อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา อำเภอเล็กๆ ทางภาคเหนือ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเป็น “อำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขฯ ระดับดีเด่น” จาก 878 อำเภอทั่วประเทศ ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกภาคส่วนตามหลัก "บวร" คือ บ้าน วัด ราชการ โดยยึดเอาศาสตร์ของพระราชา เป็นหลักของการพัฒนา
งานมหกรรมด้านความยั่งยืน Sustainability Expo 2024 จึงเปิดเวทีเสวนา ถ่ายทอดแนวทางพัฒนาของชาวอำเภอแม่ใจ ผ่านหัวข้อเสวนา "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาแห่งความยั่งยืน ในบทบาทของกระทรวงมหาดไทย" โดยมี พระครูประยุตสีลสุนทร เจ้าอาวาสวัดบุญศรีชุม เจ้าคณะตำบลศรีถ้อย จังหวัดพะเยา คุณพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ คุณนรินทร์ กวางทอง โยธาธิการและผังเมือง จังหวัดพะเยา คุณประภาแก้ว วงค์พิใจ ผู้ใหญ่บ้านป่าสักสามัคคี อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และคุณจินตนา สายสอน พัฒนาการอำเภอแม่ใจ ร่วมพูดคุย และยังได้รับเกียรติจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มาร่วมรับฟังการเสวนาภายในงานด้วย
คุณพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ เผยว่า อำเภอแม่ใจมีประชากรประมาณ 33,000 คน อยู่ติดกับจังหวัดเชียงราย พื้นที่ประมาณ 1 แสนกว่าไร่อยู่ในหุบเขาสูงชัน มีสายน้ำ 6 สาย โดยมีหัวใจหลักคือ หนองเล็งทราย ซึ่งเป็นต้นน้ำของกว๊านพะเยา ย้อนไปเมื่อปี 2565 เริ่มมีการพัฒนาบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบยั่งยืน น้อมนำแนวทางอารยเกษตรผ่านโครงการ 6 รักษ์ คือ รักษ์ดิน รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์ชีวี รักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์แม่ใจ มีการร่วมทำ MOU กับ 7 ภาคีเครือข่ายมาใช้ในการขับเคลื่อน เช่น ในงานพิธีต่างๆ จะไม่มีการมอบสิ่งของหรือใดๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่จะใช้การมอบต้นไม้ให้แล้วนำไปปลูกต่อเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับอำเภอ โดยทำมาแล้วอย่างต่อเนื่อง และจะทำต่อไปโดยนำศาสตร์พระราชา ปลูกป่าในใจคน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
พระครูประยุตสีลสุนทร เจ้าอาวาสวัดบุญศรีชุม เจ้าคณะตำบลศรีถ้อย จังหวัดพะเยา เผยว่า ตนในฐานะตัวแทนของศาสนา ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เริ่มจากโครงการโคกหนองนาในปี 2565 ซึ่งขณะนั้นยังขาดแคลนเรื่องของภาคีเครือข่าย และต้นกล้าพืชพันธุ์ที่จะนำมาปลูก จึงก่อตั้งกลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์ความดี รวบรวมเมล็ดพันธุ์จากชาวบ้านในชุมชนต่างๆ โดยให้เจ้าคณะอำเภอเป็นนายธนาคารใหญ่ จัดงานบุญทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ต่างๆ มาถวายที่วัด ก่อนจะกระจายไปสู่ชุมชนผ่านทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำไปปลูกต่อไป ซึ่งความท้าทายในการเริ่มลงมือทำ ก็คือมีการตั้งคำถามว่า นี่ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่ แต่ก็ต้องใช้การก้าวข้ามคำพูดเหล่านี้ เพราะถือคติว่า "วัดคือบ้าน งานคือชีวิต จิตคือลูกหลาน ชาวบ้านคือญาติพี่น้อง" เราต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผสานผนึกกำลังทุกภาคส่วนให้มาร่วมกัน บางเรื่องมันยาก พูดไปแล้วชาวบ้านไม่เข้าใจ จึงใช้แนวคิด "ลงมือทำคือคำตอบ" ปลูกให้เห็น แล้วเก็บเกี่ยวแจกจ่ายชาวบ้าน จนทำให้เขาเห็นถึงผลลัพธ์และความสำคัญของเรื่องความยั่งยืนและมั่นคงทางด้านอาหาร
คุณประภาแก้ว วงค์พิใจ ผู้ใหญ่บ้านป่าสักสามัคคี ได้เผยถึงการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนว่า มีการน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของ รัชกาลที่ ๙ มาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด เริ่มจากการแยกประชาชนออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อแบ่งงานกันทำ โดยมีเป้่าหมายเดียวกันคือการกินดีอยู่ดี ปรับพื้นที่ชีวิตพื้นที่เกษตรมาทำโคกหนองนา โดยรับเมล็ดพันธุ์จากโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ความดี มาแจกจ่ายให้กับประชาชนโดยต้องนำขยะมาแลก จนมีการปลูกพืช 10 กว่าชนิดในพื้นที่ ก่อนจะนำพืชผลมาเปิดขายในตลาดของชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และเมื่อมีรายได้แล้วก็ต้องสอนให้รู้จักการออม แล้วนำเงินที่ออมร่วมกันไปช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่เปราะบาง ต่อยอดให้เกิดอาชีพ ซึ่งเมื่อทุกอย่างขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบก็ทำให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนของเรา
คุณนรินทร์ กวางทอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพะเยา เผยว่าในส่วนของภาคีเครือข่ายในส่วนราชการ มีการน้อมนำศาสตร์พระราชามาช่วยในการออกแบบผังเมือง เริ่มจาก "คลองแม่สุข" มีปัญหาซ้ำซากเรื่องการจัดการน้ำ หน้าฝนจะเกิดน้ำท่วม หน้าแล้งจะขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร โยธาธิการและผังเมืองจึงช่วยออกแบบคลองแม่สุข พัฒนาจากป่าหญ้าให้กลายเป็นคลองสวยน้ำใส ทำฝายชะลอน้ำ ปรับภูมิทัศน์ทั้งสองฝั่ง ให้ชุมชนมีส่วนร่วมและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้ผลลัพธ์ชัดเจนสามารถชะลอน้ำได้ ป้องกันน้ำท่วมได้ ซึ่งช่วยต่อยอดในการทำอาชีพต่างๆ ให้กับชุมชน ทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยว ส่วนอีกโครงการคือ "อารยเกษตร" ที่ หนองเล็งทราย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่หัวใจหลักของอำเภอแม่ใจ เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ ซึ่งโครงการอารยเกษตรมีพื้นที่ประมาณ 380 ไร่ แต่ดินในพื้นที่มีความเป็นกรดสูงไม่เหมาะกับการทำเกษตร และมีปัญหาเรื่องมูลสัตว์ที่เป็นฝูงควายประมาณ 1 พันกว่าตัวที่ ซึ่งมูลสัตว์พวกนี้จะปะปนลงไปในหนองเล็งทรายซึ่งเป็นหนึ่งในแห่งต้นน้ำของกว๊านพะเยา ทุกภาคส่วนจึงช่วยกันแก้ปัญหาด้วยการทำบ่อบำบัดน้ำเสีย ปลูกหญ้า 21 ไร่ แก้ปัญหาดินเป็นกรด จากเดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้ ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้ยังมีการปล่อยปลาลงในแหล่งน้ำ สร้างระบบนิเวศ และแหล่งอาหารให้กับคนในพื้นที่ เป็นการพลิกฟื้นแผ่นดินที่เคยถูกมองว่าไร้ประโยชน์ให้กลายเป็นพื้นที่ชีวิตแห่งใหม่ตามศาสตร์ของพระราชา
คุณพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ เผยถึงเป้าหมายต่อไปว่า ก่อนจะถึงเป้าหมายก็อยากจะถอดบทเรียนว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จากอำเภอเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่เราดำเนินการนโยบายตามกระทรวงมหาดไทย เริ่มจาก ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำกับประชาชน ทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ โดยยึด 7 หลักคิด คือ 1.รวมทีมที่มีหัวใจเดียวกัน มีความคิดมีเป้าหมายเดียวกันมาทำงานร่วมกัน 2.การวางแผนภูมิสังคม ทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อม หาจุดแข็งจุดอ่อนมาพัฒนาแก้ไขปรับปรุง 3.ผู้นำต้องทำก่อน ก่อนจะไปบอกให้คนอื่นทำ ผู้นำต้องทำก่อนถึงจะไปสอนคนอื่นได้ 4.การมีส่วนร่วม ให้ทุกภาคส่วนช่วยกันพลิกผืนแผ่นดินให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่า 5.แพสชั่น แพสชั่นของคนแม่ใจคือ "รักษ์แม่ใจ สร้างแม่ใจ ไปด้วยกัน แล้วจะเกิดความยั่งยืน" ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยหลอมรวมให้ทุกคนพร้อมใจไปสู่เป้าหมายเดียวกัน 6. การประสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้ทุกคนในอำเภอรับรู้ถึงแนวคิดและวิธีปฏิบัติเพื่อสามารถลงมือทำตามได้อย่างถูกต้อง 7.การประเมินผลติดตาม ต้องมีการติดตามและประเมินผลว่าสิ่งที่ร่วมมือร่วมใจกันทำนั้นเกิดผลอย่างไร เพื่อใช้เป็นต้นแบบและบทเรียนในการพัฒนาในอนาคต
ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญที่สุดคือให้ 66 หมู่บ้านในอำเภอแม่ใจ เกิดความเจริญแบบยั่งยืน คนแม่ใจรักกัน สามัคคี น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในชีวิตประจำวัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งไม่ได้วัดจากจำนวนเงิน แต่วัดจากรอยยิ้มและความสุขที่ออกมาจากใจของชาวแม่ใจ