Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เกาหลีเหนือพัฒนาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ นักวิชาการชี้แค่อวด ไม่มีทางทำได้
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เกาหลีเหนือพัฒนาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ นักวิชาการชี้แค่อวด ไม่มีทางทำได้

28 มี.ค. 68
12:54 น.
แชร์

เกาหลีเหนือประกาศพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถยิงขีปนาวุธพุกกุกซอง-6 ได้ไกลถึง 12,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่สามารถยิงได้ไกลถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าโครงการนี้เป็นเพียง "โครงการเชิงสัญลักษณ์" มากกว่าการเสริมสร้างศักยภาพทางทะเลที่แท้จริง และเรือลำดำน้ำนิวเคลียร์ดังกล่าวน่าจะตามหลังสหรัฐฯและเกาหลีใต้อยู่มาก

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ปรากฏตัวขณะตรวจสอบเรือดำน้ำที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ณ อู่ต่อเรือแห่งหนึ่งที่ไม่เปิดเผยสถานที่ โดยสื่อของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า เขากำลังชื่นชมเรือดำน้ำ ติดอาวุธนำวิถีเชิงยุทธศาสตร์พลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของประเทศ

นักวิเคราะห์ให้สัมภาษณ์กับ This Week in Asia ว่า เรือดำน้ำของเกาหลีเหนือที่ยังไม่มีชื่อลำนี้ ยังล้าหลังคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ไปหลายรุ่น และเรือดำน้ำของเกาหลีเหนืออาจไม่สามารถรับมือได้ หากเหตุความขัดแย้งปะทุขึ้นจริง

ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า กองทัพเกาหลีเหนือยังคงใช้อาวุธและระบบอาวุธที่ถือว่าล้าสมัยกว่าหลายประเทศ รวมถึงเรือดำน้ำคลาส Romeo ซึ่งใช้ในปฏิบัติการของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1957 และเครื่องบินขับไล่ MiG-15 ที่ถูกพัฒนาและบินขึ้นครั้งแรกในปี 1947

เกาหลีเหนือยังไม่มีศักยภาพมากพอ

อี ดงกึน นักวิชาการชาวเกาหลีใต้จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาด้านกลาโหมแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ในกรุงแคนเบอร์รา กล่าวว่า พัฒนาการในปัจจุบันบ่งชี้ว่า เกาหลีเหนือยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาเรือดำน้ำติดขีปนาวุธพลังงานนิวเคลียร์ แต่เรือดำน้ำลำล่าสุดของเกาหลีเหนืออาจสะท้อนถึง "ความทะนงตัว" ของรัฐบาลเปียงยาง เนื่องจากก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือเคยประสบปัญหาในการสร้างเรือดำน้ำขนาดใหญ่ลำสุดท้ายของประเทศ ซึ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2023 แต่ในเวลาต่อมา ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเรือดำน้ำคลาส Romeo ที่ถูกดัดแปลงให้สามารถบรรทุกขีปนาวุธได้

อี ดงกึนยังบอกด้วยว่า เป็นเรื่องยากมากที่เกาหลีเหนือจะสามารถสร้างเรือดำน้ำติดขีปนาวุธพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 6,000 ตัน ได้สำเร็จ เพราะเทคโนโลยีของ SSBN ต้องพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กสำหรับขับเคลื่อนเรือ ซึ่งเป็นความท้าทายทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากสำหรับเกาหลีเหนือ

ด้านแลนซ์ แกทลิง ประธานบริษัทวิจัย Nexial Research และนักวิเคราะห์ด้านอวกาศและกลาโหมในกรุงโตเกียว เปรียบเทียบว่า การสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นั้นยากยิ่งกว่าการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ เพราะเรือดำน้ำประเภทนี้เป็นหนึ่งในเครื่องจักรที่ซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากมันต้องปฏิบัติการในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และถ้าหากเกิดรอยรั่วขึ้น โอกาสรอดชีวิตของลูกเรือแทบจะเป็นศูนย์

เขายังชี้ว่า เกาหลีเหนืออาจไม่สามารถติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขั้นสูงภายในเรือดำน้ำของตนได้ แม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซียก็ตาม ส่วนเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาดกะทัดรัด ในขณะที่ของรัสเซียใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เรือมีขนาดใหญ่และสร้างเสียงดัง ส่งผลให้ถูกตรวจจับได้ง่ายกว่า

แกทลิงมองว่า โครงการนี้เหมือนเป็นการโอ้อวดและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปอย่างน่าเสียดาย เพราะความเป็นไปได้ที่จะสร้างมันได้อย่างสมบูรณ์แบบแทบจะเป็นศูนย์ และถ้าหากการใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ทันทีที่พวกเขาเปิดเครื่องปฏิกรณ์ เรือดำน้ำจะเริ่มส่งเสียงดัง ใบพัดและเพลาขับจะยิ่งเพิ่มระดับเสียง ทำให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเรือได้ง่ายมาก หากเกิดสงครามขึ้น มันจะกลายเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งและแทบไม่มีโอกาสรอด

อย่างไรก็ตาม อี ดงกึนบอกอีกว่า นี่อาจจะเป็นการส่งสัญญาณของเกาหลีเหนือว่าโครงการ SSBN ของพวกเขาอาจเสร็จสมบูรณ์ในอนาคต ด้วยความร่วมมือจากรัสเซีย แต่เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก จึงเป็นไปได้ยากที่รัสเซียจะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้โดยตรง แต่ประเด็นหลักที่มองข้ามไม่ได้คือ นี่คือสัญลักษณ์ความร่วมมือที่ต่อเนื่องระหว่างเปียงยางและมอสโก


SCMP

แชร์
เกาหลีเหนือพัฒนาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ นักวิชาการชี้แค่อวด ไม่มีทางทำได้