ธุรกิจการตลาด

รู้จัก 'คำสาปอายุ 35' แนวคิดในวงการเทคฯ จีน ปลดคนอายุมาก-จ้างเด็กรุ่นใหม่

12 พ.ค. 67
รู้จัก 'คำสาปอายุ 35' แนวคิดในวงการเทคฯ จีน ปลดคนอายุมาก-จ้างเด็กรุ่นใหม่

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศจีน ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ทำให้มีการปลดพนักงานหลายหมื่นตำแหน่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา .... อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะบริษัทเทคทั่วโลกก็ทำอะไรแบบนี้เหมือนกัน

แต่สำหรับประเทศจีน บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย โดยเฉพาะในฝ่ายบริหาร แสดงอย่างชัดเจนที่จะเลือกเก็บพนักงานที่ยังไม่ได้แต่งงาน และมีอายุน้อยกว่า 35 ปี แล้วทำไมต้องเป็นอายุ 35 ด้วย? SPOTLIGHT สรุปให้ฟังในบทความนี้

คำสาปอายุ 35 คืออะไร?

‘คำสาปอายุ 35’ เป็นแนวคิดของนายจ้างชาวจีนที่มีความชอบในการจ้างพนักงานที่อายุไม่ถึง 35 ปี และเมื่อพวกเขาอายุครบ 35 ปี จะถูกปลดออก เพราะมองว่าพนักงานที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ไม่เต็มใจที่จะทนกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เพราะยังมีความรับผิดชอบเพิ่มเติมจากที่บ้านด้วย

นอกจากนี้ วัฒนธรรมในที่ทำงานกำหนดให้ผู้คนต้องทำงานเป็นเวลานาน โดยรู้จักกันดีในชื่อ ‘996’ (九九六) หรือการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม (9 AM - 9 PM) และทำงานหกวันต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นที่รู้ดีกันว่า หากต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน พนักงานก็ต้องแลกกับการทำงานหนักภายใต้แนวคิด 996 นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ นายจ้างจึงชื่นชอบผู้ที่อายุน้อย สุขภาพแข็งแรง และเต็มใจที่จะทำงานหนักหลายชั่วโมงภายใต้ชีวิตที่เร่งรีบ เพราะโดยเฉลี่ยคนงานอายุน้อยมีสุขภาพที่ดีกว่าคนงานที่มีอายุมากกว่า มีแนวโน้มว่าจะมีภาระผูกพันทางครอบครัวน้อยกว่าคนงานที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ด้วย และมีความเต็มใจที่จะเสียสละตัวเองเพื่อบริษัทมากขึ้น

Yang Baoquan ทนายความด้านแรงงานในปักกิ่ง เผยว่า ‘Ageism’ หรืออาวุโสนิยม เป็นปัญหาใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคของจีน จากความเชื่อที่ว่า คนทำงานที่มีอายุเยอะจะไม่สามารถติดตามการพัฒนาทางเทคโนโลยีให้ทันได้ พวกเขาไม่มีพลังงานพอที่จะทำงานหนักต่อไป และมีค่าแรงที่สูงด้วย

ส่วนข้อมูลของสหพันธ์สหภาพแรงงานแห่งประเทศจีนพบว่า อายุเฉลี่ยของแรงงานทั่วไปอยู่ที่ 38.3 ปี แต่พนักงานในบริษัทเทคของจีน ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างเห็นได้ชัด โดย Pinduoduo ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ อายุเฉลี่ยของพนักงานอยู่ที่ 27 ปี อ้างอิงจากตัวเลขล่าสุดจากเว็บไซต์เครือข่ายมืออาชีพ Maimai ในปี 2020 ส่วน Kuaishou แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นคู่แข่ง TikTok อายุเฉลี่ยของพนักงานอยู่ที่ 28 ปี

ระบบอาวุโสนิยม ปัญหาใหญ่ในวงการเทคจีน

ถึงแม้ว่ากฎหมายแรงงานของจีนห้ามมิให้นายจ้างเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของคุณลักษณะต่างๆ เช่น ชาติพันธุ์ เพศ และศาสนา แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงอายุอย่างชัดเจน ซึ่งบางคนตีความกฎหมายนี้อย่างกว้างๆ ว่าห้ามเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ ทำให้ซึ่งนายจ้างไม่ระบุอายุเป็นเหตุผลในการเลิกจ้างอย่างชัดเจน

ซึ่งความคิด ‘คำสาปอายุ 35’ ยังฝังลึกอยู่ในบริษัทเทคส่วนใหญ่ ผู้บริหารด้านเทคของจีนได้แสดงความชอบต่อคนทำงานอายุน้อยต่อสาธารณะมานาน ย้อนไปปี 2019 Martin Lau ประธานบริษัท Tencent ประกาศแผนการที่จะสับเปลี่ยนผู้จัดการของบริษัท 10% โดยให้คนรุ่นใหม่มาแทนที่ ที่อาจมีความกระตือรือร้นมากกว่า

ส่วน Robin Li หัวหน้า Baidu เผยในจดหมายภายใน ที่ได้เผยต่อสาธารณะในปี 2019 ว่า แผนการของบริษัทที่จะมีความอ่อนเยาว์มากขึ้น คือการส่งเสริมคนงานที่เกิดหลังปี 1980 และ 1990 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เปิดโอกาสและสนับสนุนคนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่

แนวโน้มนี้เห็นได้ชัดที่สุดจากคลื่นการเลิกจ้างพนักงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเทค ที่ได้รับแรงหนุนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความกังวลด้านกฎระเบียบ อย่าง Kuaishow ได้ลดจำนวนพนักงานโดยรวมลง 16% ระหว่างเดือนธันวาคม ปี 2021 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2023 ตามรายงานทางการเงิน

ไม่เพียงเท่านี้ ล่าสุดโปรแกรมเมอร์จีนวัย 38 ปี เผยกับ Financial Times ว่า ตนเพิ่งถูกเลิกจ้างจากกลุ่มบริษัทเรียกรถโดยสารรายใหญ่ ซึ่งการหางานใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะตลาดงานแย่มาก แย่กว่าปีที่ที่ผ่านมาด้วยซ้ำ โดยเฉพาะวิศวกรที่ไม่ได้อยู่ในวัยหนุ่มสาวแบบตน

ผลกระทบที่มีต่อกลุ่มคนมิลเลเนียล

ความต้องการคนทำงานอายุน้อยกว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จีนกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านประชากร อัตราการเกิดที่ลดลงส่งผลให้จำนวนประชากรของจีนลดลงแบบเห็นได้ชัดครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปี 1960 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่าจำนวนประชากรของจีนลดลง 850,000 คนในปี 2022 ส่วนปีที่ผ่านมา ลดลงมากถึง 2.08 ล้านคน หรือ 0.15%

อัตราการเกิดใหม่ในจีนลดลงมานานหลายทศวรรษ จากนโยบายลูกคนเดียวที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 1980 ถึง 2015 และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว เช่นเดียวกับความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ประชากรจำนวนมากย้ายจากการทำงานเกษตรในชนบทของจีนไปยังเมืองต่างๆ ทำให้การมีลูกมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม ประชากรสูงวัยชี้ให้เห็นว่านายจ้างจะไม่สามารถพึ่งพาแรงงานอายุน้อยได้อย่างต่อเนื่องอีกต่อไป ถึงแม้ตอนนี้ มีนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากที่กำลังมองหางานทำ แต่ในอีกสิบปีข้างหน้า อาจจะไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไป เพราะจำนวนประชากรจีนกำลังหดตัว และกลุ่มอายุน้อยกว่า 35 ปีก็หดตัวลงเช่นกัน

Kelvin Seah อาจารย์อาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เผยกับ Business Insider ว่า กลไกตลาดเสรีสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยการแข่งขันในตลาดแรงงานสำหรับคนงานอายุน้อยกว่าที่เพิ่มขึ้น จะผลักดันค่าจ้างของพวกเขาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้คนงานที่มีอายุมากกลับน่าดึงดูดขึ้น เพราะค่าแรงค่อนข้างถูกกว่าสำหรับนายจ้าง

แม้คำสาปอายุ 35 จะหายไปด้วยความจำเป็นอย่างแท้จริงภายในไม่กี่ทศวรรษ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ มันกำลังสร้างวิกฤตให้กับจีนและเยาวชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกับคนรุ่นมิลเลนเนียลของประเทศ หลังจากที่ต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และหาเงินได้น้อยเกินกว่าจะสะสมเงินออมได้ ก็ยังถูกซ้ำเติมจากแนวคิดคำสาปอายุ 35 อีก 

Tania Lennon กรรมการบริหารของสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) เผยกับ Business Insider ว่า อายุ 35 เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เข้าสู่จุดสูงสุดของความสามารถในการสร้างรายได้ ซึ่งแนวโน้มนี้อาจสร้างปัญหาในสังคมจีนอย่างมีนัย หากผู้คนมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะสะสมทุนสำรองทางการเงิน

นอกจากนี้ คำสาปอายุ 35 ยังทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมากสำหรับคนทำงานด้านเทคโนโลยี ผลสำรวจโดยแพลตฟอร์มจัดหางาน Lagou Zhaopin เมื่อปีที่แล้วพบว่า 87% ของโปรแกรมเมอร์มีความกังวลกับการถูกไล่ออกหรือไม่สามารถหางานใหม่ได้หลังจากอายุ 35 ปี เป็นอย่างมาก

นโยบายการแทรกแซงจากรัฐบาล ปัญหาที่ใหญ่กว่าในวงการเทคจีน

ส่วนหนึ่งที่ผู้บริหารจีนส่วนใหญ่มีความชอบในคนทำงานรุ่นใหม่ อาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน ที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามของสหรัฐฯ กำลังประสบกับการชะลอตัว บริษัทเทคจีนที่เคยได้รับการยกย่องในด้านความก้าวหน้าใน AI ปัจจุบันกำลังตามหลังบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่างเช่น OpenAI ในด้าน Generative AI

ทำให้การนำคนรุ่นใหม่มาทำงานแทนที่ ด้วยค่าแรงที่ไม่สูงมากในตอนนี้เมื่อเทียบกับคนทำงานที่มีประสบการณ์และค่าแรงที่สูงกว่า ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่บริษัทเทคหลายรายทำ เพราะสามารถลดต้นทุนได้ในระดับหนึ่ง บวกกับความเชื่อที่ว่าคนรุ่นใหม่ไฟแรง สามารถทุ่มเทให้กับงานได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมเทคจีนจะพบว่า มีการขยายตัวเร็วเกินไปก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 และการปราบปรามของรัฐบาล นโยบายของประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน ที่ขัดขวางการพัฒนาภาคเอกชน และสร้างความหวาดกลัวในหมู่ผู้ประกอบการ การปราบปรามด้านกฎระเบียบ ควบคู่ไปกับการควบคุมการกำหนดลำดับความสำคัญของนวัตกรรมจากรัฐ ได้นำไปสู่การวางแผนของรัฐบาลที่อยู่เหนือกลไกของตลาด

ถึงแม้ว่าการแทรกแซงของรัฐบาลอาจส่งผลให้เกิดความสำเร็จในระยะสั้น แต่นวัตกรรมที่ยั่งยืนสามารถเติบโตได้เฉพาะในสภาพแวดล้อมของตลาดเสรีและเปิดกว้างเท่านั้น นักวิเคราะห์ยังเตือนด้วยว่า ภาคเทคโนโลยีที่ซบเซาอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ เว้นแต่จีนจะเปลี่ยนไปสู่แนวทางที่นำโดยตลาดมากขึ้น

นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ทำให้การพึ่งพาชิป AI จากต่างประเทศของจีน มีความท้าทายขึ้น และในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศก็กำลังดิ้นรนกับการผลิตชิปที่สามารถรองรับงานการฝึกอบรม AI ได้ด้วย

Nina Xiang กรรมการผู้จัดการ TH Capital เผยว่า นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก กำลังตั้งคำถามว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ได้หรือไม่ ในขณะที่ประเทศกำลังต่อสู้กับโมเมนตัมที่ลดลง นอกจากนี้ การลดลงของจำนวนยูนิคอร์นของจีน และการระดมทุนร่วมลงทุน ส่งสัญญาณถึงการหดตัวของบริษัทเทคโนโลยีที่กำหนดอนาคตในจีนด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัท AI ของจีนยังดำเนินงานในขนาดที่เล็กกว่าบริษัทของสหรัฐฯ อีกด้วย เช่น Baidu ผู้นำด้านโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ของจีน มีมูลค่าตลาด 33,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างรายได้จาก AI 91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 4/2023 เมื่อเทียบกับ OpenAI ที่มีมูลค่ามากกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ เมื่อปีที่แล้วมีรายได้ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยการฝึกอบรม LLM ขั้นสูงอาจมีค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าใช้จ่ายอาจสูงถึงระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไม่ช้า การฝึกอบรมที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้แต่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดของจีนก็ยังล้าหลัง

การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำสาปอายุ 35 เป็นหนึ่งในการเลือกปฏิบัติของบริษัทเทคหลายราย ด้วยความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมานาน บวกกับการแทรกแซงของรัฐบาลจีน ที่พยายามไล่ตามสหรัฐฯ ให้ทัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเกิดความหวาดกลัว แม้กระทั่งนักลงทุนเอง ยังต้องถอยออกมา

สุดท้ายแล้ว นายจ้างทั้งหลายอาจต้องมองในระยะยาวว่า การแข่งขันในตลาดแรงงานของเด็กรุ่นใหม่กำลังดุเดือด และต่อไปค่าแรงของคนกลุ่มนี้ก็จะสูงขึ้นตาม เพราะฉะนั้น การปลดคนที่มีอายุงานเยอะ อาจเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ถึงแม้ในตอนนี้อาจลดค่าใช้จ่ายได้ และในขณะเดียวกัน ยังสร้างความหวาดกลัวให้คนทำงานอีกมาก ทำให้บางคนเริ่มถอย และมองว่า ทำไปเท่าไหร่ สุดท้ายก็โดนปลดอยู่ดี

รับชมรายการ Tech-Trend ได้ที่

ที่มา: Financial Times, Business Insider, Reuters, First Post

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT