ตอบข้อสงสัยปมร้อน "การร้องขอความเป็นธรรม" ต่อสู้คดีทำได้ถึงชั้นไหน?

12 มิ.ย. 67

อดีต อสส. กางวิอาญา ตอบข้อสงสัยปมร้องขอความเป็นธรรม ทำได้ถึงชั้นไหน ชี้อัยการไม่ได้มีหน้าที่ฟ้องอย่างเดียว ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 ศ.พิเศษอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ให้ความเห็นข้อกฎหมายถึงเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ว่า ในคดีอาญาที่รัฐเป็นผู้ดำเนินคดีที่มีการเเจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจก็จะทำการสอบสวนแล้วส่งให้พนักงานอัยการ ถ้าพิจารณาแล้วฟ้องคดีก็จะไปที่ศาล

ตนจะพูดเฉพาะในส่วนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่พูดถึงกฎหมายคดีพิเศษหรือกฎหมาย ป.ป.ช.

โดยในการดำเนินคดีอาญานั้นเจ้าพนักงานสามารถลงไปสืบสวนคดีได้ตั้งแต่เบื้องต้น แม้จะยังไม่มีการดำเนินคดี จนเมื่อมีการดำเนินคดีและมีการสอบสวนเเละจับกุมตัว ก็สามารถที่จะเริ่มกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมได้เลย ซึ่งเมื่อถูกสอบสวนโดยผู้มีอำนาจแล้ว ก็อาจจะร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสูงกว่า

ในประเด็นที่เราจะได้เห็นชัดๆ เเละได้ยินข่าวกันบ่อยก็คือการร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ

ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ เเละมีการเเก้ไขเพิ่มเติมตลอดมาว่า การร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการสามารถร้องได้เมื่อมีการส่งสำนวนมา โดยจะเป็นการร้องต่อหัวหน้าพนักงานอัยการที่พิจารณาคดีนั้นยกตัวอย่าง เช่น การร้องขอความเป็นธรรมในคดีที่สำนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี การร้องขอความเป็นธรรมก็จะทำถึงอัยการจังหวัดนนทบุรี

s__7520363

แต่ถ้ายังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอีก ก็สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้อีกต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป เช่น ร้องไปยังอธิบดีอัยการภาค 1 ส่วนในกรุงเทพฯ หากเราร้องขอความเป็นธรรมมายังอัยการพิเศษฝ่ายแล้ว ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมก็อาจจะร้องขอความเป็นธรรมไปยังอธิบดีอัยการสำนักงานนั้นๆ

หากในชั้นอธิบดีอัยการ ยังรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมอีก ก็สามารถร้องขอความเป็นธรรมไปยังผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่านั้นโดยหลักคืออัยการสูงสุด

เเต่ในคดีอาญาทั่วๆ ไป ถ้ามีการร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดแล้ว เรื่องจะส่งไปยังสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรมซึ่งเมื่อสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ได้รับคำร้องขอความเป็นธรรมมาเเล้ว เห็นว่าควรจะสอบสวนเพิ่มเติม ก็จะแจ้งไปยังอธิบดีอัยการสำนักงานเจ้าของเรื่องว่าเห็นควรสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าอธิบดีสำนักงานที่ถูกเเจ้งพิจารณาเเล้วเห็นควรสอบสวนเพิ่มเติม ก็จะสั่งสอบสวนเพิ่มเติม และส่งมายังสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด เพื่อนำเสนอไปยังรองอัยการสูงสุดที่รับผิดชอบสั่งคดี

เเต่ถ้าอธิบดีสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดส่งไปเเล้วอธิบอดีอัยการสำนักงานที่เป็นเจ้าของเรื่องเห็นว่าไม่ควรสอบสวนเพิ่มเติม เพราะอาจเป็นการประวิงคดีของฝ่ายจำเลย สำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดก็จะนำพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งส่วนมากก็จะสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไว้ เว้นเเต่รองอัยการสูงสุดพิจารณาเเล้วมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมก็จะต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมเมื่อได้พยานหลักฐานมา ก็จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยจะสิ้นสุดที่รองอัยการสูงสุด ยกเว้นคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจของ อสส.โดยตรง เช่น คดีวิสามัญฆาตกรรม หรือ คดีนอกราชอาณาจักร

ส่วนเมื่อมีการสั่งยุติร้องขอความเป็นธรรมไปเเล้ว ความเห็นโดยส่วนตัวมองว่า ผู้ต้องหายังสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ตลอด ขอยกตัวอย่างให้เห็นว่า มีคดีที่ยุติร้องขอความเป็นธรรมเเล้ว มีพยานยืนยันว่าคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดชิงทรัพย์ เเต่ปรากฎว่ามีพยานหลักฐานใหม่เป็นกล้องวงจรปิดดูเเล้วคนที่ลงมือก่อเหตุมีหน้าตาคล้ายกันเเต่ไม่ใช่ผู้ต้องหา เเบบนี้ก็สามารถร้องขอความเป็นธรรมเข้าไปใหม่ได้ เเต่การจะยุติเรื่องอีกหรือไม่ก็ต้องดูว่าการร้องต้องมีข้อเท็จจริงเเละพยานหลักฐานที่เเตกต่างจากเดิมหรือไม่อย่างไร

"คนอยากจะร้องอย่าไปห้ามเขา ให้เขาร้องมา เเต่การพิจารณาก็ตัองพิจารณาว่าสมควรดำเนินต่อไปหรือไม่ เช่น ร้องมาไม่มีพยานหลักฐานใหม่อะไรเลย ก็สามารถสั่งยุติเรื่องทันทีก็ได้ เเต่อย่าไปห้ามคนร้อง มิเช่นนั้นจะเรียกว่าร้องขอความเป็นธรรมได้อย่างไร ที่เขาร้องเพราะเขาคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม" อดีตอัยการสูงสุดระบุ

ในคดีนอกราชอาณาจักรคนที่มีอำนาจว่าจะพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมคืออัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการเเทนที่จะเป็นคนสั่งคดี เเต่การร้องขอความเป็นธรรมก็จะมีขั้นตอนในการกลั่นกรองเเล้วเเต่ระเบียบในเเต่ละเรื่อง เเละการร้องขอความเป็นธรรมเเม้ฟ้องศาลไปเเล้วก็ยังสมารถร้องเข้ามาได้ ยกตัวอย่างหากมีการยื่นฟ้องศาลไปเเล้วมีพยานหลักฐานที่ได้มาใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อมีการฟ้องคดีสู่ศาลเเล้วจะมีการหยุดการสอบสวนทันที เเต่หากเกิดมีผู้หวังดีมีพยานหลักฐานที่เเน่ชัดซึ่งตนมองว่า คือพยานหลักฐานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งพยานบุคคลก็สู้ไม่ได้ ก็สามารถจะร้องขอความเป็นธรรมได้

"เเม้บางคนอาจจะบอกไว้ว่าให้เก็บไว้สู้คดีในศาล เเต่อัยการไม่ได้มีหน้าที่ฟ้องคดีอย่างเดียว ต้องมีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมด้วย ถ้าดูบทบัญญัติเรื่องการสอบสวนตามมาตรา 131 จะเห็นชัดว่าในการสอบสวนนั้นสอบสวนเพื่อที่จะให้ได้ข้อเท็จจริงเเละพยานหลักฐานเพื่อที่จะนำผู้กระทำผิดมาฟ้องเเละถูกลงโทษ หรือเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของของคนที่ถูกเป็นผู้ต้องหาก็ได้ ในความเห็นส่วนตัวเมื่อไปถึงศาลก็ยังร้องขอความเป็นธรรมได้" ศ.พิเศษอรรถพล ระบุ

ส่วนผลที่ร้องขอความเป็นธรรมหลังฟ้องศาลไปเเล้ว คนร้องก็อาจหวังให้มีการถอนฟ้องหรือว่าขอความเป็นธรรมอ้างเป็นพยานหลักฐานว่าได้มีหลักฐานใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา ในส่วนเรื่องการถอนฟ้อง อำนาจถอนฟ้องเป็นของพนักงานอัยการที่ฟ้องคดี เเต่จะมีขั้นตอนในการเสนอผู้บังคับบัญชาว่าเรื่องใดควรจะถอนเเละใครควรจะเป็นคนถอนฟ้อง คล้ายกับการยื่นอุทธรณ์คดี

เเต่ในคดีนอกราชอาณาจักร อำนาจถอนฟ้องเป็นของอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการเเทน ซึ่งที่ผ่านมาอัยการสูงสุดในอดีตก็เคยมีการถอนฟ้อง เช่น พิจารณาเเล้วเป็นเรื่องความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ

ซึ่งหลักในการถอนฟ้องก็จะเหมือนกับการสั่งไม่ฟ้อง เช่น เมื่อฟ้องคดีไปเเล้วเห็นว่าเขาไม่ได้กระทำผิดก็ถอนฟ้องได้ ระเบียบของสำนักงานสูงสุดให้อำนาจไว้ ส่วนคนอนุญาตถอนฟ้องได้หรือไม่ คือศาล บางคนเข้าใจผิดคิดว่าอัยการถอนฟ้องเเล้ว ศาลจะต้องอนุญาตเสมอไป ซึ่งความจริงต้องเป็นไปตาม ป.วิอาญามาตรา 35,36 ศาลอาจจะไม่อนุญาตก็ได้

เเต่ในกรณีหากมีคำพิพากษาของศาลเเล้วต้องยอมรับว่าตรงนี้มีผลคำพิพากษาเเล้ว ถ้าจะถอนฟ้อง ตามกฎหมายผลของคำพิพากษาก็ยังมีอยู่ ยกตัวอย่างในคดีที่ไม่ว่ารัฐหรือราษฎรฟ้องเองหากตัดสินเเล้ว เเม้ถอนฟ้องไปเเล้วผลของคำพิพากษาจะยังมีอยู่ เรียกว่าถอนฟ้องได้ยันฎีกาเ เต่ผลคำพิพากษาก็ยังมีอยู่

ถ้ามองในเเง่ตรรกกะเเล้วเมื่อศาลตัดสินเเล้วคดีเสร็จเเล้วก ารถอนฟ้องจะดำเนินการได้อย่างไร การถอนฟ้องต้องศาลยังไม่ตัดสิน เเละใน ป.วิอาญายังกำหนดไว้ว่าถ้าฟ้องเเล้วจำเลยยังไม่ได้ให้การ การถอนฟ้องไม่ต้องถามจำเลย เเต่ถ้ามีการยื่นถอนฟ้องขณะที่จำเลยให้การเเล้ว ต้องถามจำเลยด้วยว่าคัดค้านหรือไม่ ถ้าจำเลยคัดค้านจะถอนฟ้องไม่ได้ เเละต้องถอนฟ้องก่อนศาลตัดสิน เว้นเเต่กรณีเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวที่สามารถยื่นถอนฟ้องได้จนกว่าคดีจนถึงที่สุด

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส