แม้ยุคภาวะเงินเฟ้อจะทำให้คนส่วนมากไม่กล้าใช้เงินกับสินค้าฟุ่มเฟือย และเก็บเงินไว้ใช้กับของจำเป็น แต่นั่นมันเป็นโลกปกติของพวกเราคนธรรมดา
ในอีกโลกของคนรวยที่ไม่ธรรมดา การช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์หรู “luxury” และระดับ “ultra-luxury”กลับเติบโตแบบสวนทางในปี 2022 นี้ ทำให้รายได้ของบริษัทสินค้าแบรนด์หรูเติบโตระเบิด สวนทางกับบริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคธรรมดาเช่น Walmart, Best Buy และ Gap ที่ต้องปรับคาดการณ์รายได้ให้ต่ำลง
หลายๆ คนเห็นแบบนี้แล้วอาจคิดว่าไม่สมเหตุสมผล แต่แท้จริงแล้วตลาดสินค้าหรูหราเป็นตลาดท้ายๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่แล้ว เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของตลาดนี้คือกลุ่มคนรวย “ultra rich” ที่ยังมีเงินเหลือพอใช้สุรุ่ยสุร่ายแม้เงินจะเฟ้อ แถมยังอาจมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกเพราะออกไปเที่ยวใช้เงินไกลๆ ไม่ได้
จากรายงานของ CNBC พบว่ารายได้จากการขายสินค้าหรูหราทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รถยนต์ หรือเที่ยวบินชั้นธุรกิจและเฟิร์สคลาสเพิ่มขึ้นหมดในช่วงต้นปี
ในช่วงครึ่งปีแรก รายได้ LVMH เครืออาณาจักรแบรนด์หรูเช่น Christian Dior, Louis Vuitton และ Givenchy เพิ่มขึ้นถึง 21% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยรับไปทั้งหมด 37.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 1.3 ล้านล้านบาท)
ในขณะที่ Capri Holdings Limited ที่มีแบรนด์ดังอย่าง Versace, Jimmy Choo และ Michael Kors อยู่ในเครือรับรายได้ไปทั้งหมด 1.36 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.8 หมื่นล้านบาท) เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 15%
นอกจากเครือบริษัทแฟชั่นและเครื่องสำอาง บริษัทรถซุปเปอร์คาร์สัญชาติอิตาลีอย่าง Ferrari ก็เติบโตไปตามกัน เมื่อทางบริษัทออกมาประกาศว่ารับรายได้สูงทะลุสถิติไปแล้วในไตรมาสที่สอง โดยทำรายได้ได้ถึง 1.33 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.7 หมื่นล้านบาท)
มิลตัน เพอดราซา (Milton Pedraza) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ Luxury Institute บริษัทวิจัยการตลาดและบริหารธุรกิจกล่าวว่า นี่เป็นเพราะคนรวยมองว่าสินค้าหรูหราเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอก “อำนาจ” ในการใช้เงินของเจ้าของ และกลุ่มคนรวยก็ยังคงเห็นความสำคัญของการซื้อของเพื่อแสดงสถานะของตัวเองในหมู่คนรวยด้วยกันอยู่
นอกจากนี้ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ที่ทำให้คนซื้อสินค้าหรูหรากันน้อยลง หลังจากเศรษฐกิจและฐานะกระเตื้องขึ้นในช่วงหลังจากนั้น กลุ่มคนรวยก็กลับมากล้าใช้เงินโดยไม่รู้สึกผิดกันมากขึ้นเพราะรู้สึกว่ามันเป็น “สิทธิ” ของตัวเองที่จะใช้เงินซื้อของสนองความต้องการของตัวเอง
เพอดราซา กล่าวว่ากลุ่มลูกค้าระดับ “ultra-rich” หรือ “very rich” คิดเป็นเพียง 20% ของลูกค้าทั้งหมด แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ทำรายได้ให้ตลาดสินค้าหรูหรามหาศาลจนยังสามารถเติบโตได้แม้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี และถึงอาจจะเสียรายได้ไปบ้างจากลูกค้าในระดับกลาง หรีอกลุ่มที่เรียกว่าลูกค้า “เกือบรวย (nearly affluent)” ที่จะระวังการใช้จ่ายตัวเองมากกว่าก็ไม่เป็นไรเพราะรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้คิดเป็นเพียง 30% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น
ที่มา: CNBC