ระบบแจ้งเตือนภัย อีกนานแค่ไหนประเทศไทยถึงจะได้ใช้งานจริงเสียที

12 ก.ย. 67

สาธารณภัย ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือคน ถือเป็นเรื่องที่ยากจะรับมือไม่ให้เกิดความสูญเสีย หากไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า การแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนรับรู้ถึงสถานการณ์จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในประเทศไทยกลับไม่เคยมีระบบแจ้งเตือนภัยทันทีหรือล่วงหน้าเกิดขึ้นเสียที

บ่อยครั้งที่ประเทศของเรามีการเกิดสาธารณภัย ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือคน แต่กลับไร้การแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนรับรู้ถึงสถานการณ์ในทันทีหรือล่วงหน้า นับตั้งแต่เหตุการณ์มหันตภัยสึนามิปี พ.ศ. 2547 ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่ยังคงเป็นฝันร้ายของคนไทย กราดยิงทั้งที่โคราช หนองบัวลำภู และพารากอน ตลอดจนสถานการณ์น้ำท่วมหนักเชียงรายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ การแจ้งเตือนง่ายๆ Emergency Alert System หรือระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินด้วย SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยใช้เทคโนโลยี Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือหลายเครื่องในเวลาเดียวกัน สามารถส่งเจาะจงเฉพาะพื้นที่ได้ โดยอิงจากตำแหน่งเสาสัญญาณโทรศัพท์ ช่วยให้ประชาชนรับทราบข่าวสารสถานการณ์ได้ทันท่วงที ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น

สะท้อนชัดถึงความไม่พร้อม-ไม่ใส่ใจของภาครัฐก็อาจจะไม่ผิดนัก เพราะประชาชนไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าผ่านหน่วยงานของรัฐเลย ที่ได้รับทุกวันก็มีแต่แจ้งเตือนจากมิจฉาชีพที่ส่งถึงมือถือประชาชน ส่วนข้อมูลหากจะรับรู้ได้ก็มาจากการกระจายข่าวสารผ่านโลกออนไลน์ของประชาชนถึงประชาชนด้วยกันเองทั้งนั้น 

istock-1225585631

หันกลับไปมองที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างร่วมทวีปเอเชียอย่าง "ญี่ปุ่น" ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องของการเปิดภัยพิบัติบ่อยที่สุด ก็ใช้ระบบเตือนภัยดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติ J-Alert ​เผยแพร่ข้อมูลการเกิดเหตุด่วยเหตุร้าย ภัยพิบัติ จากรัฐบาลสู่สาธารณะอย่างรวดเร็วผ่านดาวเทียมและอุปกรณ์ที่ติดตั้งทั่วทั้งประเทศ หรือแม้แต่ "เกาหลีใต้" ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเกาหลีหรือไม่ แต่เมื่อยืนอยู่ส่วนใดของประเทศก็ตาม ยามเกิดเหตุด่วยเหตุร้ายหรือนานาภัยธรรมชาติ คุณจะได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Korean emergency alert จากรัฐบาลเกาหลี ส่งเข้าในสัญญาณมือถือทันที

ปภ.พัฒนาแอปเตือนภัย แต่รีวิวผู้ใช้งานบอกเตือนภัยที่ไม่ได้แจ้งเตือนอย่างจริงจัง

ใช่ว่าประเทศไทยเราจะไม่มีการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยยามเกิดเหตุร้ายหรือภัยพิบัติใดๆ ขึ้นมา ย้อนไปในต้นปี พ.ศ.2565 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า "Thai Disaster Alert" ขึ้นมาเพื่อแจ้งเตือนสาธารณภัยในทุกประเภทภัย อาทิ อุทกภัย แผ่นดินไหว สึนามิ ฯลฯ ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยสามารถติดตั้งใช้ได้ทั้งระบบ Android และ IOS มีจุดเด่นในการแจ้งเตือนแบบเจาะลึกเข้าถึงเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถเตรียมพร้อมรับมือ-ป้องกันภัยก่อนที่ภัยจะมาถึง เพียงแค่ใส่ข้อมูล - เลือกพื้นที่ - เปิด Location Service ผู้ใช้งานก็จะได้รับข้อมูลแจ้งเตือนภัยได้อย่างง่ายดาย เมื่อจังหวัดที่เลือกไว้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภัยพิบัติ ก็จะมีการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้ผู้ใช้งานทราบทันที โดยส่งเป็นรูปแบบข้อความแจ้งเตือน Notification บนหน้าจอสมาร์ทโฟน

ก่อนจะเพิ่มการ “แจ้งเตือนฝนตกหนัก” ขึ้นมาเพิ่มภายหลังเมื่อหลายพื้นที่ของประเทศเกิดอุทกภัยบ่อยขึ้น เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลคาดการณ์ฝนตกหนัก และเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

272593317_4730241520374214_16
ตัวอย่างทดสอบระบบแอปพลิเคชั่น Thai Disaster Aler / ขอบคุณภาพจาก 
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM

แต่กลับพบการรีวิวจากผู้ใช้งานจริง รีวิวให้ข้อมูลว่าเกิดปัญหาแอปช้า บางครั้งข้อมูลไม่เรียลไทม์ เป็นการแจ้งเตือนผ่าน Notification ธรรมดาของแอป หากปิดแจ้งเตือนหรือไม่ได้เปิดเสียง ก็จะไม่ได้ยินการแจ้งเตือน บ้างก็บอกไม่โชว์ไอคอนอื่นๆ และหนักสุดคือหลายคนไม่รู้ว่าประเทศไทยมีแอปพลิเคชั่นตัวนี้นี้ด้วย เห็นได้จากหลายคอมเมนต์ที่เข้ามารีวิว บอกว่ารู้ว่ามีเพราะฟังมาจากช่องของนายอาร์ม ยูทูบเบอร์ชื่อดังเจ้าของช่อง 9arm

ต่างประเทศมีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบนี้กันมานานแล้ว ทำไมประเทศเรายังทำไม่ได้

ย้อนกลับไปในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 "ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์" ส.ส. จ.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล (ณ ขณะนั้น) เคยลุกขึ้นอภิปรายและตั้งคำถามการดำเนินงานของ กสทช. ถึงความคืบหน้าระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่าน SMS เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์ ว่ามีการดำเนินการไปถึงขั้นไหน หลังจากที่มีข่าวออกมาจากรองเลขาธิการ กสทช. ที่บอกกับสำนักข่าวว่าระบบ Cell Broadcast อยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ว่าติดขัดอยู่สองประเด็น ประเด็นแรกคือการขาดงบประมาณ

โดยถามความคืบหน้าในการดำเนินการการแจ้งเตือนภัยพิบัติด้วยระบบ Cell Broadcast ระบบการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือหลายเครื่องในเวลาเดียวกัน สามารถส่งเจาะจงเฉพาะพื้นที่ได้ โดยอิงจากตำแหน่งเสาสัญญาณโทรศัพท์ ยกตัวอย่างเช่น หากมีการคำนวณระดับน้ำและปริมาณน้ำฝนแล้ว ว่าจะมีน้ำท่วมใน อ.สันป่าตอง เราก็สามารถส่ง SMS แจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและพื้นที่ใกล้เคียงได้ ก่อนจะอ้างอิงจากข่าวในหลายสำนัก ที่รายงานข่าวจากการที่ รองเลขาธิการ กสทช. สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน ได้ชี้แจงกับสำนักข่าวว่าระบบ Cell Broadcast อยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ไฉนจนตอนนี้ยังไม่มีการใช้งานเสียที

ครั้งนั้น ส.ส. ภัทรพงษ์ ได้ตั้งคำถาม 2 ประเด็น โดยระบุว่า "ประเด็นแรก ประเทศเราไม่มีงบประมาณที่จะส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนที่น้ำกำลังจะท่วมบ้านเลยหรอครับ มาประเด็นที่สองนะครับ ทางเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่าผู้ประกอบกิจการบางรายไม่สามารถอัพเกรดฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์เพื่อที่จะรองรับระบบตรงนี้ได้ มาถึงประเด็นคำถามที่สอง เราไม่มีเงื่อนไขนี้ในใบอนุญาตประกอบกิจการอยู่แล้วหรอครับ ทาง กสทช. ได้กำชับกับผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์อย่างชัดเจนว่า หากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นให้แจ้งเตือนกับประชาชน ตามประกาศ กสทช. อย่างชัดเจน ทำไมเราไม่สามารรถใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ได้กับผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยิ่งถ้าเกิดว่า กสทช. แจ้งว่าขาดงบประมาณ เรายิ่งต้องใช้หลักการนี้ให้ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดำเนินการเลยหรือเปล่า"

"ทาง กสทช. ชี้แจงต่อว่าระบบ Cell Broadcast จะพัฒนาเป็นสองเฟส เฟสแรกคือการส่ง SMS ทั่วไป ที่จะแล้วเสร็จในปี 2565 แต่ในต้นปีที่ผ่านมาครับช่วงเมษายนของ จ.เชียงใหม่ ค่า PM 2.5 AQI พุ่งสูงกว่า300-400 แทบทุกวัน พวกเราชาวเชียงใหม่ก็ไม่เคยได้รับแจ้งเตือนเลยแม้แต่ฉบับเดียว มาในเฟสที่สอง กสทช. แจ้งว่าระบบ Cell Broadcast จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีหน้า สิ้นปีหน้าของปีที่แล้วก็คือสิ้นปีนี้ (2566) คำถามที่สามนะครับ เหลือเวลาอีกแค่ 4 เดือน นั่นหมายความว่าประเทศไทยของเราจะได้รับระบบ Cell Broadcast แจ้งเตือนภัยพิบัติเฉพาะกลุ่มพื้นที่แล้วใช่หรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ผมขอทราบเหตุผลและแนวทางที่ กสทช. อยากให้สภาแห่งนี้ช่วยเหลือ เพราะนี่คือระบบพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ

ผมอยากให้ทุกคนมองระบบนี้ให้มันกว้างขึ้น เพราะหากเราพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว มันไม่ได้แจ้งเตือนแค่ภัยธรรมชาติอย่างเดียวนะครับ มันยังแจ้งเตือนภัยจากมนุษย์ได้ด้วย มีอะไรบ้าง เหตุการณ์กราดยิง ถ้าเรามีระบบแจ้งเตือนอย่างรวดเร็วรัศมี 10 กิโลเมตร เราจะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้กี่ชีวิต แค่นี้ก็คุ้มค่าแล้วหรือเปล่า มาใกล้ตัวอีกนิด เหตุการณ์เด็กหายหรือพลัดหลงจากผู้ปกครอง ถ้าเรามีระบบแจ้งเตือนประชาชนในรัศมีใกล้ๆ ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาช่วยตามหาได้ มันจะดีไหมครับ

ท่านประธานครับ ประชาชนชาวไทยได้รับ SMS หลอกลวงจากแก๊งต้มตุ๋นแทบทุกวัน แต่พวกเรากลับไม่เคยได้รับ SMS แจ้งเตือนภัยพิบัติจากภาครัฐเลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมในฐานะผู้ที่ลงพื้นที่เห็นปัญหามาหลายปีและมายืนวันนี้ในฐานะผู้แทนราษฎร การที่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ มันเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เตรียมตัวเก็บของไม่ทัน บางคนหลับๆ อยู่ตื่นมาน้ำเต็มบ้าน บางคนโดนไฟดูดก็มี เพราะฉะนั้นครับต่างประเทศเขามีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบนี้กันมานานแล้ว ทำไมประเทศเราถึงยังทำไม่ได้ ผมก็ฝากคำถามทาง กสทช. ไปนะครับ"

f41x9ktawaayzph
ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ส.ส. จ.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล (ณ ขณะนั้น)

เอกชนผุดระบบ “Cell Broadcast” แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ 

ต้นปี พ.ศ. 2567 "ทรู คอร์ปอเรชั่น" ยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสาร เผยความสำเร็จการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน อาทิ ภัยแผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ภัยน้ำท่วม เป็นต้น เป้าหมายเพื่อป้องกันอันตรายความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สินทั้งผู้ใช้งานคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านจอมือถืออย่าง Cell Broadcast โดยระบุว่าอยู่ระหว่างเจรจาร่วมมือกับภาครัฐไม่ว่าจะเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อนำไปใช้งานจริง

ซึ่งทางด้าน กสทช. เองก็พร้อมหนุนเรื่องนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ประชาชนทั่วประเทศ พร้อมคาดการณ์กลางปี 2568 ได้ใช้งาน

ครั้งนั้น ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ได้มอบนโยบายเร่งด่วนปีนี้ให้แก่ สำนักงาน กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้เกิดระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Cell Broadcast ที่เชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้มีการใช้งานแพร่หลายในต่างประเทศ มีความเป็นมาตรฐานสากล และดำเนินการได้รวดเร็ว ผ่านการรับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินบัญชี 3 (USO โทรคมนาคม) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่การประชุม กสทช. เพื่อขอความเห็นชอบ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวต่อว่า สำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุมเรื่องนี้ร่วมกับผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดจะมีการประชุมเชิงนโยบายร่วมกัน รวมถึงประเด็นด้านเทคนิคก่อนแจ้งสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยคาดว่าทุกหน่วยงานจะมีความพร้อมเพื่อให้บริการระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในช่วงกลางปี 2568

“ที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดระดับประเทศ เช่น การกราดยิงในห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือเตือนภัยให้แก่ประชาชนซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นบริการทางสังคม หรือ Public Service ที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน ลดการบาดเจ็บ และลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพราะไม่เพียงแต่ปกป้องชีวิต ยังรวมถึงการปกป้องโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลที่เกิดจากความเสียหายที่จะตามมา ซึ่งเราในฐานะหน่วยงานของรัฐก็ต้องร่วมขับเคลื่อน และสนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์ทางสังคมเหล่านี้ร่วมกัน” ประธาน กสทช. กล่าว

ทั้งนี้ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast ของทรูฯ สามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย

1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น

3. การแจ้งเตือนเด็กหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตุการณ์และรายงานถ้าพบคนร้าย

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น

5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป

ความหวังในการมีระบบแจ้งเตือน Cell Broadcast ดูเหมือนจะมีเค้ารางแห่งความหวังขึ้นมา จนกระทั่งเกิดเหตุน้ำท่วมหนักที่ จ.เชียงราย จากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นยางิ ส่งผลกระทบอย่างหนักที่ อ.แม่สาย และอำเภออื่นๆ ของ จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดความรุนแรง กลับลามหนักพรากความสูญเสียจากประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้างต่อเนื่อง ไร้การแจ้งเตือนส่งถึงประชาชนให้เตรียมรับมือก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป มีเพียงประชาชนที่แจ้งเตือนประชาชนด้วยกันเองผ่านไลน์ เฉกเช่นเดียวกับที่ในโลกโซเชียลต่างช่วยกันแชร์-ชี้พิกัดผู้ประสบภัย ผู้ตกหล่นรอการช่วยเหลือ มาตลอดนับตั้งแต่น้ำท่วมในวันแรกๆ

459319425_836375451980255_313

น้ำท่วมเชียงราย กันยายน 2567

ทีวีดิจิทัลขานรับ แผนทดลองเทสต์ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ

ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวในการประชุมหารือเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Warning System : EWS) ในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลที่มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ว่าในช่วงที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้หารือแนวทางดำเนินการร่วมกับผู้ให้บริการโครงข่ายให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินผ่านช่องรายการทีวีดิจิทัล และพยายามผลักดันให้เกิดแผนงานที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดให้มีช่องทางสื่อสารเฉพาะกิจในห้วงเวลาที่อาจเกิดภัยพิบัติธรรมชาติเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปในทุกภูมิภาคมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับภัยธรรมชาติก่อนที่จะเกิดเหตุ รวมถึงรับทราบข้อมูลเพื่อการป้องกันแก้ไขและเยียวยา เมื่อภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ที่จะดำเนินการได้ตามแผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO ด้านวิทยุและโทรทัศน์

การประชุมหารือครั้งนี้สืบเนื่องมาจากกองทัพบก โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ซึ่งได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน Emergency Warning System (EWS) สำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลขึ้น และมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอดำเนินการทดลองทดสอบระบบดังกล่าว โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพื่อบรรเทาผลกระทบและยับยั้งความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ กสทช. พิจารณาอนุญาตและส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการโดยเร็ว ด้วยปัจจุบันปัญหาจากภัยพิบัติจากความแปรปรวนทางธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยและดินถล่ม ปรากฏการณ์ Rain Bomb และน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น เหตุอาชญากรรมที่มีความรุนแรง หรือแหล่งเก็บสารเคมีรั่วไหลในหลายพื้นที่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและกระทบต่อประชาชนโดยตรง

ทั้งนี้การดำเนินการตามแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการสาธารณภัย หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจำเป็นต้องมีความเข้าใจและทำงานสอดประสานกันได้อย่างไม่ติดขัด ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด กสทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการส่งเสริมการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ และต้องเร่งรัดภารกิจการแจ้งเตือนภัยทั้งบนระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล 

ด้านผู้ประกอบการโครงข่าย หรือ MUX และผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน สะท้อนความเห็นต่อที่ประชุมว่า เป็นการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ และช่องรายการต่าง ๆ ยินดีที่จะเข้าร่วมการทดลองทดสอบดังกล่าว เพื่อนำข้อสรุปมาจัดทำแผนดำเนินการจริง โดยขอให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินการของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้ควรกำหนดแผนการทดลองทดสอบและร่วมกันพิจารณาให้เกิดความชัดเจน สามารถส่งสารให้ประชาชนรับรู้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก และควรมีการกำหนดร่วมกัน ทั้งขั้นตอนดำเนินการ ลักษณะและรูปแบบการสื่อสารทั้งข้อความหรือภาพรายการแจ้งเตือน พื้นที่และวันเวลาที่แน่นอนในการทดลองทดสอบการแจ้งเตือนสำหรับภัยพิบัติในระดับต่างๆ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการทดลองทดสอบการแจ้งเตือนภัยในครั้งนี้ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับระดับการแจ้งเตือนภัยในแต่ละเรื่อง ทั้งยังคาดหวังให้สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้ประกอบการต่อไป

มาถึงวันนี้สังคมเริ่มตั้งคำถามถึงการมีระบบแจ้งเตือนยามเกิดภัยพิบัติดังขึ้นมาอีกครั้งและอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อโลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะผลักดันและทำให้ประเทศของเรามีการแจ้งเตือนภัยที่ส่งถึงมือถือประชาชนทั้งประเทศอย่างจริงจังเสียที

459306186_836597905291343_728
น้ำท่วมเชียงราย กันยายน 2567

อ้างอิงข้อมูล

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทรู cell broadcastกสทช.ทีวีดิจิทัล

 

 

advertisement

ข่าวยอดนิยม