Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จีนเร่งเครื่องปราบสแกมเมอร์ หลัง 2024 "จีนต้มจีน" สูญ 1,500 ล้านเหรียญ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

จีนเร่งเครื่องปราบสแกมเมอร์ หลัง 2024 "จีนต้มจีน" สูญ 1,500 ล้านเหรียญ

18 ก.พ. 68
15:44 น.
|
303
แชร์

The Irrawaddy สำนักข่าวเมียนมา รายงานการตรวจเยี่ยมพื้นที่แหล่งฉ้อโกงในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง บริเวณชายแดนติดกับประเทศไทย โดยมีหลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน เข้าพบกับเหยื่อต่างชาติที่ถูกหลอกมาทำสแกมเมอร์ ก่อนที่รัฐบาลเมียนมาจะส่งตัวพวกเขากลับประเทศต้นทาง พร้อมกันนี้ยังมีพลตรี ออง จอ จอ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของคณะทหารเมียนมา และตัวแทนจากประเทศไทยร่วมด้วย 

จีนเร่งเครื่องปราบแก๊งสแกมเมอร์

พื้นที่แก๊งสแกมเมอร์ดังกล่าวอยู่ในการควบคุมของกองกำลังป้องกันชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) นำโดยพล.ต.หม่องชิต ตู่ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่มรัฐประหาร ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเตรียมออกหมายจับนายหม่อง ชิตตู่ ในฐานะเลขาธิการบีจีเอฟ และผู้นำกลุ่มรัฐประหารอีก 2 คน เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังขบวนการฉ้อโกงเมียวดี อย่างไรก็ตาม กลุ่มรัฐประหารเมียนมายังไม่ได้ระบุว่าจะจัดการกับผู้นำกองกำลังติดอาวุธนี้อย่างไร

ทั้งนี้ ไม่กี่วันก่อนลงพื้นที่ในเมียวดีครั้งนี้ นายหลิว จงอี้ ได้เข้าพบกับนายตาน ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และพลเอกตุน ตุน นอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในกรุงเนปิดอว์ เพื่อหารือแนวทางปราบปรามแก๊งสแกมเมอร์ การส่งตัวเหยื่อกลับประเทศ การส่งตัวผู้ต้องสงสัยที่จีนต้องการตัว และการประชุมระดับสูงระหว่างจีน เมียนมา และไทย

ในวันที่ 19 ก.พ. 68 นี้ นายหลิว จงอี้ มีกำหนดการเดินทางมายังประเทศไทย โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ พล.อ.ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี เลขานุการ รมว.กลาโหม เป็นผู้แทนต้อนรับ ซึ่งฝ่ายจีนได้เสนอแนวทาง 4 ข้อ เพื่อร่วมมือกับไทยและเมียนมาในการจัดการกลุ่มอาชญากรรมอย่างจริงจัง ครอบคลุมตั้งแต่การตั้งภาคีไทย-จีน-เมียนมา ร่วมมือปราบปรามแก๊งอาชญากร เดินหน้ามาตรการตัดไฟ-อินเทอร์เน็ต-น้ำมัน ป้องกันการหลบหนีไปตั้งฐานที่อื่น และ อำนวยความสะดวกในการส่งคนจีนกลับประเทศ โดยจีนจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบข้อมูลและดูแลกระบวนการตั้งแต่ชายแดนจนถึงสนามบิน

การส่งตัวหลิว จงอี้ มือปราบทุจริตอันดับต้น ๆ ของจีนมาดูแลแก้ปัญหาแก๊งสแกมเมอร์ที่ชายแดนไทย-เมียนมาด้วยตนเองแบบนี้ สะท้อนว่ารัฐบาลจีนต้องการเร่งปราบปรามอาชญากรข้ามชาติที่มีจีนเทาอยู่เบื้องหลังอย่างเอาจริงเอาจัง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้การแก้ภาพลักษณ์ของจีนเทาในต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าจีนได้รับผลกระทบจากการฉ้อฉลของกลุ่มนี้เช่นกัน ซึ่งนับเป็นมูลค่ามหาศาลไม่แพ้ไทย

จีนเสียเงินให้แก๊งสแกมเมอร์มากเป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 2024

พันธมิตรต่อต้านการหลอกลวงโลก  หรือ GASA พบว่า การหลอกลวงกำลังกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น และการสำรวจที่ดำเนินการโดยองค์การดังกล่าวในปี 2024 ซึ่งไปสอบถามผู้คน 58,329 คน พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้คนทั่วโลกพบกับการหลอกลวงอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง อย่างในประเทศจีน เมื่อปี 2024 ประชาชนสูญเงินให้แก๊งสแกมเมอร์มากถึง 1,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันดับ 6 ของโลก ทั้งที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในประเทศจีนมากถึง 84 % บอกว่า  พวกเขาสามารถระบุการหลอกลวงได้ก็ตาม

ผลกระทบทางการเงินจากการหลอกลวงนั้นมหาศาล โดยคาดการณ์ว่าในปี 2024 การหลอกลวงทั่วโลกทำให้สูญเสียเงินถึง 1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯสูญเสียเงินให้แก๊งสแกมเมอร์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ในจำนวน 3,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยเดนมาร์กอันดับสอง 3,067 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สโลวาเกียเป็นอันดับสาม สูญเสียเงิน 2,738 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิงคโปร์อันดับสี่ 2,428 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรอันดับห้า 1,818 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยเป็นอันดับเก้า 1,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

รู้จัก “ฟาร์มหมู” วิธีหลอกเหยื่อของแก๊งสแกมเมอร์

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเมียนมา กัมพูชา เป็นต้น กลายเป็นเร่งซ่องสุมของแก๊งสแกมเมอร์ ที่ดำเนินการหลอกลวงผู้คนทั่วโลก ซึ่งรายงานระบุว่า กลุ่มอาชญากรหลายกลุ่มเป็นทุนจีนสีเทา ตามรายงานของสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ แก๊งเหล่านั้นจะหลอกลวงผู้คนด้วยวิธีที่เรียกว่า “การทำฟาร์มหมู”  ซึ่งเป็นการหลอกลวงทำทีตีสนิทเผื่อให้อีกฝ่ายหลงรัก หรือที่เรียกกันว่า โรแมนซ์สแกม ก่อนจะหลอกลวงให้ลงทุนในคริปโตฯ โดยผู้กระทำผิดจะเล่นกับจุดอ่อนทางอารมณ์ของเหยื่อและเข้าถึงเหยื่อผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น แอปหาคู่หรือ WhatsApp

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ในการทำ "ฟาร์มหมู" คือการที่ผู้หลอกลวงแสร้งทำเป็นส่งข้อความผิดเพื่อเริ่มต้นการติดต่อ ก่อนจะค่อยๆ สร้างความเชื่อใจ ให้เหยื่อกลายมาเป็นเพื่อนหรือคุยในเชิงชู้สาว จากนั้นเหยื่อจะถูกหลอกให้โอนเงิน ซึ่งเรียกว่า การขุนหมูให้อ้วน จนกระทั่งเงินทั้งหมดของเหยื่อถูกดูดไป และทำให้ในท้ายที่สุด หมูถูกเชือด

ในกรณีนี้ ผู้กระทำผิดมักจะแสร้งทำเป็นบุคคลที่ร่ำรวยและเชี่ยวชาญในสกุลเงินดิจิทัล โดยบอกให้เหยื่อโอนเงินไปยังตลาดหุ้น สกุลเงินดิจิทัล หรือการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศผ่านเว็บไซต์ปลอม

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กลุ่มคนเหล่านี้ที่ไปหลอกลวงผู้อื่น ก็มักจะเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์อีกที โดยการสืบสวนได้เปิดเผยว่า มีผู้คนจำนวนมากถูกแก๊งค้ามนุษย์หลอกและถูกบังคับให้ทำงานในการหลอกลวงจากกลุ่มอาชญากรรมจีนเทา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ชายแดนของเมียนมา  และจากการศึกษา พบว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้คนถูกหลอกมากถึง 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Irrawaddy , statista


แชร์
จีนเร่งเครื่องปราบสแกมเมอร์ หลัง 2024 "จีนต้มจีน" สูญ 1,500 ล้านเหรียญ