ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ ESG มูลค่า 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2030 สำหรับสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน พร้อมเปลี่ยนธุรกิจการเงินและช่วยเครือข่ายลูกค้าก้าวเป็นธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ร่วมกับ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) จัดงาน Krungsri-MUFG ESG Symposium 2024 การประชุมสัมมนาด้าน ESG โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง ESG ให้กับลูกค้าธุรกิจและบุคคลทั่วไป ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจชั้นนำ และหน่วยงานระดับโลกต่างๆ เช่น ธนาคารโลก (World Bank)
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประชุมสัมมนาในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนของธนาคารกรุงศรีในการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและสังคมเสริมสร้างความรู้และศักยภาพเพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน เพราะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของ MUFG และเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศมากที่สุด โดยเฉพาะจากภัยพิบัติทางน้ำ
นาย ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยได้ใส่เป้าหมายความยั่งยืนไว้ในแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ ผ่านการดำเนินงานสองทาง คือการลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงาน และช่วยลูกค้าธุรกิจทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นธุรกิจโลว์คาร์บอน
กรุงศรีฯ มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนจากการทำงาน ทั้งด้วยการใช้โซลาร์รูฟเพื่อเพิ่มการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เทคโนโลยีลดการใช้แอร์ การนำอีวีมาใช้ในการดำเนินงาน รวมถึงการสร้างวัฒนธรรม ESG ขึ้นในองค์กร ด้วยการสนับสนุนให้พนักงานลดการสร้างขยะ ใช้อุปกรณ์ที่ใช้ซ้ำได้ แยกขยะรีไซเคิล และนำเศษอาหารไปเข้าเครื่องดีคอมโพสทำปุ๋ยที่สามารถนำไปปลูกต้นไม้ต่อได้
นอกจากนี้ กรุงศรีฯ ยังมีแผนที่จะช่วยธุรกิจลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านเป็นธุรกิจยั่งยืนตามหลัก ESG ด้วยการปล่อยสินเชื่อเพื่อโครงการความยั่งยืนเป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาทภายในปี 2030 และในปีที่ผ่านมากรุงศรีฯ ยังได้จัดตั้งหน่วยงาน EFD (ESG Finance Department) ซึ่งปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับเครือข่าย MUFG เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการเงินเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการให้คำแนะนำปรึกษากับลูกค้าธุรกิจเพื่อช่วยวางแผนในช่วงการเปลี่ยนผ่านตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
นอกจากนี้ ในปี 2024 ได้จัดตั้ง Krungsri MUFG ESG Ecosystem ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคู่ค้าให้เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจโลว์คาร์บอนได้อย่างราบรื่น โดยมีพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญด้าน ESG ทั้งหมดมากกว่า 20 พาร์ทเนอร์ เข้ามาช่วยลูกค้าในเรื่องการเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้น และนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์หาโซลูชั่นหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในกิจการ
จากการดำเนินงานเหล่านี้ กรุงศรีฯ มีแผนที่จะเปลี่ยนทั้งธุรกิจธนาคารและธุรกิจคู่ค้าทั้งหมดให้กลายเป็นธุรกิจสีเขียวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยเชื่อว่าด้วยทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์จากการทำงานด้าน ESG ในไทย องค์ความรู้ด้าน ESG ระดับโลกจากเครือข่าย MUFG และเครือข่ายพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งจะทำให้กรุงศรีฯ มีจุดเด่นเหนือธนาคารอื่นๆ ในการให้บริการด้าน ESG แก่ธุรกิจต่างๆ ทั้งธุรกิจไทย และธุรกิจต่างประเทศที่จะเข้ามาดำเนินการในไทย
ในด้านการทำงานกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในไทย นางสาว ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรีได้สนับสนุนให้ SMEs ใช้แนวทาง ESG ในการดำเนินธุรกิจมาตลอด ทั้งการจัดกิจกรรมให้ความรู้ หรือมอบรางวัลด้าน ESG ให้กับ SMEs ที่มีแนวปฏิบัติด้าน ESG ดีเยี่ยม
ทั้งนี้ จากการสำรวจของกรุงศรีฯ พบว่า SMEs ในไทยยังมีความตระหนักด้าน ESG น้อย โดยจากลูกค้า SMEs 700 รายในพอร์ตของ มีเพียง 30% เท่านั้นที่ตอบว่าเห็นความสำคัญ ESG ในการทำธุรกิจ และมีเพียง 14% เท่านั้นที่รู้สึกว่าธุรกิจของตัวเองพร้อมที่จะก้าวผ่านเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างเต็มตัว
ดังนั้น กรุงศรีฯ จึงมองว่าในฐานะหนึ่งในธนาคารใหญ่ของไทย กรุงศรีฯ จะต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ผ่านการทำงานใน 2 มิติ คือ การสนับสนุนทางการเงินโดยตรง และการสนับสนุนด้านความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ
ในส่วนของมิติที่หนึ่ง หรือการสนับสนุนทางการเงิน ปัจจุบัน กรุงศรีฯ มี Transition Loan หรือสินเชื่อสนับสนุนให้ SMEs ลงทุนปรับเปลี่ยนให้การธุรกิจมีผลกระทบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งการลดหรือการกำจัดขยะ การลดการปล่อยมลพิษทางน้ำ หรือทางอากาศ ซึ่งเข้าเกณฑ์การขอสินเชื่อชนิดนี้ทั้งหมด
ในส่วนของมิติที่สอง หรือการสนับสนุนความรู้ผ่านกิจกรรม กรุงศรีฯ ตั้งเป้าที่จะจัดทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมี 3 กิจกรรม คือ
นางสาว ดวงกมล มองว่า แผนการทำงานของกรุงศรีฯ ในด้านนี้ จะช่วยให้ SMEs ข้ามผ่านความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้มีความยั่งยืนมากขึ้นได้ เพราะในปัจจุบันปัญหาหลักของ SMEs คือ ปัญหาด้านเงินทุน และปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจ ซึ่งกรุงศรีฯ สามารถเข้าไปช่วยเหลือและมีบริการตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ทั้งการให้สินเชื่อ และการจัดคอร์สเรียน แพลตฟอร์มความรู้ และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาและอินไซต์ดังกล่าว