อ.ยุทธพร ฟันธงยุบ ก้าวไกล 99.99 % ชี้ ไอติม เหมาะนั่งหัวหน้าพรรคคนใหม่

25 ก.ค. 67

อ.ยุทธพร ฟันธงยุบ ก้าวไกล 99.99 % ชี้ ไอติม เหมาะนั่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ แนะจับตา แด๊ดดี้ปุ่น  ขณะที่ ศิริกัญญา เป็นผู้หญิง ทำให้เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัด 

วันที่ 25 ก.ค. 67 รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าววิเคราะห์ถึงแนวทาง กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินยุบ พรรคก้าวไกล ในวันที่ 9 ส.ค.ว่า 

มีความเป็นไปได้สูงมากถึง 99.99 % เนื่องจากประเด็นทางข้อกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นล้มล้างการปกครอง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจจะใช้ประเด็นนี้หยิบยกมาวินิจฉัย จึงเป็นไปได้สูงมากว่าการพิจารณาในครั้งนี้จะออกมาไม่เป็นคุณกับพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ยังมีการเปิดโอกาสให้มีการไต่สวนตามที่พรรคก้าวไกลร้องขอ ดังนั้นโอกาสที่พรรคจะแสดงพยานหลักฐานในการโต้แย้งก็น้อยลง 

ทั้งนี้หากศาลสั่งยุบพรรค กฎหมายได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้ตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคด้วย จึงหนีไม่พ้นว่าคณะกรรมการบริหารพรรคส่วนหนึ่งต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และต้องลุ้นต่อว่าการตัดสินจะเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดแรก หรือชุดหลัง และจะตัดสิทธิ์กี่ปี ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของศาล ซึ่งตามบรรทัดฐานที่เคยวางไว้ใน กรณีการยุบพรรค คือตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี 

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวอีกว่า หากพรรคก้าวไกลจะพลิกกลับมาไม่ถูกตัดสิทธิ์นั้น มีเปอร์เซนต์อยู่ที่ 0.01 % คือชนะฟาวล์คือกระบวนการดำเนินการของ กกต. ข้ามขั้นตอน จึงอาจทำให้คดีนี้พรรคก้าวไกลชนะฟาวล์ 

ทั้งนี้มองว่า หากพรรคก้าวไกลแพ้ จะมีผลดีกับพรรคคือได้คะแนนสงสาร และความเห็นใจจากประชาชน จากการใช้นิติสงคราม แต่ในแง่ของข้อเสียกับพรรคคือ แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะขายอุดมการณ์ และจุดยืนของพรรค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายต่างๆ ต้องขับเคลื่อนด้วยคน ซึ่งการสร้างคนให้เป็นที่รู้จัก และรับรู้กับสังคมต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นอาจเป็นข้อเสียที่พรรคก้าวไกลอาจขาดแม่เหล็กที่จะดึงดูดคน  เพราะกรรมการบริหารพรรคมีแม่เหล็ก เช่น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมาหลายคนเลือก พรรคก้าวไกล เพราะต้องการสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้หากมีการตัดสิทธิ์ทางการเมืองก็จะทำให้พรรคก้าวไกลเสียพื้นที่อันดับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรไปด้วย และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า หากก่อตั้งพรรคใหม่จะมี สส.ไปด้วยกี่คน หรือมีงูเห่า หรือผึ้งแตกรังอีกครั้ง ซึ่งมองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่อาจไม่เกิดขึ้นมากมายนัก 

รศ.ดร.ยุทธพร มองด้วยว่า หากมีการยุบพรรคก้าวไกลในฟากฝั่งอนุรักษ์นิยมนั้น จะมีการชิงความได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งผลคะแนนในการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา เป็นการสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าพลังอนุรักษ์นิยมยังมีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็อาจได้ประโยชน์จากการที่ที่ก้าวไกลอ่อนแรงลงไป 

ส่วนกรณีที่มีการพูดถึว่าหากมีการยุบพรรค จะเป็นการยิ่งยุบยิ่งโต รศ.ดร.ยุทธพร  ระบุว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับคำพูดนี้ เพราะพรรคก้าวไกลประสบควาทสำเร็จในพื้นที่ที่เป็นเขตเมือง แต่การขยายตัวขึ้นของพรรคก้าวไกลใน สส.เขตไม่ใช่เรื่องง่าย และในการเลือกตั้งในปี 2566 ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนไม่น้อยสนับสนุนที่ตัวบุคคล ดังนั้นหาก พรรคก้าวไกลไม่สามารถหาแม่เหล็กที่ดูดคะแนนเสียงของผู้คนได้เช่นนายพิธา ก็ไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย แม้ว่าจะถูกยุบพรรคก็ตาม  

ส่วนบุคคลที่เหมาะสมจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคก้าวไกล หากถูกยุบนั้น รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า คือ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แต่ยังอาจติดเรื่องของอายุ เนื่องจากอายุยังไม่เกิน 35 ปี ดังนั้นการที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรียังคงไม่สามารถทำได้ แต่หากขึ้นมาในเวลานี้ก็คงเป็นการประคับประคองพรรคในฝ่ายนิติบัญญัติไปก่อน และเมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้านายพริษฐ์ คงอายุครบ 35 ปี และสามารถถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ 

นอกจากนี้มองว่า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็เป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม ทั้งความรู้ และความสามารถ แต่ น.ส.ศิริกัญญาเป็นผู้หญิง และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไทยมีเพียงคนเดียวที่เป็นผู้หญิง คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วยบารมีของนาย ทักษิณ ชินวัตร หาก น.ส.ศิริกัญญาขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคก็ต้องดูว่ามีเสียงตอบรับเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาสัดส่วน สส.และ สว. ซึ่งมีเพดานของผู้หญิงเข้ามาทำหน้าที่ยังน้อยอยู่ จึงเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดในประเด็นนี้ 

นอกจากนี้มองว่าอีกหนึ่งคนที่น่าจับตาที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่อาจจะเป็นคนที่มานอกพรรคอย่าง น.ต.ศิธา ทิวารี หรือ แด๊ดดี้ปุ่น ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพรรคก้าวไกล และอาจมีโอกาสได้ 

อย่างไรก็ตามมองว่า การยุบพรรคการเมืองไม่เป็นประโยชน์อะไรกับสังคมไทย หากใช้วิธียุบพรรคการเมืองไปเรื่อยๆ ระบบรัฐสภาก็จะไม่มีความหมาย

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส