Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
คนไทย ใช้เทคฯเก่งไม่เเพ้ใคร แต่เป็นนักพัฒนาที่ตามหลัง อะไรคืออุปสรรค ?
โดย : ปาณิสรา สุทธิกาญจนวงศ์

คนไทย ใช้เทคฯเก่งไม่เเพ้ใคร แต่เป็นนักพัฒนาที่ตามหลัง อะไรคืออุปสรรค ?

27 ธ.ค. 67
17:20 น.
|
46
แชร์

ในช่วงปีที่ผ่านมา หนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงที่หลายๆคนต่างพูดถึง นั้นก็คือ AI และหากให้ลองลิสชื่อ AI ที่เราใช้บ่อยๆ เชื่อว่าชื่อของ Chat GPT หรือ Gemini ของ Google คงเป็นชื่อแรกๆที่เรานึกถึงแน่นอน แต่ชื่อเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่ถูกผลิตโดยบริษัทบิ๊กเทคฯยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ไม่ใช่ของคนไทย

ทำให้เราอาจจะต้องมาคิดว่า เมื่อไหร่คนไทยจะใช้เทคโนโลยี ที่ถูกคิดโดยคนไทยบ้าง? เมื่อไหร่เทคโนโลยีของคนไทยจะได้ถูกยอมรับในระดับสากลจากผู้ใช้งานทั่วโลกบ้าง?  “เพราะคนไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ที่เก่งมาก ไม่ว่าแอปพลิเคชั่นตัวไหนออก ตัวไหนมาแรง เราใช้เป็นกลุ่มแรกๆเสมอ แต่ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี เราตามหลังคนอื่น นี่เลยเป็นที่มาของการสร้าง Vison-language model ของคนไทยเพื่อคนไทย เพราะถ้าเราใช้อย่างเดียวและไม่เริ่มพัฒนาสักที เราคงก้าวไปไกลเหมือนคนอื่นไม่ได้สักที”

บทความนี้ SPOTLIGHT ได้สรุปสาระสำคัญจากหัวข้อ Vision-Language Foundation Model for Thai Multi-Modal AI จากงาน AI Engineering & Innovation Summit 2024 และได้มีโอกาสพูดคุยสุด exclusive กับ ผศ.ดร.เอกพล ช่วงสุวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Vision-Language Model พัฒนาโดยคนไทย เพื่อคนไทย

ผศ.ดร.เอกพล ได้เล่าให้ทีม SPOTLIGHT ฟังว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาหลายๆคนน่าจะรู้จัก large language model อย่าง Chat GPT ซึ่งถ้าเราอยากรู้อะไร ก็แค่พิมพ์ไปที่ Chat GPT ก็จะตอบคำถามเรา แต่พอเป็น Vision-Language Model คือ เราสามารถอัพโหลดรูปภาพ แล้วถามคำถามเกี่ยวกับรูปภาพนั้นๆได้

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาโปรเจกต์นี้ คือ อยากเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรม AI ของไทย เพราะ “คนไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ที่เก่งมาก ไม่ว่าแอปพลิเคชั่นตัวไหนออก ตัวไหนมาแรง เราใช้เป็นเสมอ แต่ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี เราตามหลังคนอื่น นี่เลยเป็นที่มาของการสร้าง Vision-Language Model ของคนไทยเพื่อคนไทย เพราะถ้าเราใช้อย่างเดียวและไม่เริ่มพัฒนาสักที เราคงก้าวไปไกลเหมือนคนอื่นไม่ได้สักที

โดย ผศ.ดร.เอกพล มีความตั้งใจอย่างสร้าง Vision-Language Model นี้ เพื่อเป็น open source สำหรับทุกองค์กรในไทย พัฒนาเป็นชิ้นตรงกลาง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า การพัฒนาและแต่โปรเจกต์โดยเฉพาะ AI มีราคาที่ค่อนข้างสูง หลายล้านบาท ซึ่งเกินระดับ SME หรือหากถ้าเป็นการลงทุนจากบริษัทใหญ่ๆ โปรเจกต์นี้ก็ยังไม่สามารถการันตีมูลค่าเป็นเม็ดเงินกลับมาได้ เลยทำให้ฝั่งรัฐบาลได้เข้ามาช่วยสนับสนุนโปรเจกต์นี้ให้เกิดขึ้นจริง

การพัฒนา AI ไทย เผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง?

1.ความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ คือหัวใจสำคัญ

ปฎิเสธไม่ได้ว่า AI คือเรื่องใหม่ สำหรับคนไทย ทำให้นักพัฒนา AI ไทย อาจไปไม่ไกลเท่ากับประเทศอื่นๆ ผศ.ดร.เอกพล ได้ยกตัวอย่างรายงานของ BCG ที่ได้มีการจัดอันดับความพร้อมด้าน AI จากประเทศทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ และประเทศไทยอยู่อันดับที่ 3 (AI Practitioner) ในขณะที่ ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนิเซีย และประเทศสิงคโปร์ แซงหน้าไทยไปเรียบร้อย ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับ 2

 “เวียดนาม เราเคยมองว่าเขาเป็นคู่แข่งเรา แต่ตอนนี้เขานำเราไปหมดแล้ว เกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้าน AI นั้นเลยเป็นที่มาว่าทำไม NVIDIA ถึงเลือกลงทุนที่เวียดนาม ไม่ใช่ประเทศเรา”

นั่นจึงเป็นที่มาของการเซ็น MOU ระหว่าง 9 มหาวิทยาลัย และ 2 หน่วยงาน ณ งาน AI Engineering & Innovation Summit 2024 เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยไม่ตกขบวน AI ในขณะที่ทั่วโลกกำลังวิ่งแข่งขันกันไปแล้ว

และในตอนที่ ‘เจนเซ่น หวง’ CEO และผู้ก่อตั้ง NVIDIA เดินทางไปมาที่ประเทศไทย ผศ.ดร.เอกพล ได้มีโอกาสพบ และได้พูดคุย นายเจนเซ่น หวง ได้กล่าวชื่นชมการร่วมมือของมหาวิทยาลัย นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีและถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ที่แต่ละมหาวิทยาลัยมาจับมือกันในครั้งนี้

ผศ.ดร.เอกพล ได้กล่าวเสริมว่า “จริงๆแล้วมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งถือได้ว่าเป็นเหมือนองค์กรซึ่งเปรียบเหมือนคู่แข่งกัน และการที่คู่แข่งมาร่วมมือกัน มาจับมือกัน แชร์ทรัพยากร แชร์ความรู้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ”

 2.ความรวดเร็วของเทคโนโลยี  

ในวันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพียงแต่ผู้ใช้งานที่ต้องปรับตัวตามในทัน แต่นักพัฒนาก็ต้องปรับ-เปลี่ยน-เรียนรู้ให้ไวกว่าเช่นเดียวกัน

 ผศ.ดร.เอกพล ได้ยกตัวอย่าง การเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Google ที่เพิ่งปล่อย next tech Chat GPT ทีมีการอัพเดทปล่อยของรายวัน ซึ่งบางทีโปรเจกต์ที่เราทำ แม้ว่าถูกวางไว้ทั้งข้อมูล วิธีวัดผล และผลลัพธ์ และระหว่างทางพัฒนา เราก็ต้องคอยจับตาดูเทรนด์ต่างๆที่เกิดขึ้น สามารถนำมาประยุกต์กับโปรเจกต์ที่วางไว้ได้หรือไม่ บางอย่างสิ่งที่เราคิดมันอาจะเก่าเกินไปแล้ว และบางทีอาจจะต้องรี้อใหม่ทั้งโปรเจกต์ เพราะตอนนี้เทรนด์ของเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแทบจะเป็นรายวันเลยก็ว่าได้

3.ราคาที่สูงเกินกว่าคนธรรมดาจะจ่ายได้

ผศ.ดร.เอกพล ได้เล่าว่า การพัฒนาโปรเจกต์แต่ละครั้งมีราคาที่สูงมาก และได้ยกตัวอย่างถึง ประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และได้มีการพัฒนา AI มานาน ซึ่งเขาพัฒนา model ตัวนึงใช้เงินไปประมาณ 1 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 25 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ให้เงินมา 40 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท สำหรับการโปรเจกต์การพัฒนา AI

ซึ่งประเทศไทยของเราคงไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น สำหรับนักวิจัยและพัฒนาโปรเจกต์ ทำให้เราต้องมาหาทิศทาง แผนการพัฒนาที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของเม็ดเงิน ระยะเวลา ทรัพยากรคน ต้องใช้ให้ทุกอย่างมันคุ้มค่าที่สุด

4.ความพร้อมของโครงสร้างประเทศ  

ผศ.ดร.เอกพล ได้เล่าต่อว่า จริงอยู่ที่ มีเรื่องของทรัพยากรคน เทรนด์เทคโนโลยี และ ราคา อย่าง ตัวเครื่อง 1 ตัว หรือ CPU มีราคาถึง 20-30 ล้านบาท โดย1 เครื่อง มีการ์ดจอคอมถึง 8 ใบ แล้วปกติเขาจะใช้กันเป็นร้อยๆเครื่อง ใช้พื้นที่ และใช้ไฟเยอะมาก

โดยมีครั้งหนึ่งที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซื้อมา 1 เครื่อง ตอนนั้นทุกภาคส่วนมีความกังวลใจทันทีหลังซื้อมา เพราะ ซื้อมาเครื่องต้องใช้ แล้วไฟไม่พอทำอย่างไร ? เพราะเคยลองใช้ทันทีหลังซื้อมา ผลปรากฎว่าแค่เสียบปลั๊ก ไฟดับทั้งตึกเลยทันทีเครื่องๆนั้นเลยเป็นที่ทับกระดาษอยู่พักนึง ต้องรอให้เขาเปลี่ยนหม้อไฟแปลงก่อน

จาก 4 ความท้าทายที่ ผศ.ดร.เอกพล ได้ยกตัวอย่างมา ทําให้เราเห็นภาพ การพัฒนา AI ในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่ง 'เวียดนาม' กลายเป็นบทเรียนสําคัญของไทย ที่เริ่มต้นพัฒนามาพร้อมเรา เเต่สุดท้ายกลับเเซงหน้าไปเฉยๆ จากความรู้ความสามารถของประชาชน การเข้ามามีบทบาทของรัฐบาล ผ่านนโนบายต่างๆ ทําให้ทําให้ฝั่งของภาครัฐ เเละเอกชนต้องมาจับมือช่วยกัน เพื่อเร่งพัฒนาความรู้ความสามารถของคนให้ตามทันเทคโนโลยี เพื่อที่จะทําให้เราไม่ตกขบวน AI เพราะหากถ้าเราไปไม่ทันคนอื่น นั้นหมายความว่าเม็ดเงินมหาศาลของบริษัทต่างชาติ จะหันไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านเราไปซะหมด เเละเราจะเหมือนเป็นเเค่ 'จุดพัก' เหมือนในกรณีของ NVIDIA

แชร์
คนไทย ใช้เทคฯเก่งไม่เเพ้ใคร แต่เป็นนักพัฒนาที่ตามหลัง อะไรคืออุปสรรค ?