ทลายเครื่องสำอางกรอกมือ บำรุงเส้นผม ส่งขายออนไลน์ร้านเสริมสวย

13 ก.ค. 67

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม สสจ.ปทุมธานี ทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางกรอกมือ ส่งขายทั่วประเทศ มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี โดย นายแพทย์ภุชงค์ ไชยชิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ปฏิบัติการทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางที่ใช้กับผมและหนังศีรษะยี่ห้อสมุนไพรบัวทอง ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ใช้ผลิต รวมจำนวน 69 รายการ รวม 283,200 ชิ้น  มูลค่ากว่า 20,000,000 บาท

สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการประสานจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี แจ้งเบาะแสจากประชาชนให้ตรวจสอบบ้านพักอาศัยที่ลักลอบผลิตเครื่องสำอางบำรุงผม ยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ตามร้านเสริมสวย ขายตามท้องตลาด ร้านขายอุปกรณ์เสริมสวย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้สืบสวนติดตามจนทราบถึงสถานที่ลักลอบผลิตสินค้าดังกล่าวจนนำมาสู่การเข้าตรวจค้นในครั้งนี้

1720841095834

ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นำหมายค้นของศาลจังหวัดปทุมธานี เข้าตรวจค้นบ้านพักอาศัยในหมู่ที่ 6 ต.บางพูน อ.ปทุมธานี จ.ปทุมธานี พบ นางสาว นิสาชล(สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี  รับว่าเป็นเจ้าของสถานที่ โดยสถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของบริษัท บัวทอง คอสเมติกส์ 2021 จำกัด ขณะเข้าตรวจค้นพบคนงาน 4 คน กำลังผลิตเครื่องสำอาง ด้วยการกรอกมือใส่ขวดเพื่อนำออกขายให้กับประชาชน ตรวจยึดของกลาง ได้แก่

  1. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ น้ำมันใส่ผม น้ำมันบำรุงเส้นผม ครีมบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ขจัดรังแค ครีมน้ำนมบำรุงผม ครีมหมักผม ยี่ห้อสมุนไพรบัวทอง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบรรจุเสร็จพร้อมขาย จำนวน 29 รายการ รวมกว่า 25,200 ขวด
  2. วัตถุดิบบรรจุอยู่ในถัง 200 ลิตร จำนวน 6 รายการ
  3. อุปกรณ์การผลิต ได้แก่ ขวดเปล่า กระปุกเปล่า ฝา สติกเกอร์ อุปกรณ์ในการผลิตจำนวน 34 รายการ รวมกว่า 258,000 ชิ้น

ตรวจยึดของกลาง รวมจำนวน 69 รายการ จำนวนกว่า 283,200 ชิ้น มูลค่ากว่า 20,000,000 บาท

1720841009149

จากการสอบถาม นิสาชล (สงวนนามสกุล) รับว่า ตนเองจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ศึกษาวิธีการผลิตจากคู่สมรส ซึ่งอดีตเคยเป็น เซลล์ ขายสินค้าประเภทเครื่องสำอางมาก่อน ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2555 จึงได้ทดลองผสมสูตรต่างๆ และทดลองนำออกขายโดยส่งตามร้านเสริมสวย ได้รับการตอบรับดี จึงได้พัฒนาสูตรเรื่อยๆ มา โดยส่งขายตามร้านเสริมสวย มินิมาร์ต ร้านขายอุปกรณ์เสริมสวย รายได้ประมาณ 300,000 บาท ต่อเดือน ต่อมามียอดขายมากขึ้น จึงขยายกิจการ โดยมีตัวแทนเสนอสินค้า ปัจจุบันมีเซลล์ออกนำเสนอสินค้าตามสถานที่ต่างๆ จำนวน 8 คน แบ่งตามภูมิภาค จำนวน 4 สายงาน ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีรายได้ในการขายประมาณ เดือนละ 600,00 บาท ปีละประมาณ 7,200,000 บาท มีลูกค้าที่เป็นร้านเสริมสวย ร้านค้า ร้านขายเครื่องสำอาง ทั่วประเทศกว่า 1,500 คน  

1720841069276

โดยการขอเลขจดแจ้งผลิตภัณฑ์ (เลข อย.) ได้ให้โรงงานที่ผลิต ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งโรงงานตั้งอยู่ใน อำเภอคลองข่อย จังหวัดนนทุบรี และโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร โดยเมื่อทางโรงงานจดเลขจดแจ้งแล้ว ก็จะให้โรงงานผลิตเป็น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสำเร็จรูป บรรจุลงในถังพลาสติก จากนั้นนำมากรอกลงขวด กระปุก ติดสติกเกอร์ นำส่งขายให้กับลูกค้าต่อไป สำหรับผลิตภัณฑ์แฮร์โค้ท ซึ่งมีจำนวน 5 กลิ่น ตนเองได้สั่งสารตั้งต้นมาจาก บริษัทจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ย่านบางนา โดยส่งมาเป็นถังขนาด 200 ลิตร จากนั้นตนเองนำหัวน้ำหอมมาผสมเพื่อจำแนกกลิ่น เมื่อได้กลิ่นตามสูตรแล้ว จึงนำออกบรรจุ โดยให้คนงานกรอกลงขวด ติดสติกเกอร์ ออกขาย โดยนอกจากจะมี เซลล์ นำสินค้าไปเสนอขายตามสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังมีการเสนอขายผ่านสื่อออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆเช่น LAZADA SHOPEE เป็นต้น โดยส่งขายในราคาขวดละ 40 -155 บาท แล้วแต่ชนิดของเครื่องสำอาง

1720841050854

สำหรับขวดเปล่า กระปุก ฝาจุก ฝาปั้ม ตนเองสั่งมาจากบริษัท ซึ่งจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวมาจากเขตบางนา กรุงเทพมหานคร สำหรับฉลากที่เป็นสติกเกอร์สำหรับติดขวดผลิตภัณฑ์ ตนเองสั่งมาจากโรงพิมพ์แห่งหนึ่ง บริเวณเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร จากนั้นเมื่อได้อุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว จะนำมาบรรจุเครื่องสำอางโดยใช้แรงงานกรอกลงขวดหรือกระปุกเพื่อส่งขายต่อไป

1720841023663

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558

1.ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  1. ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางปลอมฝ่าฝืนมาตรา 27(2) ประกอบมาตรา 29 (1) โดยเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางปลอมฝ่าฝืนมาตรา 27(2) ประกอบมาตรา 29 (4) โดยเป็นเครื่องสำอางที่แสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางฉลากแสดงข้อความที่ไม่ตรงต่อความจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส