OECD ออกรายงาน คาดงานทักษะสูงถึง 27% ในประเทศสมาชิกมีสิทธิถูก ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI แย่งงานในอนาคต เพราะขั้นตอนการทำงานในหลายสายงานโดยเฉพาะงานด้านกฎหมาย และการเงินอาจนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยได้
ข้อมูลนี้มาจากหนึ่งในการศึกษาจากรายงาน Employment Outlook ประจำปี 2023 ของกลุ่มประเทศ OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 38 ประเทศ ส่วนมากประกอบไปด้วยประเทศรายได้สูง รวมไปถึงประเทศรายได้ปานกลางอย่างเช่น เม็กซิโก หรือเอสโทเนีย
จากการศึกษาดังกล่าว ซึ่งจัดทำขึ้นก่อน Generative AI อย่าง ChatGPT จะบูมขึ้นมาในช่วงปลายปีที่แล้ว พบว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า AI จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านการทำงานของประชาชนในกลุ่ม OECD อย่างมีนัยสำคัญ เพราะ AI ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา แต่หลังจากมี Generative AI ที่สามารถเรียนรู้สร้างทักษะใหม่ๆ ให้กับตัวเองอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นมาแล้ว สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปมากในอนาคตสั้นๆ
โดยที่ยังไม่มี Generative AI เข้ามาอยู่ในสมการ OECD พบแล้วว่างานในประเทศสมาชิกเฉลี่ยถึง 27% มีความเสี่ยงสูงที่จะถูก ‘Automate’ หรือนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยได้ ทำให้ผู้ที่ทำงานเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียงานให้กับ AI ที่เข้ามาแทนได้ไม่ยาก โดยประเทศที่มีงานประเภทนี้มากที่สุดคือกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี และ สโลวาเกีย ที่มีงานเสี่ยงถูก AI แย่งถึง 36.4% และ 35.7% ตามลำดับ
ที่สำคัญคือ งานเหล่านี้ไม่ใช่งานทักษะต่ำ ที่ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาก็ทำได้ เพราะส่วนมากจะเป็นงานด้านเอกสาร หรืองานรวบรวม ประมวลผลข้อมูล ในสาขาอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย การเงิน วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การบริหารธุรกิจ หรือแม้แต่การแพทย์ ทำให้หาก AI พัฒนาจนเฉลียวฉลาดขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่บัณฑิตที่จบในสาขาที่เป็นวิชาชีพมากก็อาจตกงานได้ง่ายๆ หากไม่เร่งพัฒนาทักษะตัวเองให้มีจุดเหนือ AI
นอกจากนี้ แรงงานถึง 3 ใน 5 คนของ 7 ประเทศ OECD มีความกลัวว่าตัวเองจะถูก AI แย่งงานในระยะเวลาอีก 10 ปี ต่อจากนี้ ซึ่งเป็นคำตอบที่ได้จากการสอบถามคนงาน 5,300 คน ใน 2,000 บริษัท ใน 7 ประเทศ OECD
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความกังวลในด้านนี้ ถึง 2 ใน 3 ของพนักงานที่เคยนำ AI เข้ามาใช้ในการทำงานแล้วพบว่าการเข้ามาของ AI อาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเพราะระบบเหล่านี้เข้ามาช่วยทำงานซ้ำซากจำเจที่ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากมาย หรืองานที่อันตรายกับมนุษย์ได้ และอาจจะทำให้เกิดงานน่าสนใจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ AI
โดยในความเห็นของ Mathias Cormann เลขาธิการ OECD เหล่า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของมนุษย์แน่นอน แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะไปในทางลบ หรือทางบวกมากกว่ากันก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศและหน่วยงานออกกฎหมายมากำกับดูแลการใช้ AI เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับคนจริงๆ อย่างไร โดยรัฐบาลจะต้องพยายามช่วยแรงงานเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงพัฒนาทักษะในการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้แรงงานเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มที่ด้วย