ธุรกิจการตลาด

พลังงานนิวเคลียร์ คือ พลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ ในภาวะสงคราม AI หรือไม่

15 ต.ค. 67
พลังงานนิวเคลียร์ คือ พลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ ในภาวะสงคราม AI หรือไม่

ในภาวะ ‘สงคราม AI’ และความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด บริษัทเทคโนโลยีระดับไฮเปอร์สเกลอย่าง Google, Amazon, Meta, และ Microsoft ต้องหาพลังงานไฟฟ้าที่มีคาร์บอนต่ำจำนวนมหาศาล และสามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่งโมง เพื่อให้ดาต้าเซ็นเตอร์ทำงานได้ต่อเนื่อง

'พลังงานนิวเคลียร์' จะเป็นพลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ในภาวะสงคราม AI ได้หรือไม่?

เห็นได้จากการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ในปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนประมาณ 4% ของพลังงานทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลของ Electric Power Research Institute และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเป็น 9% ภายในปี 2030

โดยปัจจุบันตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 3.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงถึง 10.1 ล้านล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตที่ 10.1% ต่อปี ทำให้ภายในปี 2030 มูลค่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเป็น 6.22 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 20.8 ล้านล้านบาท ตามข้อมูลของ P&S Intelligence

นี่คงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ ‘พลังงานนิวเคลียร์’ กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจากที่มีภาวะชะงักมมาในหลายสิบปี โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก เมื่อความต้องการ ‘พลังงานคาร์บอนต่ำ’ เพิ่มขึ้นมหาศาล จึงเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ในฐานะอีกหนึ่งแหล่งพลังงานที่มั่นคง และสามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน 

ล่าสุด Google ได้ประกาศลงนามข้อตกลงกับ ‘Kairos Power’ บริษัทสตาร์ทอัพ ด้านพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก 7 เครื่อง เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัท และคาดว่า จะช่วยเพิ่มพลังงานไฟฟ้าปลอดคาร์บอนได้ประมาณ 500 เมกะวัตต์ ในช่วงเวลาที่ความต้องการพลังงานสำหรับศูนย์ข้อมูลและ AI เพิ่มสูงขึ้น

พลังงานนิวเคลียร์สะอาดจริงหรือไม่?

‘พลังงานนิวเคลียร์’ ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เนื่องจากผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ได้เกือบเป็นศูนย์ รวมทั้ง ยังช่วยหลีกเลี่ยงการสร้างมลพิษทางอากาศที่เกี่ยวข้องกับการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อเป็นพลังงาน

นอกจากนี้ พลังงานนิวเคลียร์สามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ต่างจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ที่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สามารถจ่ายไฟฟ้าที่เสถียรและต่อเนื่องและมีความสำคัญ สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่ต้องการพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาการดำเนินงาน

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่บางแห่ง ได้รับการรับรองให้ดำเนินการได้ถึง 80 ปี นานกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซหรือถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหลายๆ แห่งมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลังงานนิวเคลียร์ช่วยลดความเข้มข้นของคาร์บอน ในช่วงเวลาที่แหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อาจไม่มีให้ใช้งานได้สะดวกนัก

Yann LeCun หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้าน AI ของ Meta กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูล AI จะถูกสร้างขึ้นใกล้กับสถานที่ผลิตพลังงานที่สามารถผลิตไฟฟ้าในระดับกิกะวัตต์ มีต้นทุนต่ำ และปล่อยมลพิษต่ำได้อย่างต่อเนื่อง โดยพื้นฐานแล้ว จะอยู่ติดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 

บิ๊กเทคฯ​ หันมาลงทุนพลังงานนิวเคีลยร์

เมื่อเดือนที่ผ่านมา Microsoft ได้ประกาศการฟื้นคืนชีพโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างที่เมือง Three Mile Island รัฐเพนซิลเวเนีย โดยนักลงทุนคาดว่า การลงทุนของบิ๊กเทคฯ ในครั้งนี้ อาจกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโรงงานนิวเคลียร์แห่งใหม่เพิ่มมากขึ้น 

ในขณะที่ Amazon ลงทุน 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.17 หมื่นล้านบาท ในเดือนมีนาคม เพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ข้างๆ โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ Susquehanna Steam Electric ในรัฐเพนซิลเวเนียเช่นกัน

เช่นเดียวกับ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ที่กำลังลงทุนในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์รุ่นต่อไป โดยสนับสนุนบริษัทที่สร้างเครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็ก ที่ใช้เทคโนโลยีระบายความร้อนด้วยเกลือหลอมเหลว และตกลงที่จะซื้อพลังงานเมื่อโรงไฟฟ้าเหล่านี้เริ่มจ่ายไฟให้กับระบบไฟฟ้าของสหรัฐฯ ผ่านการลงนามข้อตกลงระหว่าง Google และ Kairos Power 

โดยในช่วงที่บริษัทกำลังสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในทศวรรษหน้า Michael Terrell ผู้อำนวยการอาวุโสด้านพลังงานและสภาพอากาศของ Google คาดว่า การจ่ายไฟจะเริ่มขึ้นจริงระหว่างปี 2030-2035

ส่วน Arthur Hyde จาก Segra Capital กล่าวว่า ทั้งรัฐบาลและสถาบันการเงินมีแนวทางที่จะลงทุนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ ทำให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นครั้งแรกที่ตนค่อนข้างมั่นใจว่า จะได้เห็นการประกาศเกี่ยวกับกำลังการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ในสหรัฐฯ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

ข้อกังวลของประชาชน

ในขณะที่ประเทศต่างๆ เช่น ‘จีน’ และ ‘เกาหลีใต้’ ได้ขยายกำลังการผลิตพลังงานนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ใน ‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘ยุโรป’ กลับชะลอตัวลงอย่างมาก

ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 สหรัฐอเมริกาได้สร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพียงสามเครื่องเท่านั้น โดยหนึ่งในปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความซบเซานี้ คือ แนวโน้มของโครงการนิวเคลียร์ที่ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงเกินจริง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและดำเนินการได้ยาก

นอกจากนี้ อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ในหลายครั้ง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความไม่ไว้วางใจในเทคโนโลยี เช่น อุบัติเหตุนิวเคลียร์เกาะทรีไมล์ ในปี 1979 การระเบิดของ ‘เชอร์โนบิล’ ในปี 1986 และภัยพิบัติฟุกุชิมะที่เกิดขึ้นภายหลังแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ในปี 2011

ผลสำรวจของ Pew Research พบว่า ชาวอเมริกัน 56% สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ แต่ 44% ยังคงคัดค้าน แม้ว่าการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์จะใกล้ถึงจุดสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้คนจำนวนมากกลับสนับสนุนพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยี 2 ประเภทที่มีอยู่ในปัจจุบัน และมีราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่มาก

ความซับซ้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ มักผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ หรือเพียงพอสำหรับให้บ้านหลายแสนหลังได้ แต่โครงการเหล่านี้กลับมีความซับซ้อน และใช้เวลานานในการพัฒนา การวางแผนเพียงอย่างเดียวใช้เวลานานหลายปี และการก่อสร้างมักกินเวลานานเกือบทศวรรษ 

ความท้าทายด้านโครงสร้าง และ “ใครจะเต็มใจแบกรับความเสี่ยงสูงของโครงการนิวเคลียร์?” นั้น อาจใช้เวลานานกว่ากำหนดหลายปี และเกินงบประมาณเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

Todd Noe ผู้อำนวยการด้านนิวเคลียร์ของ Microsoft เผยว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่บริษัทเทคโนโลยียินดีทำเพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ คือ การเสนอสัญญาในระยะยาวในราคาที่ดีสำหรับพลังงานนิวเคลียร์  

แต่สำหรับ Ahmet Tokpinar ผู้จัดการทั่วไปของธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ Bechtel นั่นอาจไม่เพียงพอ โดยมองว่า ถึงแม้บริษัทเทคโนโลยีจะเต็มใจที่จะทำ ‘สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว’ (Power Purchase Agreement - PPA) แต่ข้อตกลงนี้ อาจไม่เพียงพอต่อการระดมทุนสำหรับโครงการนิวเคลียร์ในระยะเริ่มต้น 

โครงการพลังงานนิวเคลียร์ต้องเผชิญกับต้นทุนล่วงหน้าจำนวนมาก และความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในระหว่างการพัฒนา แม้ว่า PPA จะช่วยรักษาตลาดพลังงานไว้ได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยครอบคลุมการลงทุนด้านทุนที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างโรงงาน หรือดูดซับความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้น

Tokpinar ยังเชื่อว่า บริษัทเทคโนโลยีต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่เกิดขึ้นได้จริง บริษัทเหล่านี้มีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง หากขาดการมีส่วนร่วมของบริษัทเหล่านี้ การหาผู้ลงทุนรายใหญ่รายอื่นเพื่อสนับสนุนโครงการที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวก็คงเป็นเรื่องท้าทาย

ที่มา Financial Times, Bloomberg, Tech Crunch 1, Tech Crunch 2, National Grid, PS Market Research

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT