Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เสียงเรียกร้อง กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ต้องโปร่งใส พบสัญญาณความบกพร่อง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เสียงเรียกร้อง กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ต้องโปร่งใส พบสัญญาณความบกพร่อง

8 เม.ย. 68
13:34 น.
แชร์

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมากขึ้นจากเสียงของภาคประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ส่งสัญญาณเตือนถึงความบกพร่องในการจัดการ "ทรัพยากรคลื่นความถี่" ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ควรอยู่ภายใต้การบริหารจัดการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ความไม่พร้อมในการบริหารจัดการวิกฤติ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อไม่นานมานี้ได้สะท้อนปัญหาหลายประการในระบบการสื่อสารของไทย โดยเฉพาะประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่ล่าช้า ผ่านระบบ SMS ที่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับข้อมูลทันเวลา ขณะที่ระบบ Cell Broadcast ซึ่งควรเป็นหัวใจสำคัญในการเตือนภัย ยังไม่พร้อมใช้งานจริง แม้เคยผ่านการทดสอบมาแล้วก็ตาม ความล่าช้าและความสับสนภายในองค์กรจึงนำไปสู่คำถามว่า กสทช.มีความพร้อมในการปกป้องประชาชนในยามวิกฤติจริงหรือไม่

ข้อครหาเรื่องคุณสมบัติประธาน กสทช.

หนึ่งในประเด็นที่เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โดย นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่าย ครป.ได้สรุปข้อเสนอภาคประชาชนในเวทีทบทวนบทบาทหน่วยงานอิสระของรัฐกับความเป็นเจ้าของคลื่นความถี่สาธารณะและการอภิปรายเรื่อง “แผ่นดินไหว-ภัยธรรมชาติ กับประสิทธิภาพการจัดการคลื่นความถี่ของรัฐบาลและกสทช.” ร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยหลังจากรับฟังความเห็นภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจมีข้อเรียกร้อง 

1. กรณีแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวล่าช้า และความล้มเหลวของระบบภายใน กสทช.

ครป. เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปลดประธาน กสทช. ทันที เนื่องจากไม่สามารถจัดการวิกฤติแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบ SMS แจ้งเตือนล่าช้า ระบบ Cell Broadcast ยังไม่พร้อมใช้ ขณะที่มีข้อกล่าวหาว่าที่ปรึกษาประธานตั้งโต๊ะเรียกรับเงินโครงการ นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งภายในองค์กรที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานโดยรวม ซึ่งสะท้อนถึงการบริหารงานที่ล้มเหลวและไม่โปร่งใส

2. ปัญหาคุณสมบัติของประธาน กสทช. และการเพิกเฉยของฝ่ายการเมือง

ครป. ระบุว่า ประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติตามผลวินิจฉัยของวุฒิสภาเมื่อ 28 พ.ค. 2567 แต่ยังฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่ต่อมานานกว่า 8 เดือน โดยไม่มีการดำเนินการจากนายกรัฐมนตรี ทั้งที่มีกฎหมายรองรับให้ใช้อำนาจเสนอปลดออกจากตำแหน่งได้ จึงเรียกร้องให้ตรวจสอบและดำเนินการ รวมถึงตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ทับซ้อนกับประธาน กสทช. หรือไม่จึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

ทั้งนี้ครป. เคยยื่นหนังสือติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ถึงเลขาธิการสำนักงาน กสทช. ยื่นรายงานการตรวจสอบของวุฒิสภาถึงสำนักงานองคมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 และยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา 20 พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตามกฎหมาย 

3. คัดค้านการประมูลคลื่นทั้ง 6 ย่าน เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการผูกขาดและขาดความชอบธรรม

ครป. ขอให้เลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ 6 ย่าน ได้แก่ 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz  ออกไปก่อนจนกว่าปัญหาภายใน กสทช. จะได้รับการแก้ไข และมีการปฏิรูปองค์กรให้โปร่งใส การประมูลพร้อมกันทั้ง 6 ย่านจะเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนผูกขาดคลื่นโดยไม่มีการแข่งขันเสรี อีกทั้งยังไม่มีนโยบายจัดสรรคลื่นบางส่วนเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น บริการอินเทอร์เน็ตฟรีในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนต่อทรัพยากรของรัฐ

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เสนอเลื่อนการจัดสรรคลื่น 3500 MHz ออกไปหลังปี 2572

และนอกจากการคัดค้านของภาคครป.แล้ว อีกคลื่นที่เป็นประเด็นร้อนแรงและได้รับเสียงท้วงติงคัดค้านของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล คือ คลื่น 3500 MHz แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มคลื่น 6 ย่านที่กำลังจะเปิดประมูลในครั้งนี้ แต่กลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัลแห่งประเทศไทยก็เข้าร่วมเวทีอย่างพร้อมเพรียง เพื่อ แสดงจุดยืนขอรักษาคลื่น 3500 MHz ไว้ต่อไป โดยสรุปข้อเสนอแนะหลักๆดังนี้ 

  • ปัจจุบัน การรับชมทีวีผ่านดาวเทียมระบบ C Band (ซึ่งใช้คลื่น 3500 MHz) มีผู้ใช้งานมากถึง 60% ของฐานผู้ชมทั้งประเทศ เนื่องจากความล้มเหลวของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบภาคพื้นดิน (DVBT) กสทช.จึงควรดูแลรักษาความถี่นี้เพื่อผู้ชมทีวีส่วนใหญ่ของประเทศ ต่อไปให้นานที่สุดจนสิ้นสุดอายุของดาวเทียมไทยคม หรืออย่างน้อยจนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตเพื่อทดแทนการรับชมทีวีภาคพื้นดินที่ กสทช.ไม่สามารถขยายจำนวนฐานผู้ชมได้ตามคำเชิญชวน คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมยังมีเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่มีเหตุจำเป็นต้องเร่งประมูลพร้อมกันในคราวเดียว จากการศึกษาแผนงานร่วมกันของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ชี้ชัดว่ากระบวนการการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านหากต้องใช้คลื่น 3500MHz ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงเป็นเหตุผลสมควรที่สามารถเลื่อนแผนการประมูลคลื่น 3500 MHz ออกไปก่อน เพื่อให้ไม่กระทบต่อผู้ชมก่อนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตของดิจิทัลทีวีปี 2572
  • หากเร่งประมูลคลื่นนี้โดยไม่เตรียมการ อาจเกิดจอดำทั่วประเทศ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของอุตสาหกรรมทีวี
  • ผู้ประกอบการเห็นว่าคลื่นสำหรับโทรคมนาคมยังมีเพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องเร่งนำคลื่น 3500 MHz ออกประมูลในเร็ววัน
  • เสนอให้เลื่อนการจัดสรรคลื่น 3500 MHz ออกไปหลังปี 2572 เมื่อใบอนุญาตทีวีดิจิทัลหมดอายุ และให้ กสทช. วางแผนภูมิทัศน์ทีวีแห่งชาติให้ชัดเจนก่อน

การจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ควรเป็นแค่เรื่องเทคนิคทางวิศวกรรมหรือธุรกิจ แต่คือ "การจัดการทรัพยากรของประเทศที่ต้องยึดโยงกับประชาชน" เสียงสะท้อนจากเวที Public Hearing ในครั้งนี้จึงสะท้อนชัดว่า การประมูลคลื่นใหม่ไม่อาจเดินหน้าได้อย่างไร้คำถาม ขณะที่ความไม่ชอบธรรมภายในองค์กร กสทช. ยังไม่ได้รับการแก้ไข และภาคประชาสังคมรวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามการทำงานของ กสทช.ต่อไปอย่างใกล้ชิด 

แชร์
เสียงเรียกร้อง กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ต้องโปร่งใส พบสัญญาณความบกพร่อง