มิน ปรมินทร์ : ทุ่มแพชชั่นทั้งหมดใน YUZU GROUP สู่แบรนด์น้องใหม่ Duri Buri ทำทุเรียนให้ร่วมสมัย

24 ก.ย. 67

มิน ปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร กับการทุ่มแพชชั่นและความฝันทั้งหมดจากความชอบกินลงใน YUZU GROUP สู่แบรนด์น้องใหม่ Duri Buri ทำทุเรียนให้ร่วมสมัย

เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง ในวัยเพียง 31 ปี แต่สามารถพิสูจน์ความสามารถจนพาแบรนด์อาหารในเครือ YUZU GROUP ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด สำหรับ "มิน-ปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร" ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ YUZU GROUP ในนาม บริษัท ส้มพาสุข จำกัด เจ้าของเชนร้านอาหารกว่า 12 แบรนด์ ภายใต้แนวคิด “Taste The New Boundary…ทุกมื้อของคุณ คือโอกาสสร้างสรรค์ของเรา” ได้แก่ Yuzu Omakase, Yuzu Suki, Yuzu Sushi, Yuzu Ramen, Yuzu Honey, Thai Thai , Kogoro Katsu, Chicken Club Thailand, Korata โค-ร-ต , เนื้อนาบุญ Nuer Na Boon, Yuzu Yakiniku และล่าสุดกับ Duri Buri กับคอนเซปต์ Everything Durian โดยนำเอาทุเรียนซึ่งเป็นราชาผลไม้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ชายคาแบรนด์ YUZU GROUP

packshot5889
มิน-ปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร YUZU GROUP 

ความชอบกินเกิดจากพ่อ เส้นทางธุรกิจเกิดเพราะพี่สาว

มิน ปรมินทร์ เล่าถึงแรงบันดาลใจให้มาทำธุรกิจอาหาร YUZU GROUP ว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นมานั้น เริ่มมาจากครอบครัวชอบกินอาหารนอกบ้าน เริ่มมาจากคุณพ่อไม่ชอบกินข้าวที่บ้าน เสาร์-อาทิตย์จะชอบซื้อข้าวเข้ามากินในบ้าน รู้เลยว่าเสาร์-อาทิตย์ จะไม่ได้กินข้าวที่แม่บ้านทำ คุณพ่อชอบซื้อของอร่อยมาเดี๋ยวข้าวหน้าไก่ บะหมี่หมูแดง เย็นตาโฟ ไก่ย่าง ทุกอย่าง มันก็บิ้วให้ตัวเองชอบกินหลายๆ อย่างหลายๆ แบบด้วย แล้วทำให้เรียนรู้อีกอย่างคือกลิ่นเอกลักษณ์อาหารแต่ละอย่าง สมมติพูดถึงก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ก็จะต้องมีกลิ่นกระทะประมาณนี้ บวกกับพอพี่สาวมาทำ Nice two meat u ที่สยามซอย 3 แล้วมีที่ว่างพอดี ผมเลยได้จังหวะเหมาะและคิดว่ามาทำร้านอาหารดีกว่า

พี่สาวผมช่วยผมไว้เยอะมากครับ เขาทำมาก่อน 2 ปี เขาเป็นคนสอนผมหมดเลย โดยเฉพาะเรื่อง ลูกค้าสำคัญที่สุด พี่สาวผมเป็นสอนมาแบบนี้ ส่วนลิ้น ความชอบกิน เกิดจากคุณพ่อ พอมาบวกกัน แล้วผมชอบกินราเมนอยู่แล้ว ชอบกินอะไรที่เป็นซุป ก็เลยมียูซุราเมนที่เป็นเจ้าแรกที่นี่ พอมียูซุราเมนแล้วคนชอบสิ่งที่เราทำก็เลยมาคิดว่าเราลองทำโอมากาเสะดูไหม แล้วพอทำเสร็จปุ๊บมีคนชอบ แสดงว่ามีคนชอบรสชาติเหมือนเรานะ ก็เลยทำต่อครับ

ลงไปคลุกคลีในร้านด้วยตัวเอง ทำให้รู้ปัญหาและปรับแก้ได้อย่างทันที 

"น้องราเมนเค็มมากเลย" แล้วเดินออกมาจากร้านไปเลยไม่จ่ายตังค์ด้วย คือฟีดแบ็กแรกตอนทำร้านเลยครับ ผมก็ช็อก แต่ก็ต้องสู้ เพราะมีคนคอมเมนต์มาอย่างนี้ เราก็ไปชิมดูแล้วหาสาเหตุว่าเพราะอะไร อุณหภูมิหรือเปล่าหรือมาตรฐานของอาหาร

ผมคิดว่าตัวเองทำได้ดีกว่านี้ ถ้าเราคิดมาดีกว่านี้ บางอย่างผมก็มีผิดพลาดเยอะเหมือนกัน บางทีทำออกมาเมนูบางเมนูที่เราคิดว่าจะขายได้ บางทีลูกค้าคอมเมนต์มารสชาติไม่ถูกปาก แน่นอนว่าก็ต้องถามตัวเองก่อนว่าความจริงนี่เป็นรสชาติที่เราอยากพรีเซนต์หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าฟังทุกท่านแล้วปรับตลอด แต่ต้องถามว่านี่ตรงกับคอนเซปต์ไหม ตรงกับกลุ่มลูกค้าหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่เราพรีเซนต์ออกมาต้องการให้คนกลุ่มไหนชอบหรือทาน วันนี้สิ่งหนึ่งที่ภูมิใจในตัวผมเองและทีมมากก็คือการไม่ยอมแพ้ครับ ทำไปเรื่อยๆ โดนลูกค้าว่าเราก็เก็บมาพัฒนา เราจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ของอย่างนี้ถ้าไม่มีใครบอกเรา เราก็ไม่รู้ครับ

ความท้าทายของการทำธุรกิจร้านอาหารในยุคนี้?

"คนชอบสิ่งใหม่" คือคำตอบที่มิน ปรมินทร์ตอบออกมาอย่างไม่รีรอ พร้อมอธิบายขยายความถึงประโยคสั้นๆ ดังกล่าวให้ฟังต่อว่า ลูกค้าชอบสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วพร้อมจะลอง แล้วยิ่งมีร้านอาหารใหม่เกิดขึ้นตลอด คนก็ลองไปเรื่อยๆ นี่คือความท้าทาย ความท้าทายอีกอย่างของการทำร้านอาหารคือ ลูกค้าจะกลับมาไหม? เนื่องจากมีร้านใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เราจะทำยังไงให้เขากลับมา เพราะฉะนั้นนี่คือความท้าทายมากครับ ผมจะโฟกัสกับตัวเองและผลิตภัณฑ์ตัวเองให้มากที่สุด หมายความว่าเราจะไม่เปรียบเทียบกับเจ้าอื่นว่าเขาทำอะไรอยู่ แต่เป็นเราอยากทำอะไรมากกว่า ผมบอกทีมเสมอว่าเราอยากทำซุปนี้ ไม่ต้องไปคิดนะ เราอยากทำเพราะอะไร แล้วมันอร่อยถูกปากหรือเปล่า เราอยากให้ลูกค้าได้ลองไหม แค่นั้นพอ ไม่ต้องสนว่ามีใครลองหรือยัง แต่เราอยากให้คนลองหรือเปล่า ทุกอย่างมันจะเริ่มแบบนี้ตลอด พอเริ่มแบบนี้คอนเซปต์เริ่มมาแบบนี้ ไม่ใช่พอคนอื่นทำอะไรดังแล้วเรามาทำตาม เราจะไม่ใช่คนนั้น พอเราไม่ใช่คนนั้นเสร็จปุ๊บทุกอย่างมันก็เลยไปกับ taste boundary ลิ้มรส ขอบเขตใหม่เสมอ

"ผมคิดว่าทำในสิ่งที่เองอยากทำในเวอร์ชั่นของตัวเอง ถามว่าเวอร์ชั่นของตัวเองมันจะเป็นมิติไหน แต่มันก็เป็นเวอร์ชั่นของเราที่เราอยากทำให้ดีที่สุด พอเราทำเวอร์ชั่นของเราให้ดีที่สุด ผมก็เชื่อว่าคนจะเห็นความพยายามของเราครับ"

dsc07521

จุดเด่นที่ทำให้ YUZU GROUP แตกต่างจากคนอื่น

ผมเชื่อว่าประสบการณ์ครับ ผมเชื่อว่าจุดเด่นจริงๆ ที่มารวมกันคือประสบกาณณ์ บางร้านบางแบรนด์บางสาขา บางทีเขาเริ่มจากผลิตภัณฑ์เองไม่ได้ อย่างตัวผมเองเวลาสร้างร้านก็เก็บประสบการณ์มา 5 ปีแล้ว สมมติเราจะมาเปิดร้านใหม่ ผมก็จะรู้แล้วเดี๋ยวสาขาใหม่ๆ ยกตัวอย่างนะครับ สาขาที่ราชพฤกษ์ ต่อไปโต๊ะของผมจะมีเก๊ะแล้ว ผมรู้แล้ว 6-7 สาขาต้องมีเก๊ะให้เขาใส่ทิชชู่ มีที่วางกระเป๋า มันก็จะมีรายละเอียดพวกนี้เพิ่มขึ้น คือมิติที่พัฒนาไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์และรสชาติ แต่เป็นประสบการณ์มากกว่า เมื่อก่อนผมมีที่แขวนกระเป๋าติดที่โต๊ะ แต่มันไปข่วนขาลูกค้าก็เลยเอาออก หรือสมมติวันฝนตกพี่ไม่รู้จะทานอะไร ผมอยากให้ร้านนี้เป็นคอมฟอร์ตโซน อยากให้ราเมนร้านของผมเป็นที่สะดวกสบายใจที่จะมาจริงๆ เหมือนเราเจอเพื่อนที่ไม่ได้เจอนานแต่สบายใจที่จะคุย ไม่ใช่เพื่อนใหม่ที่อยากจะคุย แต่เป็นเพื่อนที่สบายใจที่จะคุยครับ

"Duri Buri" น้องใหม่ล่าสุด มุ่งเน้นความเป็น Everything Durian ทุเรียนต้องร่วมสมัย

Duri Buri เกิดขึ้นเพราะความต้องการเชิดหน้าชูตาทุเรียน ผลไม้ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาผลไม้ของประเทศไทย ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ทุเรียนที่มีความร่วมสมัย ผมเชื่อว่าถ้าไม่ใส่ความร่วมสมัยลงไป ทุเรียนจะไปไม่ได้ไกลกว่าการเป็นผลไม้พื้นถิ่น และได้รับความนิยมสูงสุดจากทั้งคนไทยและต่างชาติ

ผมเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ แน่นอนก็ต้องแตกต่างอยู่แล้ว ตามทฤษฎี Boundary เชื่อว่าอันนั้นก็อาจจะเป็นจุดหนึ่ง แต่จุดหนึ่งผมว่าแบรนด์ดิ้ง การพรีเซนต์ทุเรียนหรือการตีความของทุเรียนและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมา ผมว่าผมจะตีความอีกแบบหนึ่ง เรามองทุเรียนเป็นสินค้าอีกประเภท สมมติเรามองสินค้าหนึ่งอยู่ในตู้ไม้กับมองอยู่ในตู้โชว์ มันไม่เหมือนกัน เราจะทำยังไงให้ทุเรียนอยู่ในตู้โชว์ที่ไม่ใช่ตู้ไม้ นี่คือโจทย์ ผมเชื่อว่าทุเรียนหรือผลิตภัณฑ์ของผมในแบรนด์ Duri Buri จะต้องไม่เหมือนทุเรียนที่อื่นครับ ผลิตภัณฑ์ก็จะมีทั้ง food และ non-food เลยครับ อาหารก็จะมีทั้งทุเรียนสด ต่อๆ ไปจะมีหลายพันธุ์ ทุเรียนแปรรูปต่างๆ อบกรอบ ฟรีซดราย แล้วก็จะมี non-food อย่างเช่น อาร์ตทอย หมอน พวงกุญแจ กริปต็อก กางเกง เสื้อยืด ผมอยากให้มันเป็น Culture หนึ่ง Duri Buri อยากให้เป็น Durien Culture หนึ่งของประเทศไทยครับ อยากทำให้คนต่างชาติเข้ามาแล้วคิดถึงทุเรียน วัฒนธรรมการกินทุเรียน คิดถึงผมคนเดียว

เป้าหมายคือทำให้ลูกค้าพอใจแล้วกลับมาอีก

เชื่อว่าวันนี้เราจะเปิดยังไงให้ลูกค้าพอใจแล้วกลับมาก่อน อันนี้คือโจทย์ เสร็จแล้วเราจะบิ้วจากตรงนั้นต่อ ลูกค้าหรือกลุ่มลูกค้าที่มาตีความทุเรียนอย่างไร ต้องการความคาดหวังอะไรจาก Duri Buri เขาต้องการอะไรบ้างแล้วผมจะค่อยๆ เพิ่มไป แน่นอนว่าในไลน์สินค้าตอนนี้ก็มีแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่การแปรรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเบเกอรี่ ไอติมซันเดย์ แล้วก็แปรรูปเพิ่มเติมอีก

ในมุมมองของผมทุเรียนต้องร่วมสมัย โดยมุ่งหวังคนต่างชาติเวลานึกถึงทุเรียน ให้นึกถึง Duri Buri อยากให้เป็นชื่อแรกที่คิดขึ้นมาเวลาอยากกินทุเรียน อยากลองทุเรียน หรือผลิตภัณฑ์จากทุเรียน เปิดใจลอง Duri Buri อยากให้ทุเรียน Durian Scene in Thailand มากกว่า สร้างภาพลักษณ์ใหม่ แต่ไม่ใช่รสชาติใหม่ สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับทุเรียนให้กับคนทั้งโลกได้รู้ ว่าความจริงตัวทุเรียน ไม่ได้มีแค่เนื้อทุเรียน แต่สามารถนำไปทำทุกอย่างได้ อาทิ เบเกอรี ไอศกรีม ฯลฯ อร่อยหมด ดีหมดเลย 

a7_07745
Duri Buri แบรนด์น้องใหม่ของYUZU GROUP 

YUZU GROUP ยังขาดและอยากจะทำอะไรเพิ่มอีก

ความจริงอยากทำหลายอย่าง หลายประเภทเลยครับ แต่ที่ถืออยู่ทุกวันนี้ก็มีโอกาสเติบโตก็อยากขยายอีก ผมเชื่อว่าทุกแบรนด์มีโอกาสในการขยาย ประเภทใหม่ก็อยากทำ อาหารชาติอื่นๆ ก็อยากทำ แต่แค่วันนี้อยากโฟกัสที่เปิดก่อน อยากทำทุกอย่างเลย เพราะเหมือนเวลาผมไปกินอะไร ทีมก็ชอบกินมาก กินเสร็จแล้วก็อยากให้มันเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ของเขาไม่อร่อยนะ แต่เราอยากให้มันเป็นเวอร์ชั่นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง อยากใส่อันนี้เพิ่ม ทำไมไม่ทำ

ต้องเรียนความจริงว่าทุกวันที่ทำงานภูมิใจกับทีมและตัวเองอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าทุกวันคือการพัฒนา ผมเชื่อว่าทุกอย่างที่ทำแฮปปี้กับทีม ผมเชื่อว่าที่มองหนทางตัวเองและบริษัทเอาไว้ วันนี้ผมว่ามันยังมาได้ไม่ถึงครึ่งเลยครับ ผมคิดว่าเรายังไปได้อีกเยอะเลยครับ ผมรู้สึกว่าทีมและตัวผมเองยังไปได้อีกไกลมาก สร้างสรรคผลงานตัวเองให้มากกว่านี้ให้คนเห็นครับ มิน ปรมินทร์ กล่าว

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า YUZU GROUP มีแนวโน้มเติบโต อยู่ที่ 4-5% ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2.75 - 3 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
1. ภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว
2. ผู้ประกอบการขยายสาขาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาปกติ
3. ความนิยมในแบรนด์และช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคได้ในหลากหลายพื้นที่

ขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมานิยมบริโภคอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย ซึ่งมีปัจจัยเร่งจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและโซเชียลมีเดียผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ การแนะนำร้านอาหารใหม่ๆ การแชร์ประสบการณ์การรับประทานอาหารในร้าน การโปรโมทร้านอาหารผ่านโฆษณาออนไลน์ การสร้างการติดตามจากลูกค้าโดยแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจของอาหาร และการให้สิทธิพิเศษต่างๆ ของร้านอาหาร ด้วยอิทธิพลทางการตลาดนี้ส่งผลทำให้ YUZU GROUP ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าว

แผนธุรกิจ YUZU GROUP ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567

YUZU GROUP ยังคงเดินหน้าเร่งขยายสาขาเพิ่ม โดยวางแผนเปิดสาขาใหม่แบรนด์ Yuzu Suki กับ Yuzu Ramen เพิ่มอีก 2 สาขา เพื่อขยายฐานลูกค้าโซนราชพฤกษ์ พร้อมทั้งมองหาทำเลในย่านศูนย์กลางธุรกิจ CBD เพิ่ม คาดว่าใช้เงินลงทุนสาขาละ 20 ล้านบาท คาดสิ้นปี 2567 จะมีจำนวนสาขาของทุกแบรนด์ร้านอาหารในเครือ YUZU GROUP รวมทั้งสิ้น 33 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับผลประกอบการปี 2567 ของ YUZU GROUP ตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 18% อยู่ที่ 640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ทำไว้ 541 ล้านบาท โดยปัจจุบัน YUZU GROUP มีแบรนด์ในเครือทั้งหมด 12 แบรนด์ ได้แก่ Yuzu Omakase, Yuzu Suki, Yuzu Sushi, Yuzu Ramen, Yuzu Honey, Thai Thai , Kogoro Katsu, Chicken Club Thailand, Korata โค-ร-ต , เนื้อนาบุญ Nuer Na Boon, Yuzu Yakiniku และล่าสุดกับ Duri Buri โดยนำเอาทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้เปลือกหนามเนื้อสีเหลืองทองอร่าม รสชาติหวาน มัน นุ่มละมุนลิ้น และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เอาใจคนรักทุเรียนทั้งหลาย อาทิ ไอศกรีมหลากรส Milkshake และทุเรียนสดๆ จากสวน รวมถึงของที่ระลึก อาทิ หมอน เสื้อ กางเกง กระบอกน้ำ เป็นต้น โดยบริษัทต้องการชูจุดเด่นให้ทุเรียนเป็นเอกลักษณ์แห่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย เจาะตลาดคนจีน ซึ่งในปีนี้เริ่มตรงกับวันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นช่วง Golden Week วันหยุดยาวของจีน คาดว่าจะทำให้คนจีนทยอยเข้ามาท่องเที่ยว กิน ดื่มในประเทศไทยกันอย่างคึกคัก โดยร้าน Duri Buri ประเดิมเปิดสาขาแรก ณ Siam Square One ชั้น 1

a7_07656

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม