‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ หนึ่งธุรกิจในไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในทิศทางเดียวกับเทรนด์โลก ทั้งจากการให้บริการ Public Cloud และบริการ Colocation แม้การเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ หมายถึงการใช้ไฟฟ้าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นก็ตาม
ความต้องการบริการ ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ (Data Center) เติบโตตามปริมาณการใช้งานข้อมูล ที่เติบโตด้วยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี โดยมูลค่าตลาดให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ของโลกมีแนวโน้มขยายตัวราว 22% จากปีทีผ่านมา จากการขยายตัวของบริการ Public Cloud เป็นหลัก
ในขณะที่ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศไทย SCB EIC ประเมินว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดมีแนวโน้มเติบโตราว 24% จากปีที่ผ่านมา โดยบริการ Public Cloud ขยายตัวที่ราว 29% เนื่องจากการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภคที่ยังสูงขึ้น และการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้นในระดับองค์กร ส่วนการให้บริการ Colocation คาดว่าจะเติบโตราว 14%
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ทำให้การบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า และการรักษาเสถียรภาพไฟฟ้าเพื่อรองรับช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุด เป็นความท้าทายของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ควบคู่กับการมุ่งสู่ความยั่งยืนด้วย
ในปี 2567 มูลค่าตลาดให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ของโลกคาดว่าอยู่ที่ 645.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 22,900 ล้านบาท เติบโตที่ราว 22% เทียบจากปีที่ผ่านมา ทั้งจากการให้บริการ Public Cloud ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 89% และบริการ Colocation ที่มีสัดส่วนราว 11% ทั้งจากผู้บริโภค องค์กร และภาคธุรกิจ
ซึ่งนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันการเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ ทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมหาศาลและส่วนใหญ่ ล้วนถูกจัดเก็บและประมวลผลบนดาต้าเซ็นเตอร์ ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และระบบการเชื่อมต่อที่ดึงข้อมูลออกมาใช้งานได้ง่ายและตลอดเวลา
โดย International Data Corporation (IDC) คาดการณ์ว่า ปริมาณพื้นที่จัดเก็บข้อมูลทั่วโลก ทั้งภายในอุปกรณ์รับ-ส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และภายในศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ เพิ่มขึ้นจาก 10.1 เซตตะไบต์ ในปี 2566 เป็น 21.0 เซตตะไบต์ ในปี 2570 หรือเติบโตในอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปีที่ 18.5% และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ส่วนมูลค่าตลาดการให้บริการ Public Cloud ของโลก คาดว่าจะเติบโตที่ราว 23% จากการใช้งานข้อมูลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้งานด้าน AI ในการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภค ทั้งการเก็บข้อมูลส่วนตัวอย่างรูปภาพและเอกสาร และการใช้งานโซเชียลมิเดีย สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชัน ที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปีที่ 21% ในช่วงปี 2567-2572 ตามรายงานโดย Ericsson
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจและองค์กรมีการปรับใช้เทคโนโลยีมากขึ้น อย่างเช่น Internet of Things (IoT), Robotic, Smart devices, และ AI โดยเฉพาะ Generative AI ที่มีแนวโน้มใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต
ในขณะที่การให้บริการ Colocation จะเติบโตประมาณ 14% หลังจากที่องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่ง หันมาเช่าพื้นที่ฝาก Server ในดาต้าเซ็นเตอร์ผ่านระบบ Private Cloud แทนการเก็บข้อมูลในระบบ Server ภายในองค์กร (On-Premise) เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าจ้างผู้ชำนาญการคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงลดความเสี่ยงจากระบบเชื่อมต่อที่ไม่เสถียร และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
ถึงแม้ตอนนี้บริษัททั่วโลกนิยมจัดเก็บข้อมูลแบบ Hybrid Cloud ที่แบ่งการเก็บข้อมูลทั้งในระบบ Public Cloud และ Private Cloud ในรูปแบบ Colocation และ On-Premise มากขึ้น สอดคล้องกับรายงานโดย Flexera ที่พบว่า ในช่วงปลายปี 2023 มี 65% ของ 750 บริษัท จัดเก็บข้อมูลขององค์กรในรูปแบบ Hybrid Cloud โดยแต่ละรูปแบบ มีจุดประสงค์ที่ไม่เหมือนกันดังนี้:
- Private Cloud : ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ต้องการความปลอดภัยสูง และมีการใช้งานในความหน่วงที่ต่ำ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน ข้อมูลการติดต่อและใช้บริการของลูกค้า
- Public Cloud : ข้อมูลทั่วไป
ในปี 2567 SCB EIC คาดว่า มูลค่าตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ของไทยอยู่ที่ 58.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 2,100 ล้านบาท เติบโตราว 24% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตในทิศทางเดียวกับเทรนด์โลก ตามการใช้งานเทคโนโลยีในภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภคที่ยังเติบโต
โดยบริการ Public Cloud ขยายตัวที่ราว 29% และคาดว่าจะมีสัดส่วนที่ 82% จากมูลค่าของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ไทยในปี 2567 จากการใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้นในระดับองค์กร ทั้งการบริหารจัดการอัตโนมัติ การออกเอกสารต่างๆ ในรูปแบบบริการรายเดือน
รวมถึงปริมาณการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภคที่ยังเติบโต สะท้อนจากปริมาณการใช้งานข้อมูลรายเดือนต่อหมายเลขผ่านโทรศัพท์มือถือของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2562-2567 จาก 10.35 GB ในไตรมาสที่ 1/2562 เป็น 33.70 GB ในไตรมาสที่ 1/2567 คิดเป็น 27% ของอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี
ขณะที่ตลาด Colocation คาดว่าจะมีสัดส่วนที่ 18% จากมูลค่าของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ไทย และเติบโตราว 16% จากการเริ่มใช้เทคโนโลยีในการทำงานของหลายองค์กร และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลจาก On-Premise เป็นการใช้บริการ Colocation เพื่อลดเม็ดเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา
รายงาน The Next-Generation Cloud Strategy in Asia ที่ทาง Alibaba Cloud ร่วมกับ NielsenIQ พบว่า 95% ของ 1,000 บริษัทในไทยวางแผนเพิ่มการลงทุนด้าน Cloud ซึ่ง Private Cloud เป็นระบบที่บริษัทในเอเชียส่วนใหญ่ให้ความสนใจสูง ตามด้วย Hybrid Cloud
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ส่งผลมีการใช้ไฟฟ้าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากอุปกรณ์ IT ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ และระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ประเด็นด้านความยั่งยืน (Sustainability) ถูกจับตามองมากขึ้น
โดย The International Energy Agency (IEA) รายงานว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าของดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกในปี 2565 คิดเป็น 1.3% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2563 คิดเป็น 0.6% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก จึงทำให้การบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า พร้อมกับการรักษาเสถียรภาพไฟฟ้าเพื่อรองรับช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุด (Peak Traffic) เป็นความท้าทายสำคัญของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์
การออกแบบและก่อสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะทำให้ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์เข้าใกล้ความยั่งยืนได้มากขึ้น และยังช่วยลดภาระการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ให้สอดคล้องตามมาตรฐานด้านการใช้พลังงานที่มีโอกาสเพิ่มข้อกำหนดได้ในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุที่รักษ์โลก และการออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงาน อีกทั้ง การนำเทคโนโลยีก่อสร้างอย่าง Modular และ Prefab ที่ใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาประกอบและติดตั้งหน้างาน เป็นอีกหนึ่งวิธีการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยลดชิ้นส่วนวัสดุเหลือใช้และลดระยะเวลาในการก่อสร้าง
SCB EIC ชี้แนวทางการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าที่จะขับเคลื่อนดาต้าเซ็นเตอร์สู่ความยั่งยืนดังนี้:
ยกตัวอย่าง Meta ที่นำเทคโนโลยี Machine Learning (ML) มาใช้ในการควบคุมระบบปรับอากาศ ซึ่งพบว่า การตั้งค่าอุณหภูมิภายในดาต้าเซ็นเตอร์สูงขึ้น 5°F ในช่วงฤดูร้อน ไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ IT แถมยังช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ในระบบปรับอากาศได้ถึง 50% ส่งผลให้ค่า PUE หรือ ค่าความคุ้มค่าของการใช้พลังงานไฟฟ้าในศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์โดยรวมลดลง
นอกจากนี้ การได้รับการรับรองมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น มาตรฐานอาคารสีเขียว LEED และใบรับรอง CEEDA® (The Certified Energy Efficient Datacenter Award) จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการโดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนได้ (Carbon Neutral)
ทำให้การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระบายความร้อนในดาต้าเซ็นเตอร์ อย่าง Liquid Cooling และ AI powered cooling systems เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้การใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบปรับอากาศลดลง
ทั้งนี้ SCB EIC มองว่า นโยบายของภาครัฐ มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐในหลายประเทศที่กำลังใช้กลยุทธ์เพื่อผลักดันไปสู่ความยั่งยืนดังนี้:
เช่น รัฐบาลมาเลเซียที่ออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงสุด 70% ของวงเงินลงทุนในการปรับปรุงศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์เดิมให้ประหยัดพลังงาน และการก่อสร้างกรีนดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่เป็นระยะเวลา 3 ปี
เช่น สหภาพยุโรปกำหนดให้ในปี 2567 ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ต้องจัดส่งรายงานการใช้พลังงานให้กับหน่วยงานจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้ในการกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานในศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงาน
เช่น ประเทศสิงคโปร์กำหนดให้การสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ ต้องผ่านการอนุญาตจากภาครัฐและต้องได้รับใบรับรองด้านการประหยัดพลังงาน ขณะที่ประเทศเยอรมนีกำหนดให้ดาต้าเซ็นเตอร์ ต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างน้อย 50% ตั้งแต่ปี 2567 และเพิ่มเป็น 100% ในปี 2570 รวมถึงค่า PUE ต้องต่ำกว่า 1.5 ในปี 2570 และ 1.3 ในปี 2573
สุดท้ายนี้ แม้ดาต้าเซ็นเตอร์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตสูง แต่นโยบายของภาครัฐมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งการผลักดันสู่ความยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมให้โอกาสในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนของไทยนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น
ที่มา SCB EIC: จริงหรือไม่…Data center เป็นธุรกิจมาแรงงแบบเกินต้าน?