ในงาน Sustainability Expo 2024 มีการเปิดเวทีสัมมนาที่น่าสนใจเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ ร้อน รวน แล้ง : รับมืออย่างเข้าใจธรรมชาติ จัดสรรเงินและลงทุนอย่างเข้าใจโลก เพื่อพูดคุยถึงวิธีการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมีผศ.ดร.วันศุกร์ เสนานาญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, คุณบุษกร สุริยสาร ที่ปรึกษาด้านความเท่าเทียมทางเพศ และการมีส่วนร่วมทางสังคม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย, คุณนวลศิริ ไวทยานุวัตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย, คุณพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีนิรันดร์ นิรันดร์นุต ผู้จัดการโครงการ Biofin UNDP ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
คุณบุษกร สุริยสาร เล่าถึงปัจจัยความเปราะบางของประเทศไทย คือความเหลื่อมล้ำ เกษตรกรที่ชีวิตต้องพึ่งพาธรรมชาติ ฐานะยากจนเข้าไม่ถึงแหล่งทุน พื้นที่เสี่ยง อาชีพเสี่ยง บทบาททางเพศ สังคมผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางพิเศษอื่นๆ แต่ประเทศไทยของเรามีความท้าทายตรงที่กฎหมายและนโยบายมี แต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อมูลในระดับชุมชน และไม่มีการจำแนก วิเคราะห์ รวมถึงการนำมาใช้
ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการสร้างการตระหนักรู้ของความหลากหลายทางชีวภาพ โลกรวน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หลังจากนั้นต้องมอบพลังให้ชุมชน เพื่อให้เข้าสู่การมีส่วนร่วม นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากร และในท้ายที่สุด ก็จะเกิดพลังในการปรับตัวและฟื้นตัวขึ้นมา
ส่วนผศ.ดร.วันศุกร์ ตัวแทนจากพรรควิชาการ ทำโครงการร่วมกับ UNDP แก้ปัญหาสภาพอากาศด้วยวิธีการอิงธรรมชาติ ในสองจังหวัดนำร่อง ได้แก่ ระยอง และเพชรบุรี ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับชายฝั่งจะปรับตัวอย่างไรบ้าง โดยจังหวัดระยอง ลักษณะมีความเปราะบางของชายฝั่งค่อนข้างสูง อย่างที่ปากน้ำประแส มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ จึงทำให้พื้นที่ยังเป็นสีเขียว ดังนั้น การคืนความสมบูรณ์ให้ป่าชายเลนจึงเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะด้วยวิธีทางธรรมชาติอย่างแท้จริง
อีกหนึ่งปัญหาของชายฝั่ง คือ ทรายหายไป ตามธรรมชาติแล้วทรายจะถูกพัดเข้าพัดออกตลอดเวลา แต่ปัจจุบันมักมีสิ่งปลูกสร้างที่ทำให้ทรายไม่ถูกพัดกลับมา ระยองจึงนำรั้วดักทรายมาใช้ และอีกวิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีการตามธรรมชาติคือ สร้างบ้านให้ปลาที่เรียกว่า "ซั้ง" ปลา
ขณะที่ความเปราะบางของเพชรบุรีค่อนข้างสูง ไม่มีพื้นที่สีเขียวเหลืออยู่ เพราะชายฝั่งเปราะบางตามธรรมชาติ มีหาดทรายทั้งหมด ไม่มีป่าชายเลน ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อการถูกกัดเซาะสูง ป่าชายเลนที่เหลืออยู่คือที่อำเภอบ้านแหลม แต่ปัจจุบันกลายเป็นนาเกลือค่อนข้างมาก ทำให้ป่าชายเลนไม่สามารถขยายตัวได้ ส่วนวิธีการที่นำไปใช้ก็เหมือนกันคือใช้วิธีวางซั้งบ้านปลาและธนาคารปูม้า
ในส่วนของการเงินและการลงทุน คุณนวลศิริ ไวทยานุวัตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย นำเสนอทำโครงการต้นแบบที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งใช้วิธีระดุมทุนในปีแรกได้มากถึง 2.75 ล้านบาท เพื่อนำมาจ้างแท็กซี่เรือ กลุ่มประมง เก็บขยะรอบเกาะ ส่วนปีที่สองก็ลงพื้นที่อีกเพื่อทำซั้งปลา
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด ทางธนาคารมองเห็นว่า ต้องให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น จึงพยายามให้ชุมชนและชาวบ้านจัดตั้งกองทุนอาชีพ ให้ความรู้เรื่องการเก็บค่าขึ้นเกาะ และนำเงินไปทำกองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนนักดำน้ำดูแลซั้งปลาคู่กับชาวประมง เมื่อมีปลากลับมาอยู่ รายได้จากการจับปลาก็เพิ่มขึ้น และทางธนาคารยังลงพื้นที่ไปสอนเวิร์คชอปให้แม่บ้าน นอกจากนี้ยังสอนเรื่องบริหารจัดการเงินอย่างไร หลังการจัดตั้งกองทุนต่างๆด้วย
ปิดท้ายที่คุณพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ตัวแทนจากสภาผู้แทนราษฎรกล่าวถึงปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ นั่นก็คืองบประมาณ โดยงบประมาณที่ถูกจัดสรรมาแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของประเทศไทย ซึ่งมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณอื่นๆ ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของไทย เราเคยอยู่ระดับ 40 เมื่อปี 2018 แต่ปัจจุบัน เราอยู่อันดับที่ 45 และมีแนวโน้มว่าอันดับจะลดลงอีกในอนาคต