ผู้พิพากษาสหรัฐฯมีคำสั่งระงับแผนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะพักงานโดยไม่ให้ค่าจ้างแก่พนักงานของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) 2,200 คน โดยผู้พิพากษาคาร์ล นิโคลส์ ระบุว่า เขาจะออกคำสั่งห้ามชั่วคราวไปก่อน หลังมีสหภาพแรงงานยื่นฟ้องกรณีดังกล่าว เพื่อคัดค้านแผนการให้พนักงานหลายพันคนต้องหยุดงานตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ USAID ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ดูแลด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มีพนักงานราว 10,000 คน โดยสองในสามทำงานในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบชัดเจนว่า พนักงานที่เหลือจะได้รับผลกระทบอย่างไร
ตามแผนของทรัมป์ จะเหลือพนักงานเพียง 611 คนที่ยังคงทำงานในหน่วยงานนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ไปถอดป้ายและใช้ผ้าคลุมป้ายของ USAID บริเวณสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เอาไว้
ทรัมป์ให้เหตุผลว่า USAID ใช้เงินภาษีของประชาชนไม่คุ้มค่า โดยหน่วยงานนี้เป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่ฝ่ายบริหารภายใต้การนำของทรัมป์กำลังพุ่งเป้าไปที่การตัดลดงบประมาณ พรรครีพับลิกันภายใต้การนำของทรัมป์หาเสียงโดยชูนโยบายปฏิรูปภาครัฐ และได้จัดตั้งหน่วยที่ปรึกษาชื่อ กระทรวงประสิทธิภาพภาครัฐ หรือ Doge ขึ้นมา นำโดยอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยี เพื่อมาตัดลดงบประมาณของรัฐบาล
คำตัดสินของผู้พิพากษาคาร์ล นิโคลส์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมามีขึ้น หลังจากสมาคมบริการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (American Foreign Service Association) และสหพันธ์พนักงานรัฐบาลอเมริกัน (American Federation of Government Employees) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนของพนักงาน USAID ยื่นคำร้องฉุกเฉินเพื่อขอให้ศาลระงับแผนพักงานดังกล่าว
บรรดาสหภาพแรงงานที่ยื่นฟ้องให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าพวกเขากำลังรอคำสั่งศาลอย่างเป็นทางการเพื่อดูว่าพนักงานทุกคนของ USAID จะได้รับผลกระทบอย่างไร อย่างไรก็ตาม ลอเรน เบตแมน ทนายความจากกลุ่มสนับสนุน Public Citizen ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมยื่นฟ้อง กล่าวว่า ขณะนี้พนักงานที่จ้างโดยตรงมากกว่า 2,000 คนของ USAID ที่อยู่ในสหภาพแรงงานน่าจะยังปลอดภัยจากแผนพักงานของรัฐบาล แต่มีพนักงาน USAID ประมาณ 500 คน ได้ถูกสั่งพักงานไปแล้วภายใต้การบริหารของทรัมป์
การระงับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบต่อโครงการสำคัญทั่วโลก เช่น โรงพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัยไทย การกวาดล้างทุ่นระเบิด และการแจกจ่ายยารักษาโรคเอดส์ให้กับผู้ป่วยหลายล้านคน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งระงับงบประมาณผ่านหน่วยงาน USAID เป็นเวลา 90 วัน เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องกับนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน"
ค่ายผู้ลี้ภัยริมชายแดนไทยได้รับผลกระทบโดยตรง หลังสหรัฐฯ หยุดสนับสนุนเงินให้คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (IRC) ส่งผลให้คลินิกรักษาผู้ลี้ภัยจากเมียนมากว่า 100,000 คนต้องปิดตัว ขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศยืนยันว่าสหรัฐฯ ยังคงให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ลี้ภัยโรฮิงญากว่า 1 ล้านคน แม้ความช่วยเหลืออื่นๆบางอย่างจะระงับไปแล้วก็ตาม
หน่วยงานด้านมนุษยธรรมและสหประชาชาติเตือนว่า หากการระงับความช่วยเหลือกลายเป็นมาตรการถาวร อาจเกิดวิกฤตด้านอาหาร ที่พักพิง และบริการทางการแพทย์ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
BBC ,