วิจัยฯ จากวารสารวิชาการ Nature ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนและสภาวะอากาศแปรปรวนจะทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายถึงปีละ 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,400 ล้านล้านบาทในปี 2049 ซึ่งมากกว่าเงินที่ต้องใช้ในการลดการปล่อยคาร์บอนและป้องกันภาวะโลกร้อน 6 เท่า และทำให้รายได้ของคนทั่วโลกลดลงอย่างถาวรเฉลี่ยประมาณ 19% ถึงแม้ทั่งโลกจะเริ่มลดการปล่อยคาร์บอนในวันนี้
ปัจจุบัน ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพอากาศที่ร้อนทำลายสถิติ รวมถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ๆ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่น เหตุพายุฝนและน้ำท่วมเฉียบพลันในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชากรที่อยู่ในพื้นที่และทำให้ทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องใช้เงินถึง 544 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อซ่อมแซมและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น
จากการวิจัยในวารสาร Nature หัวข้อ “The Economic Commitment of Climate Change” ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา และจัดทำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Potsdam Institute for Climate Impact Research (PIK) ในปี 2049 หรือ 25 ปีข้างหน้า ความเสียหายนี้มีแนวโน้มจะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึง 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 1,400 ล้านล้านบาท
มูลค่าความเสียหายจำนวนนี้ถือว่ามากกว่าเงินที่ทั้งโลกต้องใช้เพื่อบรรลุ "ความตกลงปารีส" (Paris Agreement) หรือลดการปล่อยคาร์บอน และคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ถึงกว่า 6 เท่า เพราะจากการประมาณการณ์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC เราต้องใช้เงินเพียง 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อบรรลุข้อตกลงดังกล่าว
นอกจากนี้ การศึกษา ยังระบุอีกว่า ในปี 2050 ภาวะโลกร้อนจะทำให้มนุษย์ทั้งโลกมีรายได้ลดลงเฉลี่ย 19% จากภาวะโลกร้อน ที่จะทั้งทำให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรงขึ้นจนเกิดความเสียหาย ทำให้ผลิตผลของมนุษย์โดยรวมลดลง และทำให้มนุษย์ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติในการหาเลี้ยงชีพต้องสูญเสียรายได้
ทั้งนี้ ตัวเลข 19% เป็นค่าเฉลี่ยของทั้งโลกเท่านั้น เพราะประชากรในแต่ละพื้นที่ของโลกย่อมจะได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปรวนต่างกัน โดยจากการศึกษานี้ พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด คือ ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เช่น ประเทศในเอเชียใต้ และแอฟริกา ที่คนจะมีรายได้ลดลงเฉลี่ย 22% เท่ากัน
ข้อค้นพบนี้สะท้อนให้เห็นถึง ความไม่เท่าเทียมด้านสภาพอากาศ เพราะประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเหล่านี้ใช้ทรัพยากรปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าประเทศร่ำรวย แต่กลับต้องรับผลกระทบมากกว่าเพราะมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนอยู่แล้ว มีเงินทุนในการลดผลกระทบน้อยกว่า รวมถึง มีที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลซึ่งจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นมากกว่า
จากการศึกษาของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Environment Programme ประชากรโลกใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและดำรงชีวิตมากขึ้น 3 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก และการบริโภคที่มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง หรือประเทศที่มีรายได้สูง
การศึกษานี้ ได้ระบุว่า ในช่วงปี 1970 จนถึง ปัจจุบัน อัตราการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 3 หมื่นล้านตัน มาเป็น 1.06 แสนล้านตัน หรือเฉลี่ยจาก 23 กิโลกรัม มาเป็น 39 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ของมนุษย์เป็นตัวการการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกถึงกว่า 60% ในโลก
นอกจากนี้ ประเทศที่มีรายได้สูงยังเป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรและสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติมากกว่าประเทศรายได้ต่ำ เพราะประเทศรายได้ต่ำนั้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่าประเทศร่ำรวยถึง 6 เท่า และสร้างผลกระทบที่มีต่อธรรมชาติน้อยกว่า 10 เท่า
ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศรายได้สูง จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบต้องเร่งปรับลดการใช้ทรัพยากรของตัวเองผ่านวิธีต่างๆ เช่น การนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่ม และเพิ่มเวลาให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง ส่วนผู้บริโภคก็ต้องลดการบริโภคสิ่งของเกินความจำเป็น รวมไปถึงใช้สิ่งของที่เปลืองทรัพยากรและทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
โดยจากการการศึกษาเดียวกัน หากมนุษย์ไม่พยายามปรับเปลี่ยนวิธีผลิตและบริโภคสินค้าของตัวเอง อัตราการใช้ทรัพยากรของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 60% ภายในปึ 2060 ซึ่งจะส่งผลเสียเป็นอย่างมากต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ ทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรง ซึ่งจะทำให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติและสภาพอากาศแปรปรวนมากยิ่งขึ้น