Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
กิมจิ จากเครื่องเคียงที่มีทุกบ้าน สู่ Soft power ดังระดับโลก
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

กิมจิ จากเครื่องเคียงที่มีทุกบ้าน สู่ Soft power ดังระดับโลก

22 พ.ย. 67
15:56 น.
|
596
แชร์

“พวกเราก็น่าจะคุ้นเคยกับการกินกิมจิกันมาเยอะแล้ว วันนี้มาลองลงมือทำบ้าง ก็ขอให้ทุกท่านสนุกกับกิจกรรมนะครับ” นี่คือประโยคทิ้งท้ายที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวในงาน ฉลองวันกิมจิของเกาหลีใต้ ก่อนที่จะลงจากเวทีไปสวมผ้ากันเปื้อนและถุงมือ ขยำพริกเกาหลี เครื่องปรุง กับผักกาดขาวอย่างสนุกสนานกับผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมอีกหลายร้อยคน 

เนื่องในโอกาส “วันกิมจิ” ซึ่งตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายนของทุกปี สถานทูตเกาหลีและศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย ได้จัดงาน Bangkok in love with Kimchi ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยที่สนใจเข้ามาเรียนรู้วิธีการหมักกิมจิผักกาดขาว เครื่องเคียงเกาหลีที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งการจัดงานในปีก่อน ๆ นั้น มีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างล้นหลาม ในปีนี้ จึงขยายกิจกรรมให้รองรับผู้ร่วมงานได้มากขึ้น

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี เปิดเผยว่า คลาสเรียนทำกิมจิในปีนี้ เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนมากถึง 500 ที่นั่ง ซึ่งผลตอบรับการลงทะเบียนถือว่าเกินคาด มีผู้ให้ความสนใจอยากสมัครเข้ามามากกว่าโควต้าที่กำหนดไว้ ซึ่งปีนี้จะต้องจัดสถานที่ทำกิจกรรม ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จึงจะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้อย่างไม่แออัด 

ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่คุ้นเคยกับอาหารเกาหลี โดยผู้ที่เข้าร่วมงานมีตั้งแต่นักเรียน-นักศึกษา ที่ชอบรับประทานอาหารเกาหลีอยู่แล้ว โดยเฉพาะปิ้งย่างเกาหลี ก็จะมีโอกาสได้ลองรับประทานกิมจิเป็นผักเครื่องเคียง รวมไปถึงกลุ่มวัยกลางคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมเกาหลี โดยเฉพาะสื่อบันเทิง ทั้งศิลปิน K-pop ซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลี และยังเคยไปเที่ยวเกาหลีใต้ด้วย วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้การทำอาหารเกาหลีแบบง่าย ๆ 

สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุก็สมัครเข้ามาเรียนทำกิมจิกันเป็นจำนวนมาก โดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เนื่องจากกิมจิเป็นผัก-ผลไม้ จึงอุดมไปด้วยวิตามิน และยังช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหารได้ดี วันนี้จึงมาเอาสูตรกิมจิจากกิจกรรม แถมยังได้กิมจิกล่องใหญ่กลับบ้านไปแจกจ่ายหรือเก็บไว้กินได้อีกหลายเดือน ขณะที่กิมจิที่หมักขึ้นในวันนี้จำนวนครึ่งหนึ่งจะมีการนำไปบริจาคให้กับชุมชนใกล้เคียงด้วย

“วันกิมจิ” ที่เกาหลีใต้ทำอะไรกัน? ทำไมต้องมีวันกิมจิ?

“กิมจิ” ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องเคียงที่ทำจากผักดอง กินแกล้มกับอาหารจานหลักอย่างเนื้อสัตว์ย่าง หรือบะหมี่ เท่านั้น แต่ยังเป็นอาหารที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวเกาหลีมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน เนื่องจากฤดูหนาวของเกาหลีมีความยาวนาน ช่วงเวลาการเพาะปลูกจึงมีอย่างจำกัด ผักผลไม้สดหายาก ชาวบ้านจึงจำเป็นจะต้องถนอมผักเอาไว้รับประทานทั้งปี จนเกิดประประเพณีที่คนในชุมชนหรือในครอบครัวออกมาช่วยกันลงแรงดองกิมจิในภาชนะดินเผาด้วยกัน

สำหรับ “วันกิมจิ” ถูกกำหนดขึ้นเป็นวันที่ 22 พฤศจิกายนของทุกปีโดยรัฐบาลเกาหลีใต้นั้น ก็มีความสำคัญเกี่ยวกับฤดูกาลและความหมายที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ เนื่องจากเดือนพฤศจิกายน จะเป็นเดือนสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่ฤดูหนาวอันยาวนานในเกาหลีใต้ และยังเป็นเดือนสิ้นสุดฤดูกาลเกษตกรรมด้วย จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดองกิมจิ ขณะที่ตัวเลขวันที่ 22 ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงประโยชน์ด้านโภชนาการทั้ง 22 ประการ ส่วนเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนที่ 11 เป็นสัญลักษณ์ของส่วนผสมสำคัญ 11 อย่างในการทำกิมจินั่นเอง 

กิมจิ Soft Power สุดปัง รู้จักกันไปทั่วโลก

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศเพิ่มประเพณีการทำกิมจิของเกาหลีให้อยู่ในรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเกาหลีเดินหน้าผลักดันให้กิมจิเป็นซอฟท์พาวเวอร์ ( Soft Power ) ของประเทศอย่างจริงจังมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ทำให้กิมจิเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเองก็นิยมรับประทานอาหารเกาหลีมากขึ้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา

นายฮัม จองฮัน อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ร้านอาหารเกาหลีไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่มีอยู่เกือบทุกที่ในประเทศไทย ซึ่งในบรรดาอาหารเกาหลีทั้งหมด กิมจินับเป็นหนึ่งในเมนูที่ครองใจคนไทย นอกจากนี้ ท่านทูตยังเคยเห็นคนไทยนำวัตถุดิบท้องถิ่นอย่าง มะละกอดิบ มาปรับใช้กับการทำกิมจิ ถือเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์

หากวัดจากตัวเลขการส่งออกกิมจิจากเกาหลีใต้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่า เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพากิมจิเข้าสู่เวทีโลก โดยในปี ค.ศ. 2021 นับเป็นปีที่การส่งออกกิมจิทำ New High สูงถึง 42,540 ตัน มูลค่าสูงถึง 160 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,500 ล้านบาท ส่วนในปีครึ่งปีแรกของปีนี้ (ค.ศ. 2024) มีการส่งออกกิมจิไปแล้วกว่า 23,900 ตัน มูลค่า 83.8 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2,900 ล้านบาทไทย สูงกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันถึง 4.8%

นี่คือผลพวงของการเอาจริงเอาจังและการทำงานหนักในด้านการผลักดันวัฒนธรรมเป็นซอฟท์พาวเวอร์ ซึ่งประเทศไทยเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับการผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่แน่ว่าของหมักดองขึ้นชื่ออย่าง กะปิ ปลาร้า มีโอกาสก้าวสู่เวทีโลกได้เช่นกัน


แชร์
กิมจิ จากเครื่องเคียงที่มีทุกบ้าน สู่ Soft power ดังระดับโลก