ในระหว่างงาน Sustainability Expo 2024 มีการเปิดเวที Chief Sustainability Officers (CSO) Forum หรือเวทีการประชุมผู้บริหารความยั่งยืนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ Climate Change Mitigation and Adaptation การบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเป็นการเรียนรู้จากผู้บริหารขององค์กรยักษ์ใหญ่ เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ให้ได้ในตลาด
สำหรับหัวข้อ Financing Climate Change Mitigation and Adaptaion คุณพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย หรือ Kbank กล่าวว่า ตลาดทุนส่วนใหญ่มักจะพยายามตั้งเป้าหมายไปที่การขยายตัวอย่างมั่งคั่ง มากกว่าการขยายตัวอย่างมีสุขภาพดี แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน และผู้วางนโยบายมีส่วนสำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงผู้วางนโยบายในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่อื่นด้วย
ส่วนธนาคารกสิกรเองจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่ความเสี่ยงในการปรับตัว ก็คือความเสี่ยงใหญ่เช่นกัน และการปรับตัวท้องถิ่นนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าการปรับตัวระดับโลกเสียอีก เพราะใช้การลงทุนที่มากกว่า
คุณพิพิธยังบอกด้วยว่า เราเองจำเป็นต้องจินตนาการใหม่ถึงวิธีการทำธุรกิจว่า จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 ได้อย่างไรบ้าง และธนาคารเองต้องก้าวให้เหนือกว่าการเป็นธนาคาร ด้วยช่วยลูกค้าต่อสู้กับภัยพิบัติด้วย
ขณะที่ในหัวข้อ Integrating Climate Change into Risk Management and Business Strategy หรือ การบูรณาการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสู่การจัดการความเสี่ยงและกลยุทธ์ธุรกิจ คุณต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้อำนวยการคณะจัดงาน Sustainability Expo เปิดเผยว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ทำผลิตภัณฑ์มากมาย และวิสัยทัศน์ของบริษัทคือการเป็นผู้นำความยั่งยืนในอาเซียนด้านผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหาร เพราะตั้งแต่ก่อนที่คำว่า ความยั่งยืนจะเป็นที่รู้จัก ทางบริษัทก็ส่งสัญญาณว่าต้องลงมือทำเรื่องนี้ เพราะภารกิจของทางบริษัทคือการสร้างคุณค่า ซึ่งเป็นอะไรที่สำคัญมาก
การปรับตัวสู่ความยั่งยืนคือต้องปรับปรุงโรงงาน ระบบขนส่ง และส่วนที่สำคัญที่สุดคือการร่วมมือกับพันธมิตร รวมถึงการร่วมมือกับซัพพลายเออร์ ลูกค้า ผู้บริโภค นั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงมีการจัดงาน SX 2024 ขึ้นมา ซึ่งตลอดทั้งสิบวัน ทางบริษัทก็ทำงานร่วมมือกับสาธารณะเรื่องความยั่งยืน เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ในสาธารณชน
ในประเทศไทย มีการพูดถึงการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การจัดการความเสี่ยง และกลยุทธ์ธุรกิจบ่อยเหลือเกิน และหลากหลายบริษัทก็กำลังพยายามลงมือทำในสิ่งเดียวกันอยู่ ส่วนภาครัฐ กระทรวงมหาดไทยก็กำลังพยายามทำงานร่วมกับชุมชนและเกษตรกรเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต อย่างไรก็ตาม วิธีการที่แตกต่างกันก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะถ้าหากมีใครไม่เห็นด้วยขึ้น ก็น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก และอย่างที่สองก็คือ การปรับตัว ซึ่งสิ่งนี้สำคัญที่การเพิ่มความตระหนักรู้และสร้างความจำเป็นเร่งด่วน
คุณต้องใจยังบอกด้วยว่า สาเหตุที่มีการจัดงานนี้ เพราะคิดว่า เรายังพูดเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวและความเสี่ยงไม่มากพอ ดังนั้นจึงต้องจัดงาน เพื่อให้มีการป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และเมื่อวันข้างหน้ามาถึง อาจจะอีก 4-5 ปี เราก็อาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น