ภาษีย้อนหลัง คืออะไร หากโดนเรียกเก็บต้องทำอย่างไร หากยื่นไม่ถูกต้องจงใจหลีกเลี่ยงมีบทลงโทษอย่างไร
การเสียภาษีเป็นหน้าที่อันสำคัญของพลเมือง เพื่อเป็นรายได้ของรัฐบาล นำมาจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดินในการใช้บริหารประเทศ ดังนั้น การยื่นแบบแสดงรายการ และการชำระภาษี จะต้องดำเนินการตามระยะเวลากำหนด มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามกฎหมาย และถูกลงโทษทางทางแพ่งและอาญาได้
การเก็บภาษีย้อนหลัง (Retroactive tax) มี 3 หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต แต่ที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงคือ กรมสรรพากร ที่มีกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์
ทำไมถึงโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
• ยังไม่ได้จ่ายภาษี หรือไม่ยื่นภาษี
• จ่ายภาษีไม่ถูกต้อง ข้อนี้จะซับซ้อนกว่า อาจจะเป็นไปได้หลายกรณี ทั้งการจ่ายภาษีไม่ครบ ระบุรายได้และคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายไม่ถูกต้อง แสดงงบการเงินไม่ถูกต้อง หรือมีความผิดปกติที่เข้าข่ายทำให้กรมสรรพากรสงสัย และเริ่มตรวจสอบ เป็นต้น
วิธีตรวจสอบภาษีย้อนหลังของกรมสรรพากร
• ดูข้อมูลจากใบ 50 ทวิ (หนังสือรับรอง หัก ณ ที่จ่าย) ที่ทางบริษัท ส่งให้กับกรมสรรพากร
• การออกตรวจเยี่ยม คือ การออกไปตรวจเยี่ยมผู้เสียภาษีด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเจอในกลุ่มผู้ประกอบการทั้งบุคคลและนิติบุคคล
• การตรวจนับสต็อกสินค้า ใช้กับผู้ที่ทำธุรกิจการค้าขายทั้งในประเทศและส่งออก ซึ่งการนับสต็อกสินค้าจะทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการได้เสียภาษีครบถ้วนหรือไม่
• สถาบันการเงิน ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร เมื่อมีบริการฝาก หรือรับโอนเงิน ผ่านระบบ E-payment จะ 3,000 ครั้งต่อปี หรือฝาก หรือโอนเงิน 400 ครั้ง โดยมียอดรวมของการฝากและโอนรวมกัน 2 ล้านบาทขึ้นไป
• ตรวจสอบภาษีด้วยการสอบยันยอดกับใบกำกับภาษีที่ผู้ขายได้ยื่นไว้เพื่อดูว่ามีการปลอมใบกำกับภาษีหรือไม่ จากนั้นจึงคิดคำนวณภาษีที่ถูกหลีกเลี่ยงไปพร้อมกับเรียกเก็บย้อนหลัง
• ใช้ระบบ Big Data & Data Analytics
• ตรวจสอบผ่านเมนู การแจ้งเบาะแส / ข้อมูลแหล่งภาษีที่ www.rd.go.th
• การตรวจค้น วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่สงสัยว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนมากและชัดเจน โดยจะเข้าทำการตรวจค้นเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม พร้อมทั้งยึดและอายัดบัญชีรวมถึงเอกสารต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงภาษีไว้ด้วย
• สุ่มตรวจจากหน้าเว็บต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ที่มีการโพสต์เงินโอนเข้า
• ดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ หรือ Web Scraping
• การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษี กรมสรรพากรจะทำการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษี โดยผู้เสียภาษีจะต้องส่งมอบบัญชีและเอกสารต่างๆ ให้พนักงานทำการตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีก็จะดำเนินการเรียกคืนภาษีย้อนหลังต่อไป
การตรวจสอบภาษีย้อนหลัง มีอายุความเท่าไหร่
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล
• มีอายุความตามหมายเรียก ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ยื่นภาษี แต่ถ้ามีหลักฐานว่าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้นจงใจหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีจริง จะสามารถขยายเวลาอายุความออกไปได้ถึง 5 ปี
• ผู้ที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเลยและถูกตรวจพบภายหลัง ก็จะมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเช่นกัน โดยจะยึดเอาตามระยะเวลาอายุความทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้ กรมสรรพากร มีสิทธิเรียกดู รายการเดินบัญชี (Statement) ได้ด้วย
ภาษีธุรกิจ
• สามารถเรียกเก็บย้อนหลังได้มากถึง 10 ปี ตาม มาตรา 193/31 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกแต่อย่างใด ซึ่งอายุความเรียกเอาหนี้ภาษีอากรคืน จะนับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดการยื่นแบบภาษี
หากถูกต้องสงสัยว่าต้องจ่ายภาษีย้อนหลังควรทำอย่างไร
• ตรวจสอบรายการภาษีย้อนหลัง โดยเฉพาะรายได้ของแต่ละปีว่ามีรายได้ทั้งหมดเท่าไหร่ เงินที่เข้าบัญชีที่เป็นส่วนของรายได้เท่าไหร่ เพื่อไปแสดงกับกรมสรรพากร
• กรณีที่มียอดเงินเข้าเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจด VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน รวมถึงเสียภาษีเงินได้ 2 รอบ คือ ครึ่งปีและปลายปี
บทลงโทษกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้อง
เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถือเป็นบทลงโทษเกี่ยวกับภาษีอากรอย่างหนึ่ง และอาจมีโทษทางอาญาอีกด้วย หากบุคคลใดยื่นแบบฯ ภายในกำหนด แต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือยื่นแบบฯ ล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบฯ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืนไม่ยอมชำระ ต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งบทลงโทษสามารถแบ่งได้ ดังนี้
• กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
• กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
• กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
• กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
• กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ