ความหมายของการเป็นเชฟของเชฟต้น ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร หัวหน้าเชฟ และเจ้าของร้าน Le Du ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยโมเดิร์น เผยว่า เชฟคือคนที่ทำอาหาร แต่นอกจากทำอาหาร เชฟยังมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างคือเป็นทูตวัฒนธรรม เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เสพง่ายและเด่นชัดกว่าอย่างอื่น ทุกคนสามารถรับรู้ได้ทันทีตั้งแต่คำแรก เชฟจึงมีอีกบทบาทเป็นหน้าด่านของวัฒนธรรมที่จะถ่ายทอดและพัฒนาวัฒนธรรมของชาติผ่านอาหาร
ความเหมือนและแตกต่างของอาหารไทยและสิงคโปร์ เชฟต้น เผยว่า จากประสบการณ์ที่ผมได้เดินทางไปสิงคโปร์บ่อยครั้ง ทำให้ผมได้มีโอกาสซึมซับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาหารสิงคโปร์ ถึงแม้จะเป็นวัฒนธรรมที่ก่อร่างได้ไม่นาน แต่ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมของเอเชียและประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ ทั้ง มาเลย์ จีน เปอรานากัน อินเดีย และยูเรเชีย จึงทำให้อาหารสิงคโปร์นั้นมีลักษณะเป็นอาหารฟิวชั่นของเอเชียอีกรูปแบบหนึ่ง
ความหมายของการเป็นเชฟของเชฟลิม โฮ เกิร์น (Lim Hoe Gern) จากร้าน Laut จากคนสิงคโปร์รุ่นใหม่ที่เติบโตมากับคุณปู่ที่มีร้านอาหารใน Hawker Center สู่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารท้องถิ่นสิงคโปร์แบบผสมผสานและยกระดับอาหารทะเลท้องถิ่นให้กลายเป็นเมนูหรู เผยว่า เชฟคือความรับผิดชอบของผมที่มีต่อการรังสรรค์รสชาติที่ดีที่สุดบนโต๊ะอาหาร คุณปู่ผู้ปลูกฝังความรักในการทำอาหารและเป็นแบบอย่างในการประกอบธุรกิจซึ่งมักจะสอนอยู่เสมอว่า “อาหารที่ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง” เขามักจะเห็นคุณปู่และคนในครอบครัวทำงานอย่างหนักเพื่อรังสรรค์เมนูอาหารและสร้างการบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า นั้นเป็นจุดที่หล่อหลอมให้เชฟลิมกลายเป็นเชฟที่มีปณิธานที่จะสรรสร้างอาหารของเขาแก่ทุกคนได้มีโอกาสได้ลิ้มลองความอร่อย
จากอาหารแผงลอยที่ถูกยกระดับสู่ไฟน์ไดนิ่ง (Fine Dining) อาหารแผงลอยมักจะเป็นอาหารที่ทำง่ายๆ ไม่ซับซ้อนฉะนั้นการยกระดับอาหารไปสู่ไฟน์ไดนิ่งจะต้องผสมผสานวัตถุดิบคุณภาพดีและองค์ประกอบที่หลากหลายจนเกิดความซับซ้อนของรสชาติ ผ่านการปรุงด้วยความใส่ใจอย่างละเมียดละไมในทุกขั้นตอน โดยจะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และความแม่นยำในการดึงรสชาติให้ออกมาอย่างเด่นชัด ซึ่งทางร้านเลาต์ (Laut) ให้ความสำคัญในทั้งสองเรื่องเป็นอย่างมากเพื่อให้ลูกค้าสัมผัสถึงแก่นของวัฒนธรรมอาหาร
เชฟต้น กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้วงการธุรกิจอาหารเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลายร้านต้องปรับกลยุทธ์โดยอาศัยการส่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี และอีกหลายๆ ร้านต้องค้นหาตัวตนของตัวเองให้เจอแล้วดึงออกมาเป็นจุดขายของร้านให้ได้ มิฉะนั้นก็จะถูกกลืนหายไปกับโควิด
ขณะที่เชฟลิม เผยว่า เราต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ ที่ผ่านมาทางร้าน Laut เปิดให้บริการสั่งอาหารกลับบ้าน (Take Home) และจัดส่งให้ทั่วประเทศ โดยทางร้านจะคัดสรรเมนูพิเศษสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่หมุนเวียนตามฤดูกาลให้ได้ลิ้มลอง พร้อมพัฒนาเมนูใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าหลากหลายมากขึ้นเช่น อาหารมังสวิรัติ พร้อมกันนี้ทางร้านยังปฏิบัติตามมาตรการการจัดการเพื่อความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
4 hands collaboration เปิดประตูสู่วัฒนธรรมอาหารไทย-สิงคโปร์สมัยใหม่ กิจกรรม Live Masterclasses ในรูปแบบโฟร์แฮนดส์ คอลลาบอเรชัน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานเทศกาลอาหารสิงคโปร์ปีนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองวัฒนธรรมอาหารและร่วมมือกันรังสรรค์เมนูอาหารจาก 4 มือ โดยเชฟ 2 ชาติ คือ ไทย-สิงคโปร์ระหว่าง เชฟต้นแห่งร้านฤดูของไทย และเชฟลิม แห่งร้านเลาต์ในการออกแบบเมนูสุดพิเศษ “กุ้งแม่น้ำ” ด้วยการผสมผสานเมนูอาหารประจำตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองเชฟเข้าด้วยกัน
ซึ่งเชฟทั้ง 2 ท่านเห็นตรงกันว่า เมนูสุดพิเศษนี้ถือเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างอาหารไทยและสิงคโปร์เข้าด้วยกัน และเป็นความท้าทายที่จะก้าวออกจากกรอบการทำอาหารแบบเดิม ด้วยวัตถุดิบและเทคนิคที่ตนถนัดสู่รูปแบบการทำอาหารใหม่ๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมอาหารใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะช่วยพัฒนาวงการอาหารให้ก้าวไปอีกขั้นในอนาคต มาร่วมติดตามว่าเมนู “กุ้งแม่น้ำ” 2 สัญชาติจาก 2 เชฟมากฝีมือจะออกมาเป็นยังไง
สามารถรับชมการร่วมกันรังสรรค์เมนูสุดพิเศษนี้ได้ผ่านรายการ For Love of S.E.A.ทางเว็บไซต์ Singapore Food Festival (https://bit.ly/3AMgIIZ) หรือทาง Facebook VisitSingaporeTH ในวันที่ 27 สิงหาคม 2564 เวลา 19.00 น.