ชาวบ้านพังงา ร้อง กมธ.ที่ดินฯ ช่วยแก้ปัญหาบ่อขยะเทศบาลพังงากองพะเนิน

30 ก.ค. 67

 

ชาวบ้านในหงบ จ.พังงา ยื่นหนังสือร้อง กมธ.ที่ดินฯ ช่วยแก้ปัญหาบ่อขยะเทศบาลพังงา ปล่อยขยะตกค้างเป็นกองพะเนิน แถมปล่อยน้ำเสียลงป่าชายเลนซ้ำ 

วันที่ 30 ก.ค. 67 ที่บ้านในหงบ ต.ตากแดด อ.เมือง จ.พังงา นายวรวุฒิ ชัยธนะวิวรรธ ผู้ช่วยประจำตัว สส.พรรคก้าวไกล นาย ฐิติกันต์ ฐิติพฤติกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมลงพื้นที่รับข้อร้องเรียนจากประชาชน กรณีบ่อฝังกลบขยะภายใต้ความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองพังงา ปล่อยน้ำเสียลงสู่พื้นที่ป่าชายเลน และแหล่งน้ำ จนส่งผลกระทบกับชุมชนและประชาชนโดยรอบ 

ชาวบ้านพังงา ร้อง กมธ.ที่ดินฯ ช่วยแก้ปัญหาบ่อขยะเทศบาลพังงากองพะเนิน

หลังรับหนังสือ และพูดคุยกับตัวแทนประชาชนที่เข้าร้องเรียน นายวรวุฒิและนายฐิติกันต์ ได้ร่วมกันลงพื้นที่บริเวณที่ได้รับผลกระทบ พร้อมซักถามข้อมูลจากตัวแทนประชาชนที่เข้าร้องเรียน จนได้ทราบความว่าบ่อขยะดังกล่าวโดยเทศบาลเมืองพังงามีการดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน โดยจะจัดเก็บขยะในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ในจังหวัดพังงา เพื่อนำมาฝั่งกลบดินในพื้นที่ดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาการจัดการขยะไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากจะมีขยะที่ไม่ได้รับการฝั่งกลบตกค้างอยู่เป็นจำนวนมากจนส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วพื้นที่แล้ว ยังมีการสร้างคู่ระบายน้ำและปล่อยน้ำเสียจากขยะลงสู่พื้นที่ป่าชายเลนโดยไม่มีกระบวนการบำบัด ทำให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ไม่สามารถทำประมงได้ 

ชาวบ้านพังงา ร้อง กมธ.ที่ดินฯ ช่วยแก้ปัญหาบ่อขยะเทศบาลพังงากองพะเนิน

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนได้มีการคัดค้านมาโดยตลอด อีกทั้งยังเคยเข้าสู่ขั้นตอนการร้องทุกข์ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพังงามาเป็นเวลานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ล่าสุดประชาชนได้ตัดสินใจร้องเรียนผ่านคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ 

นอกจากปัญหาขยะไม่ได้ถูกฝังกลบตกค้างจนส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วพื้นที่ และผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านไม่สามารถทำประมงได้แล้ว สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือสภาพแวดล้อมของป่าชายเลน ที่ปัจจุบันน้ำบริเวณป่าชายเลนมีกลิ่นเหม็นและเป็นสีดำ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณสัตว์ทะเลในทะเลพังงา เพราะป่าชายเลนเป็นพื้นที่สำคัญในทางระบบนิเวศในฐานะแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ 

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างมหาศาลติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จากโครงการของเทศบาลเมืองพังงา ยังไม่นับรวมความเสียหายที่ชุมชนได้รับ เนื่องจากพื้นที่จัดเก็บขยะของเทศบาลเมืองพังงาอยู่ห่างจากอาคารบ้านเรือนของประชาชนบ้านในหงบไม่เกิน 500 เมตร ซึ่งที่ผ่านมาตนได้พูดคุยกับแกนนำประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว และได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางในการแก้ไขปัญหาอยู่เป็นระยะ จนนำมาสู่การร้องเรียนให้กลไกกรรมาธิการที่ดินฯ ในวันนี้ 

ชาวบ้านพังงา ร้อง กมธ.ที่ดินฯ ช่วยแก้ปัญหาบ่อขยะเทศบาลพังงากองพะเนิน

ทั้งนี้ ปัญหาการจัดการขยะไม่เพียงแต่ในพื้นที่ จ.พังงา กรณีบ้านในหงบเท่านั้นที่เป็นปัญหา เพราะหากลงไปศึกษาในรายละเอียดการจัดการขยะในภาพใหญ่ของทั้งประเทศ นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป เพราะระบบการจัดการขยะของประเทศไทยที่เป็นไปตามมาตรฐานมีเพียง 111 แห่ง จาก 2,074 แห่งทั่วประเทศ นั่นหมายความว่าเรามีบ่อขยะทั่วประเทศไทยถึง 1,963 แห่งที่กำลังส่งผลกระทบและปัญหาให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ ในแบบเดียวกันกับที่บ้านในหงบแห่งนี้ 

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า สุดท้ายนี้ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของโครงสร้างการจัดการขยะทั้งระบบในประเทศไทย ที่ต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์และการอนุญาตดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมามีการปล่อยปะละเลยกันจนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ไปแล้วว่าการฝังกลบแบบชุ่ยๆ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่การแก้ปัญหาในภาพใหญ่เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องใช้งบประมาณและนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไข 

ทั้งนี้ สำหรับกรณีเร่งด่วนเฉพาะหน้าอย่างในกรณีบ้านในหงบ คงต้องมีการใช้กลไกเท่าที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไปก่อน โดยเฉพาะการกำจัดขยะที่ตกค้างให้ได้มากที่สุด ยุติการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ แต่สิ่งที่ยังน่ากังวลคือกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่ต้องอาศัยเวลาอีกนาน ซึ่งทั้งหมดนี้ทางคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ที่ได้มารับเรื่องแล้วจะมีการนำเข้าสู่ กมธ.เป็นวาระเร่งด่วน และประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาต่อไป 

“เรื่องนี้สะท้อนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ที่ขาดความใส่ใจในผลกระทบจากการดำเนินการโครงการ การจัดการขยะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำด้วยความรอบคอบ แต่การที่หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถปล่อยปะละเลยให้มีการดำเนินการแบบไม่ได้มาตรฐานมาอย่างยาวนาน ในพื้นที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่สุดอย่างป่าชายเลน ต้นน้ำที่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตและแหล่งทำมาหากินของพี่น้องประชาชน เป็นเครื่องสะท้อนว่านโยบายการจัดการขยะทั้งระบบของเราล้มเหลวขนาดไหน” นายวรวุฒิ กล่าว

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส