ในยุคนี้ หลายองค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญกับ ‘ความยั่งยืน’ มากขึ้น โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมหลังพบว่า โลกของเรากำลังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปล่อยมลพิษจากภาคการผลิต และยังกระทบถึงธุรกิจจำนวนมาก
ตรงกับผลสำรวจของ Gartner ที่พบว่า 54% ของซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงทั่วโลก ระบุว่า ธุรกิจของพวกเขาได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระดับปานกลางเป็นอย่างต่ำ และ 51% ยอมรับว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุให้พวกเขาต้องอยู่ในขั้นของการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานหรือปรับเปลี่ยนไปแล้ว
โดย 69% ของซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงทั่วโลก เห็น ‘ความยั่งยืน’ คือโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่สำคัญในปีนี้ โดยความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจที่อยู่ใน 10 อันดับแรกอย่างต่อเนื่อง แซงหน้าปัจจัยด้าน ‘ผลิตภาพ’ และ ‘ประสิทธิภาพ’ เป็นที่เรียบร้อย
สำหรับแนวทางหลักที่ซีอีโอใช้ความยั่งยืนขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจมากที่สุด คือ การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน (33%) ตามมาด้วยยึดแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืน (18%) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (18%) และมุ่งลดการปล่อยคาร์บอน (18%) โดยการลงทุนด้านนวัตกรรมและดิจิทัลมีเพียง 8% เท่านั้น
เนื่องจากผู้นำและนักลงทุนทราบกันดีว่า องค์กรที่ไม่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เป็นความเสี่ยงที่สร้างผลกระทบระยะกลางถึงระยะยาวต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจ โดยมีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาลหากละเลยปัจจัยในด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ซีอีโอที่มีความเฉลียวฉลาดจะตระหนักดีว่า ความท้าทายด้านความยั่งยืนครั้งใหญ่นี้ จะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย
โดยซีอีโอ มองว่า ผลกระทบใหญ่ที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คือ ‘ไดนามิกในการดำเนินงาน’ (30%) โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านโลจิสติกส์ เช่น การจัดเก็บสินค้า การกำหนดเวลา และกำหนดเส้นทางการจัดส่ง ส่วน 'การย้ายสถานที่’ ซึ่งรวมถึงการทำงานในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่ในอันดับสอง (14%) ตามมาด้วย ‘ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี และข้อมูล’ (13%)
คริสติน โมเยอร์ รองประธานฝ่ายนักวิเคราะห์ Gartner กล่าวว่า “ในขณะที่ซีอีโอมีการปรับกลยุทธ์ระยะยาวกันใหม่ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดกรอบการแข่งขัน สภาพเศรษฐกิจได้กระตุ้นให้เกิดกระแสการวกกลับของความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) แม้ว่าจะมีการฟอกเขียว หรือ Greenwash ในองค์กรต่างๆ มากมาย และไปให้ความสำคัญกับผลกำไรจากต้นทุน อย่างไรก็ตาม พันธกิจภาพรวมของซีอีโอยังไม่เปลี่ยนไปแต่อย่างใด”
โดยเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเร่งการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน เช่น Internet of Things (IoT) และ ข้อมูลและการวิเคราะห์ ที่สามารถปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดต้นทุนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ตลาดในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถสร้างรายได้ใหม่และลดขยะไปพร้อมๆ กันด้วย