สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงกรณีชาวต่างชาติที่เข้ามาสร้างความกังวลให้แก่คนไทยในหลายจุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่เข้ามาในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมาอยู่นานจนถึงขั้นลงหลักปักฐาน หรือจะเป็นที่ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเกิดกรณีทหารกัมพูชาเข้ามาร้องเพลงชาติ จนหวิดปะทะกันกับทหารไทยที่เข้าไปเตือน หรือจะเป็นประเด็นร้อนแรงที่มีการถกกันมาอย่างยาวนาน เรื่องกลุ่มว้าแดงรุกล้ำชายแดนไทยหรือไม่
Spotlight World สรุปเรื่องราวต่างๆไว้ให้แล้ว
เป็นประเด็นที่เริ่มมีการพูดถึงมาก หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวกับตำรวจปาย ได้เข้าจับกุมนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล ที่เข้าไปก่อความวุ่นวายและแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพภายในโรงพยาบาลปาย โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันก่อความเดือดร้อนรำคาญ หลังจากนั้นตำรวจได้สั่งปรับนักท่องเที่ยวรายดังกล่าว ขณะที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้ดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์การอนุญาตเข้าประเทศ และผลักดันออกนอกประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย
หลังจากนั้นเริ่มมีการพูดถึงผ่านโซเชียลมีเดียถึงชาวอิสราเอลที่เข้ามาในปายจำนวนมาก และเริ่มสร้างความเป็นกังวลให้แก่ประชาชนที่ได้ยินข่าว เนื่องจากเห็นว่า มีการเปลี่ยนร้านอาหารให้กลายเป็นโบสถ์ยิว ดังกล่าวจึงมีการร้องเรียนของชาวบ้านและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆในปาย จนนำไปสู่การแก้ปัญหาบนโต๊ะของหน่วยราชการในพื้นที่ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ พบว่า มีความเดือดร้อนถึง 11 ประเด็น ได้แก่
เมื่อไปถามน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตอบว่า ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่เป็นความจริง ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย บอกว่า ไม่อยากให้กังวลกับเรื่องนี้ และเรื่องนี้ ไม่ใช่ผลพวงมากจากนโยบายฟรีวีซา เพราะมีระยะเวลาการอยู่ที่กำหนดเอาไว้แล้ว
มีคลิปวิดีโอหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก เป็นภาพทหารกัมพูชาจำนวนหนึ่งขึ้นมาร้องเพลงชาติกัมพูชาที่ปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ชายแดนไทยติดกับกัมพูชา โดยมีการโต้เถียงจนเกือบทำให้เกิดการปะทะกัน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เวลาประมาณ 12.30 น. เมื่อทหารกัมพูชาจำนวนหนึ่งขึ้นมาบนพื้นที่และแสดงท่าทีไม่พอใจต่อทหารไทย พร้อมกับร้องเพลงชาติกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่การโต้เถียงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย
ตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ ผู้บังคับบัญชาฝ่ายกัมพูชา ซึ่งสวมเสื้อแขนยาวสีขาว ได้กล่าวทั้งภาษาไทยและภาษาเขมรโดยมีใจความว่า "ห้ามไม่ให้ทหารไทยเข้ามาเหยียบพื้นที่นี้แม้แต่ก้าวเดียว ถ้าจะยิงก็ยิงเลย" ด้านทหารไทยได้ตอบกลับด้วยเหตุผลว่า "ผมมายืนตรงนี้เพราะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา" อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์จบลงที่การแยกย้าย
ถัดมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ได้ออกมาชี้แจงกรณีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณปราสาทตาเมือนธม โดยยืนยันว่า ปราสาทตาเมือนธมอยู่ในดินแดนของไทย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีบางส่วนที่การปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชายังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งไทยได้อนุโลมให้ชาวกัมพูชาขึ้นมาสักการะบูชาได้ แต่ต้องไม่มีการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ใด แต่การร้องเพลงชาติในพื้นที่ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และฝ่ายไทยได้เข้าไปตักเตือน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหากมีการนำภาพหรือคลิปไปใช้เป็นข้ออ้างในประเด็นเขตแดน
ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว โดยฝ่ายไทยได้หารือกับผู้บังคับบัญชาฝั่งกัมพูชาผ่านช่องทางคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ไทย–กัมพูชา โดยกองกำลังสุรนารีได้ทำหนังสือประท้วงไปยังฝ่ายกัมพูชา เพื่อให้มั่นใจว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เนื่องจากถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและผิดข้อตกลงระหว่างสองประเทศ
เป็นกรณีที่ถกเถียงกันตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังไทยระบุว่า ฐานทัพของกองทัพสหรัฐว้า หรือว้าแดง (UWSA) ล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนของไทย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ระบุวันที่แน่ชัดสำหรับการเจรจา แต่ไทยยื่นเส้นตายให้ว้าแดงถอนกำลังออกไปถึงวันที่ 18 ธันวาคมนี้ แต่เมื่อถึงเส้นตายก็ยังไม่มีการย้ายใดๆ จนถึงขณะนี้
บริเวณที่มีปัญหา เช่น ดอยหัวม้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และหมู่บ้านหนองหลวง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
สำหรับกองกำลังว้าแดงควบคุมพื้นที่ปกครองตนเองในรัฐฉาน รวมถึงพื้นที่บริเวณชายแดนไทย ซึ่งไทยระบุว่า มีจุดตั้งฐานทัพ 9 แห่งอยู่ในดินแดนของไทยและเรียกร้องให้มีการถอนกำลังออกไป ความขัดแย้งนี้สร้างความกังวลเนื่องจากสถานการณ์อาจจะรุนแรงขึ้น เพราะว้าแดงถือเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเมียนมา และเคยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด