ซาอุดีฯ ตั้งเป้าเป็นแหล่งความรู้แหล่งผลิตนวัตกรรมการจัดการน้ำของโลก หลังเมื่อวันที่ 4 กันยายน เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ของซาอุดีอาระเบีย ออกมาประกาศว่าซาอุดีฯ กำลังจะตั้งองค์กรการจัดการน้ำระดับโลก หรือ International Water Organization ในกรุงรียาด ด้วยเงินทุนตามแผน Vision 2030 กว่า 9.2 หมื่นล้านริยาล หรือ 8.7 แสนล้านบาท
เจ้าชายมุฮัมมัด กล่าวว่า องค์กรนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมและพัฒนาความรู้ในการจัดการน้ำ และให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในโลกในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญในการจัดการน้ำ และการพัฒนานวัตกรรมในการจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังจะทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการจัดการน้ำที่มีความสำคัญและต้องการเงินทุนช่วยเหลือ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกๆ คนบนโลกจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดอย่างเท่าเทียม
Sattam Al-Mojil ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ King Saud University กล่าวว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายๆ ภาคส่วน และในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญความท้าทายใหญ่ในการจัดการน้ำ จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ปัญหามลพิษ การขาดเทคโนโลยีในการกักเก็บและแจกจ่ายน้ำที่เหมาะสม และอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น โรคจากการบริโภคที่มีการปนเปื้อน การขาดแคลนอาหาร ความยากจน และอาจทำให้เกิดปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์มากมาย
Faisal Al-Fadl เลขาธิการผู้ก่อตั้ง Saudi Green Building Forum กล่าวว่าองค์กรนี้เป็นหนึ่งในความพยายามตามแผน Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย ที่มุ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจของซาอุดีฯ ให้มีการเติบโตที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น แทนที่จะพึ่งพาธุรกิจน้ำมันที่ในปัจจุบันสร้างรายได้ส่วนใหญ่ให้ประเทศแต่อย่างเดียว
นอกจากนี้ ซาอุดีฯ ยังเคยประกาศให้เงินสนับสนุน 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับ Middle East Green Initiative ในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า และประกาศแผนที่จะเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดให้ถึง 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2030 และลดการปล่อยคาร์บอน 44 ล้านตันให้ได้ภายในปี 2035
ในปัจจุบัน ชุมชนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการต่างๆ ที่จะช่วยให้คนในชุมชนเข้าถึงน้ำที่สะอาดและเพียงพอได้ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากภัยแล้ง การแปรปรวนของสภาพอากาศ มลพิษ รวมไปถึงความขัดแย้งต่างๆ ในพื้นที่ ที่ทำให้ระบบสาธารณูปโภคเสียหาย หรือทำให้เกิดการอพยพผลัดถิ่น
UN Water Resources Committee เผยข้อมูลในเดือนมีนาคมปี 2022 ว่า มีคนถึง 1 พันล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดได้ ขณะที่คนถึง 3.6 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงระบบและบริการการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพได้
นอกจากนี้ จากข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ ในปัจจุบัน มีคนประมาณถึง 2-3 พันล้านคนกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ และไม่มีน้ำใช้เป็นระยะประมาณ 1 เดือนในทุกๆ ปี ซึ่งลดคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเหล่านี้ ทั้งในแง่ความปลอดภัยทางอาหาร และการเข้าถึงไฟฟ้าของคนในชุมชนนั้นๆ เป็นอย่างมาก
โดยจากข้อมูลในรายงานเดียวกัน ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเจอปัญหาขาดแคลนน้ำเพิ่มเป็นสองเท่าจาก 930 ล้านคนในปี 2016 ไปเป็น 1.7-2.4 พันล้านคนในปี 2050 ซึ่งจะถูกซ้ำเติมจากภาวะแล้งที่ยาวนานและหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทั้งพืชและสัตว์ทั่วโลก
ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ และการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เมืองจึงมีความสำคัญมากในการหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ในขณะที่ก็ต้องตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและผู้ใช้ในเมืองด้วย
ที่มา: Arab News