ตามรายงานล่าสุดจากสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า จีนครองอันดับหนึ่งของโลก เรื่องจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Lung Adenocarcinoma) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยอาจเป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง
สำหรับมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา กลายเป็นชนิดของมะเร็งปอดที่พบได้ทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยพบว่า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในผู้หญิง
งานวิจัยนี้ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Respiratory Medicine ระบุว่า มะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมาที่เกิดจากมลพิษฝุ่นละอองในอากาศ พบมากที่สุดในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในประเทศจีน โดยในปี 2022 กว่า 68 % ของผู้ป่วยมะเร็งอะดีโนคาร์ซิโนมาที่เป็นผู้ชายทั่วโลก อยู่ในประเทสจีน ขณะที่ผู้ป่วยหญิงในจีนคิดเป็นมากกว่า 70% ของผู้ป่วยทั่วโลกในกลุ่มผู้หญิง
งานวิจัยดังกล่าวคาดว่า อาจมีความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองกับมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา โดยเฟรดดี เบรย์ นักวิจัยหลัก เปิดเผยว่า พวกเขาทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงในแต่ละประเทศ ผ่านคนรุ่นต่างๆ และประเมินความเป็นไปได้ของภาระที่จะเกิดขึ้นจากมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับมลพิษฝุ่นละออง PM ในอากาศ โดยผลการศึกษานี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับวิวัฒนาการของโรคและปัจจัยเสี่ยงพื้นฐาน ซึ่งช่วยให้เราเห็นแนวทางในการป้องกันมะเร็งปอดทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลมะเร็งทั่วโลกในปี 2022 พบว่ามะเร็งอะดีโนคาร์ซิโนมาได้กลายเป็นรูปแบบหลักของมะเร็งปอด แทนที่มะเร็งชนิดสเควมัสเซลล์คาร์ซิโนมา (Squamous Cell Carcinoma)
โดยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะมาจากรูปแบบการสูบบุหรี่ที่เปลี่ยนไปและการเผชิญกับมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าผู้ชาย 114,486 ราย และผู้หญิง 80,378 รายที่ป่วยเป็นมะเร็งนี้ มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ โดยเอเชียตะวันออกเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
มลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศทั่วโลก เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนับล้านคนต่อปี และก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมมหาศาลคิดเป็นเงินหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่ามลพิษจากฝุ่นละอองจะลดลงอย่างมากหลังปี 2011 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน แต่รายงานของ Nature Communications ในปี 2023 ระบุว่า อินเดียได้กลายเป็นผู้ก่อมลพิษ PM2.5 รายใหญ่ที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2015
แม้อัตราการสูบบุหรี่จะลดลงในหลายประเทศทั่วโลก แต่อัตราส่วนของผู้ป่วยมะเร็งปอดในกลุ่มที่ไม่เคยสูบบุหรี่กลับเพิ่มขึ้น โดยมะเร็งปอดในกลุ่มนี้กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ห้าของมะเร็งทั้งหมด
เกือบทุกกรณีของผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่เคยสูบบุหรี่เป็นมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา ซึ่งยังเป็นมะเร็งปอดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงและผู้อยู่อาศัยในเอเชียตะวันออก
จำนวนผู้สูบบุหรี่ในจีนลดลงอย่างมากตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่ในปี 2012 มะเร็งปอดได้แซงหน้ามะเร็งตับขึ้นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับหนึ่งในจีน
อัตราการสูบบุหรี่ในผู้ใหญ่ชาวจีนลดลงจาก 28.1% ในปี 2010 เหลือ 24.1% ในปี 2022 สำหรับผู้ชายที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนในผู้หญิง อัตราการสูบบุหรี่ในปี 2019 อยู่ที่ 3.5% ลดลง 20.9% จากปี 1990
รายงานในปี 2022 จากศูนย์มะเร็งแห่งชาติจีนระบุว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 2.5742 ล้านคนในปีนั้น มี 733,300 คนเสียชีวิตจากมะเร็งปอด และ 316,500 คนเสียชีวิตจากมะเร็งตับ
นอร์แมน เอเดลแมน ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงประเภทของมะเร็งปอดเป็น "ปริศนาที่ซับซ้อน" มีหลักฐานชัดเจนว่ามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด และเริ่มเห็นว่าผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เป็นมะเร็งปอดมากขึ้นแม้ว่าจะไม่เคยสูบบุหรี่เลย โดยทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันเกี่ยวกับสาเหตุของมะเร็งหลายชนิดคือ ‘ทฤษฎีการอักเสบ’ ซึ่งหมายความว่าสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ปอดและก่อให้เกิดการอักเสบ จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเคมีหลายชนิดเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นทั้งจากควันบุหรี่และมลพิษทางอากาศ