ในองค์กรและบริษัทเอกชน บุคลากรที่จะได้รับค่าจ้างสูงที่สุดคงหนีไม่พ้นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด หรือ ที่เราเรียกว่า ‘ซีอีโอ’ ของบริษัท เพราะเป็นหน้าตาของบริษัท และเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบดูแลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัท และถ้าเกิดเรื่องผิดพลาดร้ายแรงก็จะต้องออกตัวรับผิดชอบ ทำให้เงินตอบแทนต้องสูงตามความเสี่ยงที่ต้องแบกรับไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้แน่นอนว่ารายได้ที่ผู้บริหารได้รับจะต้องสูงตามความรับผิดชอบ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เงินตอบแทนที่ซีอีโอควรจะได้นี้ควรอยู่ในระดับเท่าไหร่ เพราะถ้ามากเกินไปก็จะเป็นการเอาเปรียบพนักงานที่ควรจะได้รับผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมาะสมกับงานที่ทำไปเช่นกัน เพราะถ้ามองตามความเป็นจริงแล้ว คนที่ลงมือทำงานไม่ใช่ซีอีโอ แต่เป็นพนักงานธรรมดาทุกคน
ดังนั้น ค่าตอบแทนของซีอีโอ จึงเป็นประเด็นหนึ่งในเรื่อง ‘บรรษัทภิบาล’ หรือ corporate governance ที่บริษัทต้องมีความโปร่งใส แจกแจงทั้งที่มาและปริมาณรายได้ของซีอีโอ เพื่อให้ทุกคนตรวจสอบได้ว่าซีอีโอของบริษัทได้รับค่าตอบแทนที่สมควรกับผลประกอบการ และไม่มากเกินไปจนกลายเป็นการเอาเปรียบพนักงาน หรือเสี่ยงต่อการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น
รู้หรือไม่? บริษัทสหรัฐฯ ต้องเปิดเผยปริมาณและที่มารายได้ของผู้บริหาร
แม้ปัจจุบัน ในไทยจะยังไม่มีข้อกำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในรายงานของบริษัท สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ SEC ของสหรัฐฯ มีข้อกำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผย ปริมาณและประเภทค่าตอบแทนที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ รวมถึงเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง เช่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน หรือ ซีเอฟโอ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด หรือ ซีเอ็มโอ
ดังนั้น สื่อและประชาชนทั่วไปในสหรัฐฯ จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงในสหรัฐได้ ซึ่งบริษัท intelligence และสื่ออย่าง Equilar และ Associated Press ก็ได้มีการนำข้อมูลในรายงานประจำปีของแต่ละบริษัทใน S&P 500 ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มาจัดอันดับซีอีโอที่ได้รับผลตอบแทนสูงสุด รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่ซีอีโอได้รับค่าตอบแทนสูงสุดในแต่ละปี
สำหรับการจัดอันดับในปี 2023 ซึ่งเป็นการจัดอันดับเป็นปีที่ 14 Equilar และ AP ได้ทำการจัดอันดับรายได้ของซีอีโอสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่ต่ำกว่าสองปีงบประมาณ และได้ยื่นรายงานภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 เมษายน ปี 2024
โดยจากการศึกษา พบว่า รายได้เฉลี่ยของซีอีโอในบริษัท S&P 500 เพิ่มขึ้น 12.6% จากปี 2022 มาเป็น 16.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 593,613,400 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับการเติบโตในปี 2021-2022 ที่รายได้ของซีอีโอเพิ่มขึ้นเพียง 0.9%
ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากการปรับขึ้นเงินเดือนเสมอไป เพราะรายได้ของซีอีโอบริษัทสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาส่วนมากเพิ่มขึ้นจากมูลค่า ‘หุ้น’ ที่ซีอีโอรับมาเป็นผลตอบแทนแทนเงิน เพราะหุ้นสหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
โดยการศึกษานี้ชี้ว่า มูลค่าของหุ้นคิดเป็นประมาณ 70% ของรายได้ซีอีโอใน S&P 500 ซึ่งเฉลี่ยแล้วสูงขึ้น 10.7% มาเป็นมูลค่าถึง 9.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 342,324,500 บาท ในปี 2023
ทั้งนี้ ข้อมูลและการจัดอันดับ ในปี 2023 ซีอีโอสหรัฐฯ ที่มีรายได้ต่อปีรวมสูงที่สุดคือ Hock E. Tan ซีอีโอบริษัท Broadcom บริษัทพัฒนาชิปจากสหรัฐฯ ที่มีรายได้ในปี 2023 สูงถึง 161,826,161 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,935 ล้านบาท
โดยปัจจุบัน Broadcom ถือได้ว่า เป็นหนึ่งในบริษัททรงอิทธิพลในวงการชิป ที่มีสองธุรกิจหลักคือ ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์แวร์ (software Infrastructure) และในปีที่ผ่านมามีมูลค่าหุ้นสูงขึ้นมากจากการเติบโตของอุตสาหกรรมชิปและ AI โดยจากต้นปี หุ้น Broadcom มีมูลค่าสูงขึ้นแล้วเกือบ 30%
รองลงจาก Tan ซีอีโอใน S&P 500 ที่มีรายได้สูงติด 10 อันดับก็ล้วนแต่เป็นซีอีโอของบริษัทใหญ่ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น Will Lansing จาก Fair Isaac Corporation บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการเงิน และผู้ให้บริการระบบ FICO® Score หรือระบบคำนวณคะแนนเครดิตสำหรับปล่อยสินเชื่อในสหรัฐฯ ที่รับรายได้ไปทั้งหมด 2,433 ล้านบาท และ Tim Cook จาก Apple บริษัทออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์และบริการไอทีที่เรารู้จักกันดี ที่รับรายได้ไปทั้งหมด 2,318 ล้านบาทในปี 2023
ทั้งนี้ แม้ซีอีโอที่รายได้สูงสุดติดอันดับแรกๆ จะเป็นซีอีโอจากบริษัทเทคโนโลยี อุตสาหกรรมที่ซีอีโอมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุดคือ ซีอีโอของบริษัทบริการด้านการสื่อสาร โดยในปี 2023 ซีอีโอในอุตสาหกรรมนี้มีรายได้เฉลี่ย 24.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีต่อคน ตามมาด้วยซีอีโออุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีรายได้เฉลี่ย 17.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีต่อคน และซีอีโออุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีรายได้เฉลี่ย 17.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีต่อคน
อย่างไรก็ตาม หากมาดูทางฝั่งรายได้ของพนักงาน การศึกษานี้พบว่ารายได้ของพนักงานในบริษัท S&P 500 อยู่ที่ 81,467 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,964,462 บาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 5.2% ซึ่งน้อยเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของซีอีโอที่สูงถึง 12.6%
อัตราที่แตกต่างกันนี้สะท้อนความไม่เท่าเทียมในการเติบโตของรายได้ระหว่างผู้บริหารและพนักงาน โดยในปี 2023 สัดส่วนรายได้ซีอีโอต่อรายได้พนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 196 จาก 185 ในปี 2022 ซึ่งเท่ากับว่ารายได้ของซีอีโอสูงกว่าพนักงานเกือบ 200 เท่า และในขณะที่รายได้ของพนักงานสูงขึ้นเพียงประมาณ 4,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี รายได้ซีอีโอนั้นสูงขึ้นถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในสหรัฐฯ ข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดเผยแก่สาธารณชนและกลายเป็นประเด็นถกเถียงมาเป็นเวลาประมาณ 7 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาทำให้อัตราเพิ่มของรายได้ซีอีโอและพนักงานมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น สะท้อนว่าการเปิดเผยข้อมูลเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่จะต้องเกิดจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องของพนักงานด้วย ซึ่งก็จะเกิดขึ้นได้จากการเห็นข้อมูลก่อน
ดังนั้น หากหน่วยงานกำกับดูแลไทยเองก็อาจจะต้องบังคับให้บริษัทไทยเปิดเผยที่มารายได้ของซีอีโออย่างเปิดเผยบ้าง เพื่อให้ประชาชน นักวิเคราะห์ และนักวิชาการ ตรวจสอบได้ว่า รายได้ของผู้บริหารในไทยมีที่มาอย่างโปร่งใส สมเหตุสมผล และเป็นธรรมกับพนักงานที่เป็นกำลังหลักให้กับธุรกิจหรือไม่
ที่มา: Equilar