การแจกเงิน 1 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้แก่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในรัฐสวิงสเตทของซีอีโอเทสล่า “อีลอน มัสก์” สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในสังคมอเมริกันว่า ขัดต่อกฎหมายและมีความผิดหรือไม่
แคมเปญขึ้น ถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มรณรงค์หาเสียง America PAC ของนายมัสก์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยเฉพาะ ล่าสุด มัสก์ได้มอบเช็คเงินสด 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ผู้โชคดีรายแรกแล้ว ซึ่งถูกแจกให้กับผู้เข้าร่วมงานศาลากลางที่รัฐเพนซิลเวเนียเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ อภิมหาเศรษฐีมัสก์ ประกาศแจกเงินให้กับคนที่ลงชื่อในคำร้องออนไลน์สนับสนุนรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เป็นเงิน 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะสุ่มแจก 1 คนต่อวัน ไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
ผู้โชคดีจะต้องเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ลงทะเบียนออนไลน์ยืนยันการใช้สิทธิ์ไว้กับทางการแล้ว อีกทั้งต้องเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐสวิงสเตท ได้แก่ แอริโซนา จอร์เจีย เนวาดา นอร์ทแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน ซึ่งเป็นรัฐที่มีผลการเลือกตั้งไม่แน่นอน และผลคะแนนมีโอกาสชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฏหมายหลายคนเตือนว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากถือเป็นการชักชวนให้ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์แลกกับค่าตอบแทนมหาศาล
สำหรับคุณสมบัติของผู้โชคดี จะต้องทำตามเงื่อนไขของกลุ่มรณรงค์หาเสียง America PAC ที่จะต้องมาลงชื่อเรียกร้องแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการพูดและสิทธิ์ในการพกอาวุธปืน ก็จะมีสิทธิ์ได้ลุ้นรับเงินหลักล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ แต่นี่ไม่ใช่วิธีเดียวที่โหวตเตอร์จะได้รับรางวัลเงินสดเท่านั้น
อีลอน มัสก์ยังประกาศแจกเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับใครก็ตาม ที่สามารถเชิญชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนอื่นมาลงชื่อเรียกร้องแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพิ่มได้ ถ้าสามารถดึงโหวตเตอร์จาก 6 รัฐสวิงสเตท ได้แก่ แอริโซนา จอร์เจีย เนวาดา นอร์ทแคโรไลนา มิชิแกน และวิสคอนซิน จะได้รับค่าหัวคนละ 47 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,578 บาท) ส่วนใครที่หาโหวตเตอร์จากรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งถือเป็นรัฐสรภูมิสำคัญได้ จะได้รับค่าหัวคนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,350 บาท)
ศาสตราจารย์พอล ชิฟฟ์ เบอร์แมน อาจารย์ด้านกฎหมาย ประจำสถาบันวอลเตอร์ เอส. ค็อกซ์ แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า ข้อเสนอของอีลอน มัสก์เข้าค่ายผิดกฏหมาย เนื่องจากตามประมวลกฎหมายการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่าใครก็ตามที่เสนอเงินหรือจ่ายเงิน ให้ผู้อื่นลงทะเบียนหรือลงคะแนนเสียง จะต้องโดนโทษปรับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือจำคุก 5 ปี
ขณะที่ความคิดเห็นจากสังคมบางส่วน มองว่าการกระทำดังกล่าวอยู่ใน “พื้นที่สีเทา” โดยแบรด สมิธ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐบาลกลาง (FEC) มองว่า อีลอน มัสก์ใช้ช่องโหว่ทางกฏหมาย โดยการมอบเงินนี้ ไม่ได้เป็นการมอบให้เพื่อแลกกับการลงทะเบียนหรือลงคะแนนเสียงโดยตรง แต่การจ่ายเงินเพื่อให้ลงนามในคำร้อง
ในฟากของพรรคคู่แข่งอย่างเดโมแครต จอช ชาปิโร ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย จากพรรคเดโมแครต มองว่า การกระทำของมัสก์น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการสอบสวน รวมถึงนักลงทุนมหาเศรษฐี มาร์ก คิวบาน ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต ที่จัดรณรงค์หาเสียงให้กับกมลา แฮร์ริสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวว่า ข้อเสนอนี้ทั้งสร้างสรรค์และสิ้นหวัง ที่ฝ่ายตรงข้ามใช้วิธีการดึงดูดด้วยการชิงโชค