ดำรงค์ พิเดช ซัด เพิกถอนพื้นที่อุทยานทับลานอัปยศที่สุด จี้ เศรษฐา ยกเลิก

9 ก.ค. 67

ดำรงค์ พิเดช ค้านปรับปรุงแนวเขต ป่าทับลาน ซัดมติครม. 14 มี.ค. 66 เพิกถอนพื้นที่อุทยานทับลานอัปยศที่สุด จี้เศรษฐายกเลิก ไม่งั้นลงชื่อถวายฎีกา

วันที่ 9 ก.ค. 67 นาย ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวถึงกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และจะมีการจัดสรรเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ว่า 

เรื่องทับลานถือว่าจบไปแล้ว เนื่องจากทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีการแก้กฎหมายใหม่ สมัยก่อนจับกุมหมด ยกเว้นคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน แต่ปัจจุบัน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 ระบุว่าราษฎรที่เข้าทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดั้งเดิม ให้ทำกินต่อไปถึงลูกถึงหลาน รวม พ.ร.บ.สัตว์ป่า มาตรา 21 ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งมีการจัดระบบมาเรียบร้อย แต่ผู้ที่เดือดร้อนคือกลุ่มทุน 

สำหรับชาวบ้านก็ต้องการโฉนดที่ดิน ซึ่งตนมองว่าหากออกในพื้นที่ทับลานได้ ก็สามารถที่จะออกได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการให้ปฏิรูปที่ดิน ประเทศไทยตั้งมาจนถึงตอนนี้ยังไม่เคยมีการตัดที่ดินส่วนไหนในอุทยานแห่งชาติให้กับหน่วยงานราชการ ยกเว้นโครงการในพระราชดำริ หรือการทำอ่างเก็บน้ำ ซึ่งก็ยังคงดำเนินการได้ยาก ถือเป็นครั้งแรกตนถือว่าเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่อัปยศที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงจะมีการยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ นักการเมืองในพื้นที่ตัวเต็ง มีการหาเสียงจะยกพื้นที่ให้ประชาชน จึงมีการยุให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยมีการเสนอเป็นวาระจร และท้ายที่สุดในรัฐบาลสมัยที่ผ่านมา ก็มีมติคณะรัฐมนตรีในประเด็นดังกล่าวออกมา ขณะนี้ไม่เหลือพื้นที่ในการจัดเตรียมให้เป็นที่ดินทำกินเหลือเพียงแต่พื้นที่ของป่า และการนำพื้นที่ไปจัดสรรมองว่าไม่ถึงมือประชาชนแต่กลับอยู่ในมือของกลุ่มนายทุน ซึ่งเรื่องนี้ตนคัดค้านและหากคณะรัฐมนตรียังทำเรื่องนี้ต่อ ตนจะดำเนินการถวายฎีกาต่อไป 

นอกจากนี้ในประเด็นการใช้แผนที่ one map มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ตนคัดค้านมาโดยตลอด ตั้งแต่มีการดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต ซึ่งในขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าจะถวายฎีกา หากมีการเซ็น one map ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่กล้าเซ็น มีการโยนเรื่องไปให้คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ซึ่ง  one map ที่ตั้งมาเพื่อจะเฉือนป่าอย่างเดียวทั้งที่ไม่มีที่ว่าง 

“พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกมาแล้ว ซึ่งควรใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ โดยมาตรา 44 มีการกันพื้นที่ทำกิน ซึ่งก็สามารถทำได้ชั่วลูกช่วยหลาน ดีกว่าการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะทำให้สามารถซื้อขายกันได้ สามารถทำกิน ปลูกพืชอื่นๆ แต่อย่าไปสร้างโรงแรม รีสอร์ตในพื้นที่อุทยาน หากพี่น้องประชาชนอยู่ในแนวเขตกั้นที่กำหนดไว้ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา ทางภาครัฐก็มีการดูแลให้ส่งเสริมทั้งเรื่องของน้ำ สาธารณูปโภคเพียงแต่อย่านำพื้นที่ดังกล่าวไปขายต่อนายทุน และอย่าไปรุกล้ำเพิ่มเติม วันนี้ระบบราชการไทย มีทั้งระบบการเงินและระบบบุญคุณ บ้านเมืองถึงได้เลอะเทอะกฎหมายกติกาดีหมด แต่ไม่ได้มีการยึดหลักการ” 

สำหรับกรณีนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ายังไม่สามารถยกเลิกมติ ครม. วันที่ 14 มี.ค. 66 ได้ นายดำรงค์ กล่าวว่า มติครม. ดังกล่าวสามารถยกเลิกได้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี มีมติเมื่อปี 40 จากนั้นในปี 41 ก็มีการยกเลิกมติครม. ขอให้ไปดูให้ดีอย่าเข้าข้างนายทุน ขอให้ช่วยคนยากจนตรงจุดและรักษาประโยชน์ของประเทศชาติซึ่งพื้นที่ส่วนนี้เป็นมรดกโลก 2.6 แสนไร่ เฉือนไปยังไม่มีเหตุผล ไม่มีการแยกปลาออกจากน้ำ ส่วนที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าไม่มีการเอื้อนายทุนนั้น นายกฯ รู้เรื่องนี้ได้อย่างไรแล้วรีสอร์ตที่เกิดขึ้นเป็นของใครตาสีตาสาสร้างขึ้นได้เองหรือไม่ พร้อมย้ำว่าหากท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ยังมีการเดินหน้าต่อตนจะดำเนินการถวายฎีกา พร้อมเชิญชวนราษฎรทั่วประเทศให้ร่วมลงชื่อถวายฎีกา เพื่อชี้ให้เห็นว่าขบวนการนี้ไม่ชอบมาพากลอย่างไร 

ส่วนพื้นที่ 2.6 แสนไร่ที่เป็นประเด็น ปัจจุบันสภาพเป็นอย่างไร นายดำรงค์ ยอมรับว่า อาจจะไม่ได้เป็นป่าทึบ มีต้นไม้เป็นหย่อมๆ ที่ซื้อไว้ไม่ได้มาทำก็มีต้นไม้ขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่การทำกินคือไปเช้ากลับค่ำ กลางคืนสัตว์ป่าสามารถเดินได้ แต่วันนี้มีการเปลี่ยนเป็นโรงแรมรีสอร์ตไฟสว่างทั้งคืน ธรรมชาติแปรเปลี่ยน และอุโมงค์ทับลานสัตว์ที่ไหนจะเดินเนื่องจากไฟสว่างทั้งคืน แต่ยอมรับว่าป่าเสื่อมโทรม แต่หากเราไม่ทำอะไรป่าก็สามารถที่จะฟื้นคืนกลับมาได้ ซึ่งตรงจุดนั้นเป็นพื้นที่แนวกันชนระหว่างเขาใหญ่และทับลานซึ่งสัตว์จะต้องเดินผ่านไปมา และมองว่า หากมีการปฏิรูปที่ดินเกิดขึ้นมีเจ้าของเดิมถือครอง ไม่เกิน 10% นอกนั้นคือเปลี่ยนมือทั้งหมดแล้ว 

“ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ตนมองว่าชาวบ้านได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะปัจจุบันทำกินในพื้นที่อุทยานฯ ไม่มีใครจับกุม หากมีการปฏิรูปที่ดินจะได้รับโฉนด และสามารถนำไปขาย ซึ่งเรื่องนี้จะโทษชาวบ้านไม่ได้ เพราะต่างก็อยากได้สิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น” 

ส่วนประเด็นที่หลายคนมองว่า หากมีการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนอาจเป็นเพียงทางผ่าน แต่ท้ายที่สุดแล้วที่ดินจะไปอยู่ในมือของนายทุนนั้น นายดำรงค์ บอกว่าแน่นอน ดูกรณีตัวอย่างม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่ ชาวม้งที่ไหนจะมาก่อสร้างโรงแรม หรือแม้กระทั่งภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ชาวบ้านที่ค้าขายปลูกกะหล่ำปลี จะเอาเงินที่ไหนไปสร้าง และพื้นที่ทับลานก็เช่นเดียวกันมีการใช้นอมินี มีการใช้ชื่อคนอื่นมาดำเนินการให้ขนาดยังไม่ทำอะไร ก็มีการไปโฆษณาเรื่องโอโซนดีเอาไว้แล้ว

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส