หลังจากเสร็จสิ้นพิธีสาบานตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวปราศรัยครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง เน้นย้ำประเด็นการกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมายหลายล้านคน โดยสหรัฐฯ จะส่งพวกเขากลับไปยังประเทศต้นทาง ทรัมป์ยังได้ลงนามในคำสั่งพิเศษหลายฉบับเพื่อดำเนินการด้านกฎหมายกับผู้อพยพและกระชับมาตรการตรวจคนเข้าเมืองให้เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังยุติการใช้แอปพลิเคชันที่ชายแดนชื่อ CBP One ทันที ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวเคยอนุญาตให้ผู้อพยพเข้าสู่สหรัฐฯ ได้อย่างถูกกฎหมาย และเริ่มกระบวนการยุติการให้สัญชาติโดยกำเนิด และล่าสุด ประธานาธิบดีคนใหม่ประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายเมืองบริเวณพรมแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโกด้วย
ในการปรากฏตัวครั้งแรกจากห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประกาศ "สถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ" ซึ่งจะนำไปสู่การจัดส่งกองทหารสหรัฐไปยังชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่เชื่อมต่อกับเม็กซิโก โดยคำสั่งฝ่ายบริหารระบุว่า “เนื่องจากความร้ายแรงและภาวะฉุกเฉิน รวมถึงภัยคุกคามในปัจจุบัน กองทัพจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเหมาะสเพื่อสนับสนุนกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิในการควบคุมปฏิบัติการของพรมแดนทั้งหมด
ทรัมป์ยังลงนามในคำสั่งกำหนดให้กลุ่มค้ายาเป็นองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ และลงนามในคำสั่งให้กลับมาสร้างกำแพงสูงตามแนวชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกอีกครั้ง ซึ่งเขาใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลระหว่างการบริหารประเทศของเขาในสมัยแรก ซึ่งโจ ไบเดนกลับระงับโครงการไป หลังขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากทรัมป์ในสมัยแรก โดยทรัมป์กล่าวว่า “การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทั้งหมดจะถูกหยุดยั้งทันที และสหรัฐฯ จะเริ่มกระบวนการส่งตัวคนต่างด้าวที่ก่ออาชญากรรมจำนวนหลายล้านคนกลับไปยังสถานที่ที่พวกเขาจากมา”
ตามข้อมูลของทางการท้องถิ่น มีศูนย์พักพิงกว่า 30 แห่งที่ตั้งอยู่ในเมืองชายแดนเม็กซิโก ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐบาฮากาลิฟอร์เนีย ของเม็กซิโก ด้านเจมี มาริน ผู้อำนวยการศูนย์พักพิงแห่งหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าว มีความกังวลว่าการเนรเทศครั้งใหญ่ของทรัมป์อาจก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม เพื่อเตรียมรับมือกับการหลั่งไหลของผู้อพยพเข้าสู่เมือง เจ้าหน้าที่ในเมืองติฮัวนาจึงประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
ภาวะฉุกเฉินดังกล่าว เป็นการเคลื่อนไหวทางการบริหารที่ช่วยให้เมืองชายแดนเหล่านี้ สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อเช่าพื้นที่ และชำระค่าบริการทางกฎหมาย บุคลากร อุปกรณ์ และสิ่งของต่างๆ อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีเมืองติฮัวนา อิสมาเอล บูร์เกโญ รูอิซ กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าเมืองติฮัวนา “ไม่ได้ตื่นตระหนก” และเรียกมาตรการนี้ว่าเป็น “การป้องกัน” ในกรณีที่ทรัมป์ “ทำในสิ่งที่เขาพูดว่าจะทำจริงๆ” บูร์เกโญกล่าวว่าติฮัวนาได้เตรียมพื้นที่ไว้รองรับในกรณีที่มีผู้ถูกเนรเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
CBP One เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ ( CBP) ซึ่งริเริ่มขึ้นมาในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน มุ่งเน้นการลดจำนวนของผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายและปราบปรามการหลบหนีเข้าเมือง โดยให้ผู้อพยพลงทะเบียนแจ้งความจำนงขอลี้ภัยในสหรัฐฯ ระบบจะสุ่มนัดหมายผู้ที่ลงทะเบียนวันละ 1,450 คน ผู้สนับสนุนกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวช่วยสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับชายแดนที่วุ่นวาย ส่วนชาวอเมริกันบางส่วนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการดึงดูดให้ผู้อพยพเดินทางมายังสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายมากขึ้น เพราะมีช่องทางเล็ก ๆ นี้
อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากทรัมป์สาบานตนขึ้นรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ แอปพลิเคชันดังกล่าวก็ถูกปิดลงแบบสายฟ้าแลบ ทำให้ผู้อพยพหลายคนถึงกับตื่นตระหนก เพราะสำหรับบางคนแล้ว อีกไม่กี่นาที เขาก็จะมีโอกาสเข้ามาพำนักให้สหรัฐอเมริกาได้เป็นการชั่วคราว
สำนักข่าว AP รายงานว่า มาร์เจลิส ติโนโก ผู้ลี้ภัยชาวโคลอมเบีย วัย 48 ปี ถึงกับร่ำไห้ ขณะที่เธอติดอยู่ตรงชายแดนสหรัฐฯ และเมืองซิวดัดฮัวเรซ ประเทศเม็กซิโก รวมถึงเมลานี เมนโดซา วัย 21 ปี และแฟนหนุ่มของเธอเล่าว่า พวกเขาอพยพออกจากเวเนซุเอลามาเป็นเวลาปีกว่า และตั้งใจมาขอลี้ภัยในสหรัฐฯ โดยเดินทางในเม็กซิโกเป็นเดือน และเดินเท้าทางชายแดนเต็ม 3 วัน แต่ตอนนี้พวกเขาไม่รู้แล้วว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตต่อดี
ทรัมป์กำลังดำเนินการตามคำมั่นสัญญาของเขาในการเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายในสหรัฐฯ อย่างน้อย 11 ล้านคน โดยการดำเนินคดีกับทุกคน นอกจากนี้ เขายังต้องการให้รัฐบาลระดับท้องถิ่นออกมาตรการเข้มงวดเพื่อกวาดล้างผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอย่างเข้มงวด และผู้นำหลายรัฐทั่วประเทศได้ให้การตอบรับกับคำสั่งดังกล่าวแล้ว รวมถึงการยกเลิกสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางแก่บางรัฐ หากถูกมองว่าเป็น “สถานที่ปลอดภัย” สำหรับผู้อพยพยผิดกฎหมาย
AP รายงานว่า โรซิโอ แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 43 ปีจากเม็กซิโกที่อาศัยอยู่ในฟลอริดาตอนใต้ กล่าวว่าเธอเป็นห่วงลูกชายวัย 13 ปีของเธอ พ่อของลูกชายถูกเนรเทศเมื่อเด็กชายยังเป็นทารก และเขาก็กลัวว่าเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นกับเธออีกครั้ง
เออร์ลินดา คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจากเอลซัลวาดอร์ที่เดินทางมาถึงในปี 2013 ได้ลงนามมอบสิทธิทางกฎหมายในการเลี้ยงดูลูกๆ ที่เกิดในสหรัฐฯ อายุ 10 และ 8 ขวบ ให้กับโนรา ซานดิโก ซึ่งสมัครใจเป็นผู้ปกครองเด็กมาแล้วกว่า 2,000 คนในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเด็กอย่างน้อย 30 คนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม เธอกลัวแทนลูก ๆ ของฉันว่าพวกเขาจะต้องหวาดกลัวเพราะไม่ได้พบหน้าแม่ในวันหนึ่ง