ศาสตราจารย์จริง ออกโรงฟาด กว่าจะได้ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ง่ายๆ

15 ก.ค. 67

 

ศาสตราจารย์จริง ออกโรงฟาดกว่าจะได้ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ง่ายๆ จี้ อว.ตรวจสอบพวกไร้ผลงานประจักษ์ แต่แอบอ้างใช้ ด้าน อาจารย์อ๊อด ย้ำ ม.แคลิฟอร์เนีย เอฟซีอี เป็นแค่บริษัท ไม่ใช่มหาวิทยาลัยจริง 

วันที่ 15 ก.ค. 67 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กทม. รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา พร้อมด้วย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และทีมงาน (CHES) ยื่นหนังสือต่อ รมว.อว. โดยมี นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. เป็นตัวแทนรับเรื่อง 

เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ และต้องประกาศในราชกิจจาฯ ในราชอาณาจักรไทยถึงจะสามารถใช้คำนำหน้านี้ได้ เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง กรณีที่เป็นข่าวโด่งดังในสังคมไทยจนเกิดความสับสนในขณะนี้ 

นายวันนี กล่าวว่า ทางกระทรวง อว.ก็จะดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอน เรามีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ กระทรวงก็ขออนุญาตรับเรื่องเอาไว้ก่อนส่วนรายละเอียดจะต้องไปดูอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะต้องเชิญ สว. มาพูดคุยด้วยหรือไม่ ก็คงต้องดูรายละเอียดนิดหนึ่ง ทั้งนี้ในส่วนของการให้ตำแหน่งทางวิชาการ ถ้าเป็นของประเทศต่างๆ จะมีระบบที่แตกต่างกัน ในส่วนของแวดวงวิชาการของไทยก็จะมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการจากต่างประเทศก็มาดำเนินการขอเทียบตำแหน่ง ในส่วนของกระทรวง อว.มีหลักเกณฑ์อยู่แล้วตามทั่วไป เมื่อได้รับการเทียบแล้วก็จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดทั่วไป ส่วนเรื่องการใช้ชื่อตำแหน่งทางวิชาการ ถ้าได้มาถูกต้อง ผู้นั้นก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ชื่อได้ แต่ต้องใช้เป็น Professor ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ 

เมื่อถามว่า ถ้าจบจากจากต่างประเทศสามารถใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในประเทศไทยได้หรือไม่ นายวันนี กล่าวว่า เรื่องคุณวุฒิกับตำแหน่งทางวิชาการเป็นคนละเรื่องกัน ต้องแยกเรื่อง ซึ่งเราจะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้เร็วที่สุด หากเป็นตำแหน่งศาสตราจารย์จะต้องมีการนำเสนอเพื่อโปรดเกล้าฯ 

ด้าน อาจารย์อ๊อด กล่าวว่า ตนยืนยันว่า มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เอฟซีอี ไม่ใช่มหาวิทยาลัย เป็นเพียงแค่บริษัท ซึ่งค่อนข้างชัดเจนแล้ว เพราะฉะนั้นการใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ หรือ ว่าที่รองศาสตราจารย์ หากใช้ที่บ้าน ใช้ที่ทุ่งนา หรือร้านอาหาร สามารถใช้ได้ แต่เมื่อนำเข้าสู่ระบบราชการ โดยเฉพาะในกระบวนการสรรหาผู้ที่จะเข้าไปเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของประเทศ มีปัญหาแน่นอน และกลุ่มคนที่ไปแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อรับรองในสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งอ้างอิง สำนักงานกพ. ว่ารับรอง และโชว์เอกสาร พร้อมประกาศจะฟ้องคนนั้นคนนี้ รวมถึงตนด้วยนั้นก็คงต้องรับตรงนี้ไป เพราะท่านได้นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่สาธารณะ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จุดเริ่มต้นการดำเนินการต้องว่ากันไป 

อาจารย์อ๊อด กล่าวว่า ส่วนที่มีการแถลงข่าวและนำเอกสารมาโชว์นั้น เป็นเอกสารเทียบหน่วยงานบริษัทของเขาเต็มๆ ที่เป็นการประเมินเครดิตของชาวต่างชาติ แต่คนถามว่าทำไมมหาวิทยาลัยนี้ถึงไม่โดนปิด เพราะมันไม่ใช่มหาวิทยาลัย แต่เป็นบริษัท ดังนั้นจะไปปิดบริษัทไม่ได้ แต่เท่าที่ทราบจากข้อมูล ที่ผ่านมามีการขอให้ลบชื่อคำว่า university ออก แต่เขาก็ไม่ดำเนินการ เพราะฉะนั้นการแถลงในวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นการนำเอกสารจริงของบริษัทประเมินมาโชว์ แต่อ้างว่าเป็นวุฒิการศึกษา ซึ่งตรงนี้เป็นวุฒิปลอม รวมถึงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ได้มาก็คือการจะใช้ในราชอาณาจักรไทยได้จะต้องได้รับการโปรดเกล้า และประกาศในราชกิจจาก่อน ดังนั้นการนำไปใช้ในหน่วยงานราชการก็ต้องมีการรับผิดชอบด้วย จากนี้จะมีประชาชนกลุ่มหนึ่ง รวมถึงตนจะแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่แถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาด้วย 

ที่ผ่านมาก็มีหลายคนที่ได้ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ทางวิชาการจากต่างประเทศ แต่การที่จะนำมาใช้ประเทศไทยนั้นต้องถูกกฎหมาย การได้มาโดยถูกต้องและเข้าสู่ระบบราชการ ตอนนี้ตำแหน่งนี้ถูกใช้ในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง เพราะท่านอาจจะต้องขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 เสาหลักในการออกกฏหมายมาบังคับใช้ ถือเป็นเรื่องใหญ่

แต่ท่านที่เป็นข่าวเข้ามาในระบบ และใช้คำว่า ศาสตราจารย์ ทำให้ประชาชนคนไทยเชื่อว่าได้รับการโปรดเกล้าประกาศในราชกิจจานุเบากษา และได้รับการรับรองจากสำนักงานปลัดกระทรวง อว.ตนจึงต้องมาที่นี่เพื่อทวงถามความชัดเจน 

อาจารย์อ๊อด กล่าวว่า ตอนนี้ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เอฟซีอี ไม่มีในระบบมหาวิทยาลัย หากไปดูในเว็บไซต์ของบริษัทนี้จะขึ้นชื่อว่ามีรัฐมนตรีของเราเป็นศิษย์เก่า แล้วบอกว่ารัฐสภาไทยรับรอง สอดคล้องกับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีการโชว์เอกสารใบหนึ่งจากทนายที่บอกว่ารัฐสภารับรอง แต่ไม่ใช่กระทรวงอว. รับรอง ดังนั้นเป็นการนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จแบบนี้ ศาสตราจารย์ตัวจริงยังงงว่าใช้แบบนี้ได้เหรอ 

มีการใช้เอกสารสำคัญ และยศตำแหน่งสำคัญกับเรื่องที่สำคัญ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องรอให้แต่ละหน่วยงานออกมา ซึ่งกระทรวงอว. ก็เป็นอีก 1 หน่วยงานที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ตนจึงมาที่นี่ก่อน ส่วนการดำเนินคดีต่างๆ ก็ว่ากันไป 

ด้าน ศ.ดร.ศิวัช กล่าวถึงการได้มาซึ่งตำแหน่งศาสตราจารย์ว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์ตามความเข้าใจในระบบของคนไทย คนที่เป็นศาสตราจารย์ได้ควรเป็นอาจารย์ก่อน และมีลำดับพัฒนาการจากอาจารย์ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นรองศาสตราจารย์ และเป็นศาสตราจารย์ สูงสุดคือศาสตราจารย์ระดับที่ 11 ซึ่งจะมีขั้นของลำดับพัฒนาการ ทั้งโลกก็ใช้ระบบนี้ ไม่ใช่กระโดดจากอาจารย์ธรรมดาเป็นศาสตราจารย์เลย โดยไม่มีผลงานเชิงประจักษ์ นอกจากจะจะได้รางวัลระดับโนเบล 

ดังนั้นศาสตราจารย์ที่เขาได้จากต่างประเทศจริงๆ ก็มี แต่ต้องเก่งจริงๆ แต่เมื่อมาใช้ในบริบทของไทย พอเข้าสู่ระบบราชการไทยปั๊บยังไงก็จะต้องมีการเข้ามาประเมินอีกรอบแล้วจะต้องเข้าสู่กระบวนการอีกรอบ เพื่อโปรดเกล้าฯ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น ทำให้สังคมเกิดความสับสน และศาสตราจารย์หลายคนก็ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงตนด้วย ก็เลยอยากขอความกรุณาให้ทางกระทรวงอว. ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงให้ความชัดเจนกับสังคม 

อย่างไรก็ตามส่วนตัวใช้ระยะเวลาจากการเป็นอาจารย์มาถึงระดับศาสตราจารย์นั้น 7 ปี แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะตนไม่ได้ทำอย่างอื่น ทำแต่งานแล้วก็งานวิจัย ซึ่งระยะ เวลา 7 ปีถือว่าเร็วแล้ว เพราะส่วนใหญ่ใช้เวลา 15 ปี ทั้งนี้เรื่องนี้ถือว่าบั่นทอนคนที่ได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์มาก อยากวอนให้ทางกระทรวงอว. แสดงความชัดเจนในเรื่องนี้

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส