simone Biles ให้เข้มข้นมากกว่าเดิมด้วยการประกาศเปิดตัว “The Athletes Code” ข้อกำหนดการแก้ไขเพิ่มเติมในสัญญาเพื่อปกป้องสิทธิ์ของนักกีฬาในการหยุดพักโดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญเสียการสนับสนุน ผลักดันให้การหยุดพักสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในปีที่ผ่านมาแพลตฟอร์ม Pause is Power จาก Powerade ได้สร้างการรับรู้เข้าถึงคนกว่าสองพันล้านคน และทำให้คนเข้าใกล้ความยั่งยืนทางใจมากขึ้น ผ่านแนวคิด การหยุดพักคือพลังที่ทำให้เรากลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม และสามารถก้าวเดินต่อได้อย่างมั่นคง
ผลสำรวจจาก National Alliance on Mental Illness (NAMI) ระบุว่า การมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นสามารถลด ความโดดเดี่ยวทางใจ และช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาว ซึ่งความสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวและคนใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทางจิตใจอย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะเป็นแหล่งพลังใจ ที่สำคัญที่สุดในการรับมือกับความท้าทาย
“What They Wished For” แคมเปญจาก โอกิลวี่ ออสเตรเลีย และ Wallace Bishop (แบรนด์จิวเวลรี่และเครื่องประดับ) เป็นตัวอย่างที่ดีของการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เล่าเรื่องราวแคมเปญผ่านเด็กหญิงที่สังเกตเห็นสิ่งที่แม่ชื่นชอบในชีวิตประจำวัน และใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการเลือกของขวัญคริสต์มาสที่สมบูรณ์แบบให้กับแม่ แคมเปญนี้แสดงให้เห็นและเน้นย้ำความสำคัญว่า ความใส่ใจและความคิดถึงผู้อื่น เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและความยั่งยืนทางใจในครอบครัว การสังเกตและตอบสนองความต้องการเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนที่เรารัก ช่วยเสริมสร้างความรู้สึกมีคุณค่าและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นรากฐานของสุขภาพจิตที่ดี โดยผู้ที่พบเห็นแคมเปญนี้สามารถ นำแนวคิดมาปรับใช้ โดยการใส่ใจและตอบสนองความต้องการของคนที่เรารัก สามารถช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนทางใจให้กับตนเองและคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สามารถช่วยลดความเครียดและความรู้สึกโดดเดี่ยว ช่วยเสริมสร้าง “ความยั่งยืนทางใจ” โดยทำให้ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังและสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น งานวิจัยจาก American Psychological Association (APA,2024) ระบุว่าการสร้างปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบชุมชนหรือกิจกรรมสังคมที่ดีและเหนียวแน่นช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความยากลำบากทางจิตใจได้ดียิ่งขึ้น
แคมเปญอย่าง "Let's Neighbor Up" จาก โอกิลวี่ โปแลนด์ และ Milka (แบรนด์ช็อกโกแลตชื่อดังจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์) เป็นตัวอย่างของการที่แบรนด์สามารถสร้างคุณค่าทางสังคมควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค โดยมองเห็นปัญหาสังคมในโปแลนด์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเริ่มห่างเหิน จากสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยถูกมองเป็นพื้นที่ชั่วคราว และผู้คนเลือกที่จะไม่สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ชุมชนขาดความอบอุ่นและความร่วมมือ Milka จึงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนกลับมามีปฏิสัมพันธ์กันอีกครั้ง โดยการ ฟื้นฟูความเห็นอกเห็นใจและการเชื่อมต่อระหว่างผู้คน ผ่าน Social Experiment ด้วยการส่งพัสดุจำนวน 100,000 ชิ้น ไปยังบ้านทั่วโปแลนด์ แต่จ่าหน้าผิดที่อยู่ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยส่งต่อให้เพื่อนบ้าน ภายในพัสดุมีช็อกโกแลต Milka 2 แท่ง พร้อมโน้ตชวนให้แบ่งปันและทำความรู้จักกัน ซึ่งแคมเปญสามารถเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของคนในโปแลนด์กับเพื่อนบ้านกว่า 200,000 คน และ จุดประกายอีก 4 ประเทศในการนำแคมเปญไปปรับใช้ต่อ ผ่านแนวคิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ในชุมชนและสร้างแรงบันดาลใจในการดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง ผ่านความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการแบ่งปัน
บทสรุป: ปีใหม่ที่ใจมั่นคง คือการเริ่มต้นที่ยั่งยืน
ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การตั้งเป้าหมายชีวิตอาจไม่ได้หมายถึงแค่ความสำเร็จทางการเงินหรือการงาน แต่คือการสร้างความมั่นคงและสมดุลทางใจที่พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ
แบรนด์ที่สามารถสื่อสารและสร้างคุณค่าในเรื่อง “ความยั่งยืนทางใจ” ผ่านแนวทางการ Empower ผู้คน ส่งเสริมความสัมพันธ์ และขับเคลื่อนสังคม จะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงเพราะในปี 2025 การสร้างสมดุลทางจิตใจที่มั่นคง คือจุดเริ่มต้นของการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน
ที่มาของข้อมูล
Kantar Thailand 2024 market brief
https://www.apa.org/topics/stress/manage-social-support?utm_source=chatgpt.com
https://www.ogilvy.com/work/athletes-code
Sustainability & Social Impact