แพลนท์เบส มีท (Plant-based Meat) หรือเนื้อจากพืช คือ อาหารรูปแบบใหม่ที่มีรูปลักษณ์ รสสัมผัส และรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์ แต่ทำมาจากพืช ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ทางเลือกสำหรับผู้ที่งดทานเนื้อสัตว์ ทานมังสวิรัติ หรือคุมอาหาร พร้อมสร้างคุณค่าต่อโลกในแง่ที่ว่าผลิตก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง และจะกลายเป็นอีกหนึ่ง แหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับมนุษย์ในอนาคต ซึ่งภายในปี 2050 มีการคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรในโลกใบนี้จะมีจำนวนเข้าใกล้ 1 หมื่นล้านคน และต้องมีกำลังการผลิตอาหารรองรับทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 70%
การเติบโตของตลาด แพลนท์เบส มีท ก่อนหน้านี้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ผ่านไปไม่นานก็ชะลอตัวลง หลังติดปัญหาที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ และต้องใช้เวลาหลายปี การทดลองและวิจัย และเทคโนโลยีที่จะพร้อมมากขึ้นในอนาคต ซึ่งบนเวทีเสวนา ‘Future Food การพัฒนานวัตกรรมสู่ความมั่นคงทางอาหาร’ ภายในงาน Sustainability Expo 2023 ซึ่งผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ มีทั้งตัวแทนจากฟากองค์กรมหาชน ได้แก่ Thai Union , CPF รวมถึง ‘Tann D’ สตาร์ทอัพสัญชาติไทย เจ้าของแบรนด์เส้นไข่ขาว ‘Eggyday’ อาหารทางเลือกโปรตีนสูง ซึ่งทั้งสามองค์กร ได้ร่วมพูดถึงความท้าทาทายของเนื้อสัตว์แพลนท์เบส รวมถึงโปรตีนทางเลือกอื่นๆ พร้อมให้มุมคิดวิธีการพัฒนาอาหารใหม่ ให้ติดตลาด
สาเหตุที่เนื้อสัตว์แพลนท์เบสยังไม่เป็นที่แพร่หลายในวงกว้างมีหลายปัจจัย อาทิ ราคาที่ยังสูงกว่าเนื้อสัตว์จริง ความคาดหวังของบริโภคที่ว่าจะต้องเหมือนเนื้อสัตว์ที่พวกเขาเคยทานแบบเป๊ะ ฯลฯ
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ‘ยังอร่อยไม่พอ’ แม้จะทำให้มีรสสัมผัส รสชาติ รูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเนื้อจริงขึ้นมาก แต่ก็ยังมีช่องว่างเรื่องความอร่อยที่ยังไม่สามารถพิชิตใจผู้บริโภคได้
ดร. ธัญญาวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรมจาก Thai Union กล่าวว่า ในขั้นตอนการพัฒนาอาหารตามหลัก Food Evolution นั้น สำหรับมนุษย์แล้ว ความต้องการในการบริโภคอาหารแบ่งเป็นลำดับขั้น คือ ความต้องการกินเพื่อประทังชีพ > กินเพื่อความอร่อย > กินเพื่อสุขภาพ > และกินเพื่อสิ่งแวดล้อม
จะเห็นได้ว่า ความอร่อยถือเป็นด่านสำคัญ ก่อนที่อาหารที่พัฒนาขึ้นใหม่จะได้ไปยังด่านต่อไป (สร้างคุณค่าต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม) อาหารต้องมีรสชาติถูกปากผู้บริโภคก่อน เปรียบเหมือนตอนเราปรับพฤติกรรมการกินเพื่อคุมน้ำหนัก หากอาหารสุขภาพที่กินนั้นรสชาติอร่อยไม่สูสีกับอาหารที่ ‘ถูกปาก แต่ลำบากร่างกาย’ สุดท้ายเราก็จะวนไปหาของอร่อยอยู่ดี
ด้านคุณนลินี โรบินสัน ผู้บริหารสูงสุดสายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ CPF เผยว่า นอกจากความอร่อยแล้ว ด้านรสสัมผัส และองค์ประกอบต่างๆ ก็มีการวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อให้เนื้อจากพืช เข้าใกล้เนื้อสัตว์ให้มากที่สุด โดยในต่างประเทศมีสตาร์ทอัพที่ตั้งขึ้นเพื่อวิจัยองค์ประกอบของเนื้อจากพืชโดยเฉพาะ อาทิ
นอกจากรูป รส และกลิ่นแล้ว แม้แต่ ‘เสียง’ เอง ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ หากลองเปรียบเทียบเสียงการหั่น การกัดหมูกรอบแท้ๆ กับหมูกรอบที่ขายในช่วงเทศกาลกินเจ ใครที่เลยลองกินจะทราบว่าเทียบความฟินกันไม่ได้เลย
องค์ประกอบเหล่านี้ ที่ต้องใช้เทคโนโลยี และงานวิจัย เพื่อค่อยๆ พัฒนาสูตร ให้เนื้อแพลนท์เบสมีรูป รส กลิ่น เสียง คล้ายกับเนื้อจริงที่สุด
ผศ.ดร. สถาพร งามอุโฆษ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Tann D กล่าวเสริมว่า แม้การทดลองและวิจัย จะเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนารสชาติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ หรือเชฟ จะทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
แต่ท้ายที่สุด ‘เสียงตอบรับจากลูกค้า’ จะเป็นตัวตัดสินว่าผลิตภัณฑ์นี้จะไปได้ดีในตลาดหรือไม่ หนึ่งวิธีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต (Future Food) คือ การศึกษาจากพฤติกรรมลูกค้า จะทำให้เห็นความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่แล้ว แล้วคิดย้อนกลับว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไรให้ตอบโจทย์นั้น
ดังเช่นการที่ Tann D ออกผลิตภัณฑ์เส้นไข่ขาว จากความต้องการของผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดโปรตีน หรือต้องกินไข่ขาวปริมาณมาก เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ผู้บริโภคไม่สามารถกินแต่ไข่ขาวต้มต่อกันเป็นระยะเวลานานได้ จึงพัฒนาให้อยู่ในรูปลักษณ์ที่ผู้บริโภคคุ้นเคย และผสมเข้าไปได้ในหลากหลายเมนูอาหาร
เมื่อมองมาที่การพัฒนาเนื้อจากพืชนั้น โจทย์สำคัญจึงเป็นการทำความเข้าใจความคาดหวังของผู้บริโภค และตอบโจทย์เหล่านั้นให้ได้ เพราะประโยชน์ และโอกาสที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นประโยชน์ด้านความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์มิติความยั่งยืนด้านสุขภาพ เป็นการเพิ่มโปรตีนในมื้ออาหาร ลดคอเลสเตอรอล และเพิ่มการบริโภคผักในแต่ละมื้ออีกด้วย
‘ความมั่นคงทางอาหาร’ เป็นหนึ่งในความยั่งยืนในมิติของอาหาร แต่คนไทยอาจยังไม่ตระหนักมากเท่ามิติของสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพ จากการที่ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ สามารถหาอาหารได้ในทุกหนทุกแห่ง จึงยังไม่รู้สึกว่าอาหารขาดแคลน แต่ถ้าเป็นประเทศที่มีพื้นที่จำกัดอย่างสิงคโปร์ ความมั่นคงทาอาหารเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การรักษาแหล่งอาหารที่มีให้อุดมสมบูรณ์พร้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณและรูปแบบของอาหารให้มากขึ้นโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ จึงเป็นทางออกสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันหาทางออก เพื่อรองรับประชากรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และรักษาสถานะของประเทศไทย ในฐานะ ‘ครัวของโลก’ เอาไว้ให้ได้
ร่วมฟัง Talk และเสวนาด้านความยั่งยืนในทุกมิติ จากบุคคลสำคัญในแต่ละแวดวง ทั้งระดับชาติ และระดับโลก ชมมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมเอร็ดอร่อยกับอาหารจากเชฟชื่อดัง และร้านอาหารทั่วฟ้าเมืองไทย ภายใต้แนวคิดของความยั่งยืนได้ ในงาน "Sustainability Expo 2023" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันนี้ - 8 ต.ค. 66