ความยั่งยืน

โลกเดือดทำปะการังฟอกขาวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี คาดกระทบปะการังกว่า 54% หนักสุดเท่าที่มีบันทึก

20 เม.ย. 67
โลกเดือดทำปะการังฟอกขาวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี คาดกระทบปะการังกว่า 54% หนักสุดเท่าที่มีบันทึก

อุณหภูมิน้ำทะเลในโลกสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำปะการังทั่วโลกฟอกขาวใหญ่เป็นครั้งที่ 2 ภายใน 10 ปี และครั้งที่ 4 เท่าที่เคยมีการบันทึกมา คาดปะการัง 54% ในอย่างน้อย 53 ประเทศหรือเขตแดนจะได้รับผลกระทบ ทำให้ระบบนิเวศในทะเลทั่วโลกได้รับความเสียหาย

ปัจจุบัน ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่นักวิทยาศาสตร์จะประกาศ “การฟอกขาวของปะการังครั้งใหญ่” หรือประกาศว่าเหตุการณ์นั้นเป็น “การฟอกขาวปะการังระดับโลก” ก็ต่อเมื่อปะการังอย่างน้อย 12% ในแต่ละมหาสมุทรใหญ่ เช่น แฟซิฟิก แอตแลนติก และอินเดีย เกิดการฟอกขาวภายในระยะเวลา 12 เดือน

0.58061900_1713259346_coral-b

จากข้อมูลของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) การฟอกขาวครั้งใหญ่ในครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี และเป็นครั้งที่ 4 เท่าที่เคยมีการบันทึกมา และคาดว่าจะส่งผลกระทบกับปะการัง 54% ทั่วโลก และเพิ่มขึ้นในอัตรา 1% ต่อสัปดาห์จากอุณหภูมิที่มากขึ้น ทำให้การฟอกขาวในครั้งนี้จะกลายเป็นการฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในไม่ช้า

จากการบันทึก การฟอกขาวของปะการังเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1998 ซึ่งปะการังเพียงประมาณ 20% ได้รับผลกระทบ ครั้งที่ 2 ในปี 2010 ที่ปะการัง 35% ได้รับผลกระทบ และครั้งที่ 3 ในปี 2014-2017 ที่ปะการังถึง 56% ได้รับผลกระทบ

สถิตินี้ชี้ว่าการฟอกขาวของปะการังเกิดขึ้นถี่ขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลและความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในภาพรวม เพราะสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยเฉพาะปะการังอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนของอุณหภูมิ และเป็นตัวชี้วัดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนได้ทางหนึ่ง โดยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียง 1-2 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ ก็สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้นได้แล้ว

 

ปะการังฟอกขาวคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) เป็นปรากฏการณ์ที่ปะการังมีสีซีดจางลง จนมองเห็นเป็นสีขาว ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียสาหร่ายที่ชื่อว่า ซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเป็นสาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง 

ปะการังและซูแซนเทลลีจะดํารงชีวิตอยู่ร่วมกับปะการัง “แบบพึ่งพากัน” (mutualism) โดยสาหร่ายจะทําหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหาร ช่วยเร่งกระบวนการสร้างหินปูน รวมถึงการสร้างสีสันให้แก่ตัวปะการัง ขณะที่ปะการังก็ทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยให้กับซูแซนเทลลี

อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่สภาพแวดล้อมในทะเลมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีสภาวะไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิน้ําทะเลเพิ่มสูงขึ้น ความเค็มของน้ำทะเลลดลง สาหร่ายซูแซนเทลลีจะหนีออกจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อแสวงหาสภาพแวดล้อมใหม่ให้มีชีวิตรอด ส่งผลให้ปะการังเหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เผยให้เห็นสีขาวของโครงสร้างหินปูนที่อยู่ภายใน 

img_0975_2000px_banner

หลังจากเกิดการฟอกขาวแล้ว ปะการังที่สูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลีจะไม่เพียงแต่เสียสีสันที่เคยสวยงามไปเท่านั้น แต่ยังสูญเสียแหล่งอาหารสำคัญ จนทำให้สารอาหารที่ปะการังเคยได้รับจะลดน้อยลงไปด้วย 

ทั้งนี้ หากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงระยะเวลาอันสั้น สาหร่ายซูแซนเทลลีก็จะกลับเข้ามาอาศัยในเนื้อเยื่อปะการังตามเดิม ส่งผลให้ปะการังฟื้นคืนและกลับมามีชีวิตปกติได้อีกครั้ง แต่หากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลานาน ปะการังก็จะเริ่มอ่อนแอและตายลงในที่สุด

ปะการังฟอกขาวส่งผลเสียอย่างไรบ้าง?

ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวมีผลเสียคือ ทำให้ระบบนิเวศในท้องทะเลเสียหาย เพราะปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำถึง 1 ใน 4 ของโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำหลายชนิด ทำให้หากจำนวนของปะการังลดน้อยลงไป สัตว์น้ำก็มีสิทธิที่จะลดลงตาม ส่งผลมาถึงมนุษย์ที่อาจจะต้องพบกับความไม่มั่นคงทางอาหารจากจำนวนสัตว์น้ำที่ลดลง

นอกจากนี้ ปะการังฟอกขาวยังส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะหากทะเลไม่มีปะการังสวยงามที่ดึงดูดแล้ว ทะเลในบริเวณนั้นก็จะเสื่อมมูลค่า ทำให้ผู้ที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวทำรายได้ได้ลดลง หรืออาจจะทำให้บางอาชีพของคนในพื้นที่หายไป

ดังนั้น การฟอกขาวของปะการังในครั้งนี้จึงถือเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนควรให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่จะส่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยตรง และหากปล่อยให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ การฟอกขาวของปะการังทั่วโลกก็จะเกิดถี่ขึ้นในอัตราที่รุนแรงขึ้น และอาจทำให้ปะการังไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันจนตายในที่สุด

maldives_coral_bleaching_800



อ้างอิง: Euronews, คลังความรู้ทรัพยากรและชายฝั่ง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT