'Apple Vision Pro' นวัตกรรมที่คาดว่าจะมาเปลี่ยนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ กลับไม่ได้ปังอย่างที่คิด โดยในไตรมาสล่าสุด ยอดขายร่วงหนัก 75% และคาดว่าในปี 2024 ไม่สามารถแตะเป้าหมาย 500,000 ชิ้นแน่นอน
ย้อนไปเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเวลาที่หลายคนลุ้นรอคอยกับการเปิดตัวอุปกรณ์แกตเจ็ดที่ยิ่งใหญ่แห่งปี หรืออาจยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษก็ว่าได้ เพราะมันอาจเปลี่ยนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสังคมครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือ อุปกรณ์ใหม่ล่าสุดของ Apple ในรอบเกือบ 10 ปี อย่าง ‘Apple Vision Pro’
สำหรับสิ่งที่คาดหวัง กลับไม่เป็นไปตามหวัง เพราะนับตั้งแต่การเปิดตัวของ Vision Pro แทบไม่มีใครพูดถึงมันมากนัก เหมือนกับกระแสบนโลกโซเชียลที่มาไว แล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เป็นหัวข้อที่ผู้คนไม่สามารถหยุดพูดได้ แบบที่ iPhone เป็น
ไม่เพียงเท่านี้ รายงานของ IDC ยังชี้ว่า ยอดขายของ Vision Pro ภายในสหรัฐอเมริกาลดลง 75% ในไตรมาสล่าสุด สวนทางกับตลาด Mixed Reality ที่คาดว่า อัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปีอยู่ที่ 44.39% ระหว่างปี 2023-2033 และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5.73 ล้านล้านบาท ในปี 2033
มันเกิดอะไรขึ้น จากแว่นตาที่คาดว่าจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี กับไม่มีกระแสในวันนี้แล้ว Apple Vision Pro ยังไหวใช่หรือไม่? SPOTLIGHT สรุปให้แล้วในบทความนี้
Apple Vision Pro เป็นอุปกรณ์แว่นตาเทคโนโลยีความเป็นจริงแบบผสม (Mixed Reality) ที่รวบรวมเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality - VR) และเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented Reality - AR) ไว้ด้วยกัน ด้วยการใช้หน้าจอความละเอียดสูง เซนเซอร์จำนวนมาก และระบบเสียงสามมิติ
Vision Pro มีเป้าหมายเพื่อมอบประสบการณ์ดิจิทัลที่สมจริง ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้หลากหลาย ช่วยเพิ่มความบันเทิงโดยให้ผู้ใช้สามารถดูภาพยนตร์ เล่นเกม และเพลิดเพลินกับเนื้อหา VR ได้อย่างสมจริง ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แว่นตานี้มอบเดสก์ท็อปเสมือน เครื่องมือการทำงานร่วมกัน และโมเดลสามมิติที่ใช้งานง่ายและน่าสนใจ รวมทั้งสนับสนุนการประชุมเสมือนจริงและการสื่อสารแบบใหม่
นอกจากนี้ Vision Pro ยังมีประโยชน์ด้านการศึกษา มอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่สมจริงและการจำลองการฝึกอบรมในวิชาชีพ ในขณะที่ศิลปินและนักออกแบบสามารถสร้างและโต้ตอบกับโมเดลสามมิติและศิลปะดิจิทัลในสภาพแวดล้อมที่สมจริง
โดย Vision Pro ทำงานบน VisionOS ระบบปฏิบัติการเฉพาะที่สนับสนุนการใช้งานที่หลากหลายให้ผู้ใช้สามารถนำทางและโต้ตอบกับเนื้อหาดิจิทัลได้โดยการเคลื่อนไหวของดวงตา ท่าทางของมือ และคำสั่งเสียง ซึ่งระบบปฏิบัติการนี้ ยังสนับสนุนระบบแอปที่หลากหลายและรวมเข้ากับอุปกรณ์ Apple อื่นๆ และบริการต่างๆ อย่างเช่น iPhone, iPad, และ Mac อย่างราบรื่น
สำหรับ VisionOS ใช้เทคโนโลยีการคำนวณเชิงพื้นที่ขั้นสูงเพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมของผู้ใช้และจัดตำแหน่งเนื้อหาดิจิทัลให้เหมาะสม ทำให้ Apple Vision Pro เป็นอุปกรณ์แว่นตาผสมความเป็นจริงที่มีพลังสูงออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการโต้ตอบดิจิทัล ทำให้มันเป็นก้าวสำคัญในเทคโนโลยีความเป็นจริงผสม
IDC คาดว่า Apple Vision Pro จะไม่สามารถสลัดการขายที่ยังเชื่องช้าแบบนี้ หากไม่มีการเปิดตัวรุ่นที่ราคาถูกกว่าในปีหน้า หลังพบว่า นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ Vision Pro ยังไม่สามารถขายได้ถึง 100,000 ชิ้นในหนึ่งไตรมาส และกำลังเผชิญกับยอดขายในประเทศที่ลดลงสุงถึง 75% ในไตรมาสปัจจุบัน
ซึ่ง Apple เพิ่งเปิดการขาย Vision Pro ในประเทศจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายที่ซบเซาในสหรัฐอเมริกา
Francisco Jeronimo รองประธานของ IDC กล่าวว่า ต่อให้ Vision Pro มีรุ่นที่ราคาถูกลงก็ตาม แต่สุดท้ายนั้น ยอดขายที่ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับฟีเจอร์และเนื้อหาที่สามารถใช้งานร่วมได้ และการเผยแพร่เนื้อหาในท้องถิ่นก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
แน่นอนว่า การเปิดตัว Vision Pro ซึ่งตามมาด้วยผลลัพธ์ที่ไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ ได้กระตุ้นให้ฝ่ายบริหารของ Apple ได้คิดใหม่และกำลังวางแผนอุปกรณ์เวอร์ชั่นที่เป็นมิตรกับงบประมาณมากขึ้น ซึ่ง Jeronimo คาดว่า รุ่นที่มีราคาถูกลง จะกระตุ้นให้ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า เมื่อมาถึงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
ที่ผ่านมา ฟีดแบคของ Vision Pro จากผู้ใช้งานจริงในช่วงต้นนั้นมีความหลากหลาย เหล่านักรีวิวและผู้ใช้งานในช่วงแรกๆ จำนวนมากชื่นชมเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างไรก็ตาม แฟนตัวยงของ Apple บางคนก็ส่งคืนอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว
ล่าสุด SPOTLIGHT ได้รวบรวม 6 ปัจจัยที่ทำให้ผู้ใช้งานคืนสินค้า และคนที่ยังลังเลไม่ตัดสินใจซื้อ Apple Vision Pro ดังนี้ :
ที่มา Apple Newsroom, Apple Vision Pro, Bloomberg, CNET, Mac Rumors 1, Mac Rumors 2, Quartz, Road to VR, Spherical Insights, Tech Crunch, The Verge