ธุรกิจการตลาด

Intel พบขาดทุนหลังลูกค้าหันไปใช้ชิป NVIDIA-AMD จึงปลดพนักงาน 15,000 คน

2 ส.ค. 67
Intel พบขาดทุนหลังลูกค้าหันไปใช้ชิป NVIDIA-AMD จึงปลดพนักงาน 15,000 คน
ไฮไลท์ Highlight

Intel เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 15,000 คน หลังไตรมาส 2/2567 ผลประกอบการออกมา ขาดทุนสูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่คู่แข่งอย่าง AMD เปิดรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาลจากยอดขายชิป AI ที่แข็งแกร่ง

การแข่งขันในอุตสาหกรรมชิปดุเดือดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Intel เร่งลงทุนพัฒนาชิปรุ่นต่อไปและสร้างโรงงานผลิตของตนเอง เพื่อเผชิญกับ AMD และ NVIDIA หลังลูกค้าหันมาใช้ชิป AI สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ของ NVIDIA มากขึ้น

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ Intel ต้องเข้ามาลงแข่งขัน ในตลาดชิปที่ใช้ใน AI ซึ่งส่งผลกระทบต่อ รายได้ในไตรมาสที่ 2/2567 ลดลง 1% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.55 แสนล้านบาท และขาดทุนสุทธิถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณขาดทุน 5.7 หมื่นล้านบาท

ในขณะที่ AMD รายงานเมื่อวันอังคารว่า รายได้เพิ่มขึ้น 9% เป็น 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 19% เป็น 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากยอดขายชิปสำหรับศูนย์ข้อมูล AI ที่แข็งแกร่ง

ต้นทุนที่เพื่มขึ้น ทำให้ต้องปลดพนักงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย

Pat Gelsinger ซีอีโอ Intel กล่าวว่า “กำไรในไตรมาสที่ 2/2567 น่าผิดหวัง แม้จะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในแผนงานด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการ" ส่วน David Zinsner ซีอีโอฝ่ายการเงิน เผยว่า “การเร่งการผลิตผลิตภัณฑ์พีซีที่ใช้ AI ของ Intel บวกกับ ค่าใช้จ่ายในหน่วยธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักและกำลังการผลิตที่ไม่ได้ใช้ค่อนข้างสูง”

Intel จึงตั้งเป้าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาด ผ่านแผนการลดต้นทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 รวมถึงการลดจำนวนพนักงานลงอย่างน้อย 15,000 คน หรือคิดเป็น 15% ของพนักงานทั้งหมด หลังจากที่เคยปลดพนักงานกว่า 12,000 คนในปี 2559 ครั้งใหญ่

นอกจากนี้ Intel ยังจะเสนอโปรแกรมลาออกโดยสมัครใจ ให้กับพนักงานในบริษัทในสัปดาห์หน้า รวมทั้งประกาศข้อเสนอการเกษียณอายุเพิ่มเติมสำหรับพนักงานที่มีสิทธิ์ทั่วทั้งบริษัทอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทจะลดค่าใช้จ่ายสำหรับโรงงานและอุปกรณ์ใหม่ในปี 2567 ลงมากกว่า 20% และขณะนี้มีงบประมาณอยู่ระหว่าง 2.5-2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในปี 2568 ค่าใช้จ่ายจะอยู่ระหว่าง 2.0-2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Gelsinger กล่าวว่า รายได้ของ Intel ไม่ได้เติบโตตามคาด และบริษัทยังไม่ได้รับประโยชน์จาก AI ส่งผลถึงต้นทุนที่สูงเกินไป และอัตรากำไรที่ต่ำเกินไป บริษัทจึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งสองอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์ทางการเงินและแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งยากกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม Gelsinger กล่าวว่า การลงทุนในชิปพีซีที่ใช้ AI และการดำเนินงานของโรงหล่อจะคุ้มค่าในระยะยาว โดยได้จัดส่งพีซี AI ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ไปแล้วมากกว่า 15 ล้านเครื่องนับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนธันวาคม ซึ่งมากกว่าคู่แข่งทั้งหมดรวมกันหลายเท่า

ก่อนหน้านี้ Intel ได้ส่งสัญญาณว่า การลงทุนเพื่อกำหนดและขับเคลื่อนหมวดหมู่พีซี AI จะกดดันอัตรากำไรในระยะใกล้ แต่การแลกเปลี่ยนนั้นคุ้มค่า เพราะผลักดันให้พีซี AI เติบโตมากจึ้น จากเดิมน้อยกว่า 10% ของตลาดในปัจจุบัน เป็นมากกว่า 50% ในปี 2569

ปัจจัยจากรัฐฯ และการแข่งขันที่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ Intel เป็นผู้ผลิตชิปสัญชาติอเมริกันเพียงรายเดียวที่ยังคงดำเนินการโรงงานของตนเอง บริษัทได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุด 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินกู้ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำสมัย

โดยเป็นการจัดสรรเงินทุนครั้งใหญ่ที่สุดภายใต้ CHIPS และ Science Act การลงทุนในโรงหล่อของ Intel เองจะสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงโรงงานผลิตชิปและบรรจุภัณฑ์ชิปในแอริโซนา โอไฮโอ นิวเม็กซิโก และโอเรกอน ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

ถึงแม้รายได้จากโรงหล่อของ Intel เพิ่มขึ้น 4% ในรอบปีเป็น 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่บริษัทกลับสูญเสียรายได้จากการดำเนินงานไป 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูง

นอกจากนี้ Intel กล่าวว่า การเพิกถอนใบอนุญาตในการส่งออกผลิตภัณฑ์บางรายการไปยัง Huawei เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทในไตรมาสนี้ รวมถึงการควบคุมอื่นๆ ของสหรัฐฯ ในการส่งออกไปยังจีนจะยังคงมีผลกระทบเชิงลบเล็กน้อยในไตรมาสปัจจุบันจนถึงเดือนกันยายน

Huawei เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีรายชื่ออยู่ในควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ครั้งแรกในปี 2019 แต่บริษัทหลายแห่ง รวมถึง Intel ได้รับอนุญาตให้จัดส่งชิปที่ไม่ใช่ชิปชั้นนำบางรายการไปยังบริษัท ใบอนุญาตดังกล่าวมีกำหนดหมดอายุในช่วงปลายปีนี้ แต่ถูกเพิกถอนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ Huawei เปิดตัวแล็ปท็อปที่ใช้ AI เครื่องแรก MateBook X Pro ซึ่งขับเคลื่อนด้วยโปรเซสเซอร์ Core Ultra 9 ใหม่ของ Intel

ในขณะที่ NVIDIA เดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำในด้านชิป AI ทั้ง AMD และ Intel ต่างก็แข่งขันกันเพื่อชิงตำแหน่งที่ 2 และเดิมพันกับพีซีที่ใช้ AI แต่ยอดขายของ AMD มีโมเมนตัมการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่ามากในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

ที่มา Intel, TechCrunch, Nikkei Asia, Bloomberg, New York Times

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT