“ยินดีต้อนรับสู่ปาย หมู่บ้านที่สวยงามบนภูเขาสูงในแม่ฮ่องสอน ทางตอนเหนือของประเทศไทย ปายเป็นเมืองที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะชาวอิสราเอลหนุ่มสาวจำนวนมากที่แบกเป้ไปเที่ยวทั่วประเทศ หลังจากเสร็จสิ้นการรับราชการทหาร พวกเขาตกหลุมรักความเงียบสงบและความสวยงามของปายอย่างรวดเร็ว และมาพักที่นี่หนึ่งถึงสองสัปดาห์หรือมากกว่านั้น… เงินบริจาคของคุณจะช่วยสนับสนุนการก่อตั้ง Chabad of Pai ซึ่งเป็น 'บ้านหลังที่สอง' สำหรับผู้ที่อยู่ไกลบ้านโดยเฉพาะ”
นี่คือข้อความหน้าแรกของเว็บไซต์ jewishthailand.com เมื่อกดเข้ามายังหัวข้อ Pai หรือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาพร้อมกับช่องกรอกข้อมูลผู้บริจาคสนับสนุนชาวยิวที่จะมาทำพิธีทางศาสนาในปาย ซึ่งเป็นโบสถ์เจ้าปัญหาที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ที่คนไทยตั้งคำถามว่าการตั้งสถานที่ประกอบศาสนกิจของยิวบนแผ่นดินไทย ทำได้อย่างไร? ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?
ประเด็นเรื่องโบสถ์ยิวไม่ใช่ความกังวลเดียวของคนในพื้นที่ แต่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลอาจสร้างความไม่สงบให้กับชาวบ้านและพ่อค้าแม่ขาย ซึ่งเกิดขึ้นในหลายเหตุการณ์ จากกรณีที่ชายชาวอิสราเอล 4 คน เข้าไปป่วนโรงพยาบาลปาย ด่าทอบุคคลากรทางการแพทย์ และสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ไปจนถึงนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลเข้ามาอาละวาดในร้านอาหาร และแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับผู้หญิงเจ้าของร้าน จนเธอตัดสินใจขึ้นป้าย “No Isreal” ไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวอิสราเอล
“ถ้าดูจากข่าวเราก็รู้สึกกลัวนะ ถึงเราจะไม่ได้เจอเอง เขาเข้าไปโวยวายในโรงพยาบาล หรือบางทีเมาแล้วจะไปลวนลามเจ้าของร้าน แบบนี้ก็คือไม่เคารพกฎหมายเราเลย ถ้าตำรวจปล่อยให้เขาเหิมเกริมไป ไม่ลงโทษ ไม่ขับไล่ เขาจะรู้สึกว่าทำอะไรก็ได้ วันหนึ่งก็อาจจะเป็นร้านเราก็ได้ที่มีพวกอิสราเอลเข้ามาป่วน”
แม่ค้าร้านอาหารตามสั่งในอำเภอปายให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว Spotlight ถึงความกังวลที่เกิดขึ้น แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ตรงที่ไม่ดีกับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวก็ตาม
ขณะที่คลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นพฤติกรรมเชิงลบของนักท่องเที่ยวอิสราเอลถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดในร้านเครื่องดื่มแห่งหนึ่งบนถนนคนเดินเมืองปาย เผยให้เห็นหญิงสาวที่พยายามขโมยน้ำอัดลมจากเคาน์เตอร์ โดยมีชายอีก 2 คนให้ความช่วยเหลือ ทำทีเป็นมาซื้อของ เจ้าของร้านได้ประกาศตามหาตัวในกลุ่มออนไลน์ จนตำรวจสามารถตามตัวได้ถึงที่พัก พบว่าเป็นชาวอิสราเอล สั่งปรับและส่ง ตม. พิจารณากลับประเทศ นับว่าเป็นการตื่นตัวของกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งช่วยกันเป็นหูเป็นตา
ผู้ใช้งานเฟสบุ๊ก D’Tom Tomarito ซึ่งเป็นตำรวจปฏิบัติงานในพื้นที่อำเภอปาย ได้แชร์มุมมองและประสบการณ์ของตนเองบนโลกออกไลน์ ยืนยันว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลมีความน่าเป็นห่วงจริง ปัญหาหลักคือการไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาใช้ชีวิตที่ปายในระยะสั้น มักกินดื่มจนเมา อาละวาด ทะเลาะวิวาทและทำลายข้าวของ สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ เช่ารถมอเตอร์ไซค์ขับขี่ไม่เคารพกฎจราจร ทำทรัพย์สินของที่พักเสียหายและไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นทหารหนุ่ม-สาว ปลดประจำการทหารแล้ว จะมาแบ็กแพ็คที่ไทยเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน
แต่สำหรับชาวปายที่มาพำนักในระยะยาวก็ยอมรับว่ามีจริง และอยู่มานานแล้ว บางครอบครัวอยู่มาเกิน 10 ปี จึงเกิดเป็นชุมชนย่อม ๆ ขนาด 2,000 กว่าคนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กลุ่มคนเหล่านี้จะมาด้วยวีซ่าเกษียณอายุ มักจะสงบเสงี่ยมเรียบร้อยและปรับตัวเข้ากับชาวปายท้องถิ่นได้ดี แต่ที่เริ่มมีปัญหาเพราะถูกมองเหมารวมว่าเป็นพวกก่อความไม่สงบ
ขณะที่ประเด็นของการมีโบสถ์ยิว อาจเป็นการเข้าใจผิดของคนในพื้นที่ เนื่องจากการทำพิธีของชาวยิวจะมีการสวมมนตร์ร้องเพลงในช่วงสุดสัปดาห์ แต่ไม่ใช่การปาร์ตี้ในโบสถ์ โดยนายตำรวจมองว่า ยิวไม่ได้มองเมืองปายเป็นดินแดนพันธสัญญาแต่อย่างใด เนื่องจากมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ของคนเกษียณอายุ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลเป็นอย่างดี จึงไม่อยากให้คนไทยเป็นกังวลและตีข่าวออกไปเกินจริง
สำหรับเจ้าหน้าหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชาวแม่ฮ่องสอนโดยกำเนิด เปิดเผยว่า ตัวเธอเองพบเจอคนอิสราเอลมาก่อนหน้าที่จะมีกระแสข่าวในปัจจุบัน นับว่าชาวอิสราเอลเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่อันดับต้น ๆ ที่มาเที่ยวเมืองปาย ด้วยอากาศที่ดี วิวสวย ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และค่าใช้จ่ายถูก แต่ก็ต้องยอมรับว่าเคยเจอทั้งนักท่องเที่ยวที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป
ครั้งหนึ่งเธอได้รับแจ้งจากเจ้าของโรงแรมถึงเหตุทะเลาะวิวาทภายในโรงแรม เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจำนวนมากต้องการใช้พื้นที่ส่วนกลางซึ่งมีขนาดจำกัด จนเกิดการทะเลาะทำร้ายร่างกายกันระหว่างนักท่องเที่ยวชาติเดียวกัน จนเจ้าของโรงแรมต้องจัดโต๊ะเสริม เพิ่มพื้นที่สังสรรค์หน้าโรงแรมหลังสงบศึก แต่เรื่องราวน่าประทับใจก็เกิดขึ้นเช่นกัน ในตอนที่เธอตรวจเยี่ยมพื้นที่เมืองปาย ได้พบนักท่องเที่ยววัยรุ่นชาวอิสราเอลหน้าคาเฟ่แห่งหนึ่ง พวกเขาก็ได้เข้ามาถามว่าพื้นที่ตรงนี้สูบบุหรี่ได้หรือไม่ เมื่อพบว่าเป็นที่สาธารณะที่สูบไม่ได้ เขาก็ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎ ดังนั้น ชาวปายเองไม่อาจเหมารวมได้ว่านักท่องเที่ยวอิสราเอลทุกคนสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ เพราะแท้จริงแล้ว พวกเขาก็เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สร้างรายได้ให้ชุมชน
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง ปี 2567 เผยว่า ตัวเลขประชากรใน จ. แม่ฮ่องสอน ทั้งจังหวัดอยู่ที่ ชาย 145,723 คน หญิง 142,359 คน รวม 288,082 คน โดย อ. ปาย มีจำนวนประชาชนมากเป็นอันดับ 2 ของ จ. แม่ฮ่องสอน โดยอยู่ที่ 35,444 คน โดยเป็นประชากรชาวไทย 30,078 คน ชาวต่างชาติ 5,366 คน
นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าจากตัวเลขชาวอิสราเอล 30,000 กว่าคนปังหลักในอำเภอปายนั้นเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน แท้จริงแล้วเป็นตัวเลขที่ชาวอิสราเอลลงทะเบียนเข้ามาเที่ยวปายตลอดทั้งปี แต่นักท่องเที่ยวจะหมุนเวียนมาแค่ 2,000 - 3,000 คนต่อเดือนเท่านั้น และชาวอิสราเอลยังเป็นนักท่องเที่ยวอันดับสอง รองจากยุโรป จึงถือว่ายังเป็นจำนวนน้อย
ขณะที่ Chabad of Pai เป็นเพียงสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวยิวในพื้นที่เล็ก ๆ รองรับผู้คนได้ประมาณ 200 คนเท่านั้น และชาบัดในประเทศไทยมีกระจายกันไปถึง 7 แห่ง เช่น กรุงเทพฯ สมุย เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ได้กวดขันมาโดยตลอด และจับกุมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กระทำความผิด เช่น การแย่งอาชีพคนไทยด้วยการเล่นดนตรี ส่วนกรณีพฤติกรรมรุนแรงและก่อความวุ่นวายในโรงพยาบาลปายนั้น ได้ผลักดันออกนอกประเทศ และเพิกถอนวีซ่า 4 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว