ความยั่งยืน

งานเอ็กซ์โป"ความยั่งยืน" 7 วันจัดการ "ขยะ" ไปได้เท่าไหร่?

3 ต.ค. 65
งานเอ็กซ์โป"ความยั่งยืน" 7 วันจัดการ "ขยะ" ไปได้เท่าไหร่?

ขึ้นชื่อเรื่องงานเอ็กซ์โปความยั่งยืน การบริหารจัดการ "ขยะ" ภายในงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการคัดแยก รีไซเคิล และเปลี่ยน Food waste ให้เป็น Zero waste

 

จบลงไปแล้วสำหรับงานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน กับงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX2022 ซึ่งจัดขึ้นตลอด 7 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สิ่งหนึ่งที่หลายคนสงสัยและตั้งคำถามถึงก็คือ "งานนี้ยั่งยืนยังไง"? แล้ว "ขยะ" ที่จะเกิดขึ้นจากงานนี้ล่ะ?

ทั้งนี้นอกจากงานมหกรรม SX2022 จะเต็มไปด้วยนวัตกรรมความยั่งยืนแบบครบวงจร ที่มีตั้งแต่โซนนวัตกรรมเทคโนโลยี ไปจนถึงโซน SX Food Festival ที่เป็นแหล่งรวมเชฟและร้านอาหารชื่อดังครบครันภายในงานเดียวกันแล้ว ก็ยังมี "กระบวนการจัดการขยะเบื้องหลัง" ที่น่าสนใจอีกด้วย โดยเฉพาะขยะเศษอาหาร

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ในบรรดาขยะตกค้างที่เราไม่สามารถกำจัดได้ 5.8 ล้านตันต่อปีเฉพาะในไทย ในจำนวนนี้เป็นขยเศษะอาหารมากถึงประมาณ 4 ล้านตันต่อปี หรือมากกว่า 60% ของขยะตกค้างทั้งหมด

ภายในงาน SX2022 โซน SX Food Festival ครั้งนี้ จึงมีการจัดให้มีสถานีจัดการเศษอาหาร (Food Waste Station) ให้ผู้ร่วมงานได้แยกขยะให้ถูกประเภทก่อนทิ้งลงถัง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการรีไซเคิล รวมถึงการจัดการกับอาหารเหลือ และ Food Waste เพื่อลดขยะและมุ่งสู่เป้าหมาย Zero Waste ด้วย โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ ดังนี้


1. จุดเริ่มต้นอยู่ที่การคัดแยกขยะ

การจะกำจัดขยะไม่ว่าจะเภทอะไรก็ตามนั้น ต้องเริ่มที่การ "คัดแยกขยะ" ให้เป็นก่อนอันดับแรก ซึ่งภายในสถานีการจัดการขยะเศษอาหารนี้จะมีการตั้งจุดคัดแยกขยะ 8 ประเภท ตั้งไว้อยู่ที่มุมซ้ายของสถานี โดยมีเหล่านักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจความเข้าใจเกี่ยวกับขยะประเภทต่างๆ และการทิ้ง/คัดแยกให้ถูกวิธี โดยแบ่งออกได้เป็น 1. เศษอาหารชิ้นใหญ่ 2. ขวดแก้ว 3. ขวดพลาสติกสี 4. ถุงพลาสติกหลายชั้น 5. กระป๋องอะลูมิเนียม 6. กล่องนม/น้ำผลไม้ 7. พลาสติกอื่นๆ 8. ขยะทั่วไป 9. จุดเทน้ำก่อนคัดแยก

382393

น้องๆ นักศึกษาเล่าให้ฟังว่า การมาตั้งจุดคัดแยกขยะในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างผู้จัดงาน SX2022 กับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้นำเอาความรู้ด้านการคัดแยกขยะที่ทางมหาวิทยาลัยทำเป็นปกติอยู่แล้วมาใช้ในงานนี้ โดยขยะทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปแปลงสภาพต่อไป เช่น ขยะเศษอาหารก็จะถูกนำไปเข้าเครื่องย่อยขยะจากเศษอาหารเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ย หรือขวดน้ำพลาสติกก็จะถูกนำไปรีไซเคิลต่อ ขณะที่ผูามาร่วมงานมีการนำขยะมาคัดแยกที่สถานีเป็นจำนวนมาก และมีการสอบถามความรู้เรื่องการคัดแยกขยะประเภทอื่นๆ เช่น ขยะสารพิษอันตราย (ถ่าน/แบตเตอร์รี) อีกด้วย

 

2. เครื่องย่อยขยะจากเศษอาหาร แปลงของเหลือทิ้งในครัวให้เป็นปุ๋ย

636431

ขยะเปียกหรือขยะจากเศษอาหาร เป็นปัญหาที่หลายบ้านประสบอยู่ ซึ่งภายในงานมีการติดตั้ง "เครื่องย่อยขยะจากเศษอาหาร" (Composter) ที่เปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย โดยเป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพย่อยสลายขยะจากเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 24 ชั่วโมง รองรับขยะได้ทุกชนิดทั้งผัก ผลไม้ ข้าว เนื้อสัตว์ ก๋วยเตี๋ยว ก้างปลา ธัญพืช รวมถึงกระดาษทิชชู และบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้มากถึง 90% ผู้ร่วมงานที่นำอาหารมารีไซเคิลในจุดนี้ จะได้รับปุ๋ยติดไม่ติดมือกลับบ้านไปคนละถุง โดยเครื่องย่อยขยะจากเศษษอาหารของบริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด ที่นำมาติดตั้งยังได้รับรางวัล TSX YOUTH AWARD ในงานSustainability Expo ก่อนหน้านี้ด้วย

 

3. แปลงขวดพลาสติกเป็นแต้มคะแนน กับตู้ REFUN MACHINE

หลายคนอาจจะพอคุ้นเคยกับเครื่อง REFUN MACHINE หรือ "ตู้รีฟัน" กันมาบ้าง เพราะปัจจุบันอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และงานอีเวนต์หลายแห่งมีการติดตั้งเจ้าเครื่องนี้ให้เห็นกันบ้างแล้ว

377558
นี่คือตู้รับซื้อขยะรีไซเคิลอัตโนมัติ ที่เปลี่ยนขยะรีไซเคิลเป็นแต้มหรือคะแนนสะสม โดยผู้ใช้สามารถนำขวดพลาสติกใส PET พร้อมฝาและฉลาก มาใส่ในตู้นี้เพื่อแปลงขวดพลาสติกให้เป็น "แต้มคะแนนสะสม" ผู้มาร่วมงานที่นำขวดมาคืนจะได้รับ 1 คะแนนต่อ 1 ขวด สะสมให้ครบ 10 คะแนนสามารถนำไปแลกรับของที่ระลึกพิเศษ โดยเริ่มสะสมได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายนเป็นต้นไป 

ภายในงานมีการติดตั้งตู้รีฟันกระจายออกไปหลายจุด รวมแล้วประมาณ 6-7 แห่งในงาน ซึ่งรวมถึงในสถานีจัดการเศษอาหาร Food Waste Station ด้วย ทำให้ผู้ที่มาเที่ยวชมงานสามารถนำขวดน้ำดื่มพลาสติกมารีไซเคิลได้ทันที เพิ่มความสะดวกสำหรับผู้บริโภค และทำให้หลายคนได้ทดลองใช้เป็นครั้งแรกเพื่อเริ่มปรับพฤติกรรมไปด้วยกันว่า การรีไซเคิลขยะไม่ใช่เรื่องยาก

 


4. "ตู้เย็นปันสุข" กินไม่ได้-ขายไม่หมด แบ่งปันมาที่นี่!

หลายต่อหลายครั้งที่เราสร้างยขยะอาหารขึ้นมาเพียงเพราะว่ามันเป็น "ของเหลือ" ที่เกินความจำเป็นของเรา ไม่ว่าจะซื้อมาเกินจำนวนคน กินไม่หมด ขายไม่หมด หรือมีธุระด่วนจนไม่ได้กิน

ทางแก้ที่ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งเลยก็คือ เอาอาหารส่วนเกินนั้นไปให้กับคนที่ขาดแคลน เพื่อลดขยะเศษอาหารจาก food waste ให้เป็น zero waste และในสถานีการจัดการเศษอาหารที่งาน SX2022 ครั้งนี้ ก็มีการติดตั้ง "ตู้เย็นปันสุข" ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SCHOLARS OF SUSTENANCE หรือ SOS) เพื่อนำอาหารส่วนเกินที่เหลือทั้งจากคนซื้อและคนขายในแต่ละวันของงานนี้ ไปแจกจ่ายให้กับชุมชนที่ขาดแคลน

667392

มูลนิธิ SOS ก่อตั้งในปี 2559 เพื่อส่งเสริมการกระจายอาหาร ลดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น และสร้างความเท่าเทียมให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนโดยแจกจ่ายอาหารส่วนเกินคุณภาพสูงจากภาคธุรกิจอาหารให้แก่ชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินก่อนที่จะถูกทิ้งไปได้มากกว่า 4.5 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็นอาหารที่มากถึง 19 ล้านมื้อ แก่ชุมชน 1,002 แห่งในประเทศไทย และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าก๊าซคาร์บนไดออกไซด์ถึง 9.3 ล้านกิโลกรัม       

ปกติแล้วทางมูลนิธิจะรับบริจาคอาหารโดยไปรับมาจากพาร์ทเนอร์ หรือพาร์ทเนอร์นำอาหารมาส่งให้ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้ง "ตู้เย็นปันสุข" ขึ้นในระหว่างการจัดงาน ซึ่งงาน SX2022 ถือเป็นงานมหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีทั้งผู้มาเที่ยวชมงานและมีร้านค้าร้านอาหารจำนวนมากที่มาร่วมออกงานในครั้งนี้ ในแต่ละวันจึงมีการบริจาคอาหารในตู้เย็นปันสุขเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าตู้เย็นขนาดใหญ่ความจุ 36 คิวบิกฟุตนั้น มีของบริจาคแทบจะเต็มตู้ทุกวัน

"ทางศูนย์ฯ สิริกิติ์ กับ บมจ.ไทยเบฟ เป็นคนเสนอติดตั้งตู้เย็นปันสุขให้ในงานนี้เลย ในแต่ละวัน เราก็จะกระจายของออกไปตามลักษณะของอาหารที่บริจาคเข้ามา ถ้าเป็นพวกอาหารสดหรืออาหารปรุงสำเร็จ ก็จะกระจายอาหารออกไปให้ชุมชนที่ขาดแคลนในเย็นวันนั้นหรือเช้าวันรุ่งขึ้นเลย แต่ถ้าเป็นอาหารที่พอจะเก็บได้ ก็จะรวมกันแล้วกระจายต่อให้ชุมชนต่างๆ ในภายหลัง" เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ กล่าว 

 

งาน SX2022 บริหารจัดการขยะได้เท่าไร?

เนื่องจากเป็นงานที่จัดขึ้นในระดับพื้นที่ใหญ่ขนาดกว่า 40,000 ตรม. ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ตลอด 7 วัน จึงหนีจากเรื่อง "ขยะ" ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคในงานนี้ไม่ได้เลย

ต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้อำนวยการคณะจัดงาน Sustainability Expo 2022 กล่าวว่า งานนี้มีการจัดการขยะภายในงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ ขวดน้ำพลาสติก กระป๋อง ขวดแก้ว บรรจุภัณฑ์ ขยะเศษอาหารที่เป็น Food waste ที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล ไปจนถึงอาหารที่ยังไม่ได้บริโภคซึ่งมีการนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิ SOS ซึ่งจะกระจายส่งต่อไปยังบรรดาชุมชนที่ขาดแคลนอาหารต่อไป

962104

 

ภายในงานมีข้อมูลการบริหารจัดการขยะที่น่าสนใจ ดังนี้ 

  • มีขวดน้ำ PET ที่ใช้ในงานถูกนำไปรีไซเคิล 38,000 ขวด น้ำหนักรวม 571 กิโลกรัม 
  • มีกระป๋อง ที่ใช้ในงานถูกนำไปรีไซเคิล 14,500 กระป๋อง น้ำหนักรวม 217 กิโลกรัม 
  • มีขวดแก้ว ที่ใช้ในงานถูกนำไปรีไซเคิล 2,165 ขวดแก้ว น้ำหนักรวม 563 กิโลกรัม
  • มีอาหารเหลือทิ้ง (Food waste) จากงาน 1,075 กิโลกรัม ถูกนำไปใช้ผลิตเป็นปุ๋ยได้ 107.47 กิโลกรัม
  • มีอาหาร 1,138 เสิร์ฟที่ทำแล้วไม่ได้เสิร์ฟ นำไปบริจาคต่อผ่านมูลนิธิ SOS 

 

สรุปตัวเลขน่าสนใจและผลลัพธ์งาน Sustainability Expo 2022 

  • ระยะเวลาจัดงาน 7 วัน บนพื้นที่มากกว่า 40,000 ตารางเมตร
  • มีผู้เข้าร่วมชมงานจำนวนรวม 253,000 คน (ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-2 ต.ค.2565) มากกว่าเป้าหมายตั้งไว้ที่ 70,000 คน
  • มีองค์กรมาร่วมงาน 100 องค์กรมาร่วมงาน
  • มีวิทยากร 150 คนมาร่วมบรรยาย
  • มีร้านอาหารและร้านค้า ตลาดออแกนิค 126 ร้านค้า มียอดขายรวม 15 ล้านบาท
  • มีร้านค้าและเครือข่ายธุรกิจยั่งยืน 294 ร้านค้า  มียอดขายมากกว่า 9.3 ล้านบาท ยอดขายจากการอุดหนุนชุมชนผ้าขาวม้าและร้านค้าชุมชนจาก 50 จังหวัดและเครือข่ายธุรกิจยังยืน
  • ร่วมกับ กทม. แจกต้นไม้  10,000 ต้น
  • มียอด Reach ผ่านสื่อออนไลน์ในเครือข่ายรวมประมาณ 40 ล้าน Reach
  • มีทีมงานประจำจุดในงาน 600 คน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT