เป้าหมายของ Facebook คือ การเป็นพื้นที่โซเชียลที่ช่วยให้ผู้คนค้นพบเนื้อหา และสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ แต่พฤติกรรมในการค้นหาและค้นพบของผู้คนในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ Facebook มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้โซเชียลมีเดียรุ่นใหม่ และพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วย AI
หากถามว่า แพลตฟอร์มโชเชียลมีเดียแห่งแรกที่คุณสมัครคืออะไร? เชื่อว่าส่วนใหญ่ต้องตอบว่า ‘Facebook’ แน่นอน เพราะ Facebook เปรียบเสมือนพื้นที่การค้นพบทางโซเชียล ที่เปิดโลกของผู้ใช้งานทั้งในมุมเล็กและมุมใหญ่ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือสร้างภาพลักษณ์แต่อย่างใด
โดยเป้าหมายของ Facebook คือ การเป็นพื้นที่โซเชียลที่ช่วยให้ผู้คนค้นพบสิ่งต่างๆ เสมอมา รวมทั้งสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ ที่รวบรวมความชื่นชอบในเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันกับผู้ใช้งานทั่วโลก โดยปัจจุบัน Facebook มีผู้ใช้งานทะลุ 3 พันล้านคนต่อเดือน และยังเป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
แต่พฤติกรรมในการค้นหาและค้นพบของผู้คนในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ Facebook มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้โซเชียลมีเดียรุ่นใหม่ ด้วยการกำหนดสองทิศทางหลักที่ Facebook ให้ความสำคัญในการพัฒนาสู่อนาคต 20 ปีข้างหน้า นั่นคือ การสร้างโซเชียลมีเดียยุคใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ และการพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วย AI
SPOTLIGHT ได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังข้อมูลหัวข้อ ‘Future of Facebook’ กับ คุณทอม อลิสัน รองประธานของ Facebook จาก Meta เพื่อรับรู้ภาพรวมและทิศทางของ Facebook
Facebook ได้พัฒนาประสบการณ์รับชมวิดีโอ ผ่านขั้นตอนในการค้นหาและเชื่อมต่อกับเนื้อหาวิดีโอที่ผู้ใช้งานสนใจให้ง่ายขึ้น ทั้งในรูปแบบของวิดีโอสั้นอย่าง ‘Reels’ วิดีโอยาว หรือคอนเทนต์แบบไลฟ์สด สอดคล้องกับพฤติกรรมการแชร์แบบส่วนตัว ทั้งการส่งต่อบน Facebook หรือข้ามไปยังแพลตฟอร์มอื่นอย่าง WhatsApp ที่เติบโตขึ้นกว่า 80% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี
โดยเนื้อหาวิดีโอยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกว่า 60% ของเวลาที่ผู้คนใช้บน Facebook และ Instagram มาจากการรับชมวิดีโอทั้งสิ้นในปัจจุบัน แม้คอนเทนต์วิดีโอสั้น Reels มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตครั้งนี้ แต่ Facebook ยืนยันว่า แพลตฟอร์มเปิดกว้างเนื้อหาวิดีโอทุกรูปแบบ และพร้อมเป็นหนึ่งในช่องทางดันการเติบโตของครีเอเตอร์
นอกจากนี้ Facebook ยังได้ปรับปรุงประสบการณ์การรับชมวิดีโอบนแพลตฟอร์ม ด้วยการอัปเดตการเล่นวิดีโอแบบเต็มจอ และฟีเจอร์ที่ช่วยเลื่อนไปยังเนื้อหาที่ต้องการสำหรับวิดีโอยาว ซึ่งได้เริ่มให้บริการทั่วโลกแล้ว
สำหรับฝั่งครีเอเตอร์ Facebook มองเห็นถึงการเติบโตของคนกลุ่มนี้ โดยมองว่า ในยุคนี้ การผันตัวเป็นครีเอเตอร์ ที่ได้รับค่าตอบแทนจากแพลตฟอร์มเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น Facebook จึงได้เปิดตัวฟีเจอร์ ‘Professional Mode’ ในเวอร์ชั่นที่ใช้งานง่ายขึ้น หลังจากมียอดผู้ใช้งานวันละ 100 ล้านคน ภายใน 18 เดือน ซึ่งได้ออกแบบขึ้นมาสำหรับผู้ที่ต้องการโพสต์เนื้อหาแบบสาธารณะและต้องการเพิ่มยอดผู้ติดตาม
ไม่เพียงเท่านี้ Facebook ยังได้พัฒนาโมเดลการจ่ายเงินให้กับครีเอเตอร์ โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพของคอนเทนต์บน Facebook ของพวกเขา ซึ่งช่วยให้การสร้างรายได้ของครีเอเตอร์เป็นเรื่องง่ายขึ้น อีกทั้งยังขยายโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมสำหรับคอนเทนต์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ หรือข้อความ
คุณทอม อลิสัน รองประธานของ Facebook จาก Meta กล่าวว่า แพลตฟอร์มได้ปรับปรุงพัฒนาฟีเจอร์ครั้งใหญ่ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน และโดยเฉพาะครีเอเตอร์ที่ต้องการได้รับค่าตอบแทนจากการทำคอนเทนต์บน Facebook ในหลากหลายรูปแบบ
ทั้งนี้ Facebook เปรียบเสมือนชุมชนออนไลน์ที่เชื่อมต่อทุกคน จากเพียง ครอบครัว เพื่อน และคนรุ้จัก สู่เครือข่ายขนาดใหญ่ที่รวบรวมผู้คนที่มีความชื่นชอบคล้ายกัน ทั้งในฐานะผู้เสพ หรือคนสร้างเนื้อหาก็ตาม พร้อมทั้งมีเครื่องมือมากมายที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถใช้งานเพื่อส่งเสริมเนื้อหาให้มีลูกเล่น และตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยไม่ต้องมีทีมโปรดักชั่นยิ่งใหญ่
พร้อมกันนี้ Facebook ยังเน้นย้ำครีเอเตอร์ให้สร้างเนื้อหาตามชุดมาตรฐานชุมชน ข้อควรระวัง และข้อห้าม จากการใช้เครื่องมือและการให้ข้อเสนอแนะของแพลตฟอร์ม รวมทั้ง การลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในด้านความปลอดภัย ตามเป้าหมายของ Facebook ที่ต้องการให้ครีเอเตอร์ประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มอย่างฟลอดภัย
ส่วนทิศทางการพัฒนาสู่อนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าของ Facebook เน้นการตอบรับเทรนด์ของการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Facebook จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความต้องการของ ‘Young Adults’ หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ และการพัฒนา ‘AI’ ให้มีความสามารถในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์
1. สร้างโซเชียลมีเดียยุคใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่
ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้งานของ Facebook ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ใช้กว่า 1.8 พันล้านคน มีส่วนร่วมกับกลุ่มบน Facebook ในแต่ละเดือน ซึ่งผู้ใช้รุ่นใหม่ (Young Adults) โพสต์ในกลุ่มบน Facebook มากขึ้น โดยมักเป็นการโพสต์แบบไม่ระบุตัวตน ในกลุ่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ
ถึงแม้กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ Facebook ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน แต่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สำหรับผู้บริโภคยุคโซเชียล Facebook จึงทำการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ โดยคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหลัก เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้น กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามหาวิทยาลัย การทำงานที่แรก การพบปะเพื่อนใหม่ หรือการไปท่องเที่ยวสำรวจเมืองใหม่ๆ
Facebook จึงช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบบนโลกโซเชียลที่ช่วยเปิดโลกกว้างในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งในมุมมองเล็กหรือใหญ่ การหา ‘กลุ่ม’ ที่มีใจรักในสิ่งเดียวกัน การค้นหาสิ่งที่พวกเขาสนใจผ่าน Reels หรือการค้นพบครีเอเตอร์ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา
2. พัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย AI
ช่วงปีที่ผ่านมา Facebook ได้พัฒนาโมเดล AI ให้สามารถเรียนรู้เนื้อหาที่มีความสำคัญต่อผู้ใช้งานมากขึ้น ผ่านการทดสอบบน Feed ของ Reels เพื่อมอบการแนะนำเนื้อหาที่ตรงใจผู้ใช้ยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นถึงผลลัพธ์ในทิศทางบวก
นอกจากนี้ Facebook ได้คิดค้นการจัดโครงสร้างโมเดลใหม่ ที่สามารถเรียนรู้จากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของ Facebook Reels ในการทดลองใช้งานได้อย่างมาก และอีกประมาณหนึ่งปีข้างหน้า เทคโนโลยีการแนะนำขั้นสูงนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย รวมถึง อีโคซิสเต็มของวิดีโอและคำแนะนำใน Feed ทั้งหมดของ Facebook รวมทั้ง กำลังสร้างหนึ่งในคอลเลกชันสำหรับ Open Model เครื่องมือต่างๆ และทรัพยากรสำหรับ Generative AI ที่ดีที่สุดด้วย ‘Meta Llama’
ทั้งนี้ Facebook ได้ลงทุนกับโมเดล AI และดาต้าเซนเตอร์มูลค่ามหาศาล ตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2026 คือ การมีเทคโนโลยีในการแนะนำเนื้อหาแก่ผู้ใช้ที่ดีที่สุดในโลก