“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” หนึ่งคำถามยอดฮิตที่เด็กทุกคนต้องถูกผู้ใหญ่ถาม ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทย หรือจะชาติไหนก็ตาม เช่นเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทาง National Society of High School Scholars (NSHSS) ซึ่งเป็นสมาคมเกียรติยศสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ได้ทำผลสำรวจกับกลุ่มคน Gen Z กว่า 10,000 คน ทุกๆ สองปี
ไม่น่าแปลกใจ ที่การจัดอันดับจะเบี่ยงเบนไปที่บริษัทประเภทที่เด็กรุ่นใหม่คุ้นเคยมากที่สุด อย่าง Disney และ Build-A-Bear และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มักครองใจติดอันดับต้นๆ จากการสำรวจทุกครั้ง เช่นในปี 2017 Google ติดอันดับบริษัทที่เด็กจบใหม่อยากเข้าทำงานมากที่สุด
โดยการจัดอันดับในปีนี้ เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมเทคฯ ดังนี้:
ในขณะที่ 5 อันดับแรก ล้วนเป็นโรงพยาบาล คลินิก และสำนักงานสอบสวนกลาง สะท้อนให้เห็นถึง เทรนด์ของกลุ่ม Gen Z ที่เริ่มไม่นิยมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แม้ครั้งหนึ่งเคยผูกขาดกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ฉลาดที่สุดในประเทศเกือบทั้งหมดมานานกว่าทศวรรษ
สาเหตุมาจากการถูกเลิกจ้างในสายงานเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และเป็นที่รู้กันทั่วโลก สะท้อนด้วยข้อมูลจาก Layoffs.fyi ที่รายงานว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา พนักงานเทคฯ มากกว่า 240,000 คนถูกเลย์ออฟ ในขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก 2024 บริษัทเทคฯ มากกว่า 300 แห่ง เลิกจ้างพนักงานไปแล้วเกือบ 100,000 คน
ถึงแม้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคฯ จะให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน หรือการเติบโตของ AI จนทำให้มีความจำเป็นต้องเลิกจ้าง
แต่จากการสำรวจโดย Handshake เว็บไซต์หางานสำหรับนักศึกษาพบว่า นักศึกษาที่จบการศึกษาปี 2024 ระบุว่า ‘ความมั่นคง’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจว่าจะสมัครงานที่ไหน สะท้อนจากสัดส่วนของใบสมัครที่ส่งไปยังบริษัทเทคฯ ลดลงถึง 19% เมื่อเทียบกับนักศึกษาชั้นปี 2022
สำหรับกลุ่มคน Gen Z การทำงานในสายเทคฯ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากมีการเลย์ออฟที่ต่อเนื่อง ทำให้ความมั่นคงในการทำงานกลายเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับคนทำงาน Gen Z จำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานและแสวงหาความมั่นคง หลายคนให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีความมั่นคงในการทำงานที่ดีกว่า มากกว่าบริษัทที่เสนอค่าจ้างสูงแต่มีเสถียรภาพน้อยกว่า
ที่ผ่านมา กลุ่มคนมิลเลนเนียลมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างความก้าวหน้าของโลก ผ่านการทำงานในด้านเทคโนโลยี โดยพวกเขาเชื่อว่า นี่คือ ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถสร้างผลกระทบทางบวกได้ แต่ในทางกลับกัน หลังจากที่พวกเขาได้เข้ามาทำงานในบริษัทเทคฯ ทั้งหลาย สิ่งที่คิดกับความเป็นจริงไม่เหมือนกัน
โดยเฉพาะในช่วงหลังที่มักมีข่าวจากบิ๊กเทคฯ ทั้งการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่เป็นจริง การปลุกปั่นคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง การปลูกฝังการเสพติดสื่อดิจิทัล รวมทั้ง การเลิกจ้างพนักงานครั้งล่าสุด ที่ได้เปิดเผยถึงการปฏิบัติที่รุนแรงต่างๆ ภายในบริษัทเทคฯ ที่มุ่งเน้นที่ผลกำไรมากกว่าสวัสดิการของพนักงาน
ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีหลายอย่าง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ส่งเสริมอาการเสพติดดิจิทัล และอาจส่งผลเชิงลบต่อสุขภาพจิต ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ทำให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมเสียหายมากขึ้นไปอีก
ปัญหามากมายเหล่านี้ สร้างความกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อสังคมจากงานที่ทำ และยังทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบ และผลกระทบทางจริยธรรมของอัลกอริทึมอีกด้วย คนรุ่น Gen Z จึงมองว่า สายงานเทคโนโลยี ดูเหมือนจะไม่ใช่พลังแห่งความดีอีกต่อไป
โดยผลสำรวจของ NSHSS บ่งชี้ว่า เด็กรุ่นใหม่กว่า 59% มองว่า AI จะมีผลกระทบเชิงลบต่อสังคมมากกว่าเชิงบวก โดยเฉพาะผู้หญิงกว่า 73% ที่มองเช่นนี้ นอกจากนี้ กว่า 55% เชื่อว่า AI จะมีผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวในชีวิตในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างมาก
การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนรุ่น Gen Z หันมาให้ความสำคัญกับบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น หลังจากที่พวกเขาได้เรียนรู้ว่า ไม่มีงานใดสำคัญไปกว่างานของบุคลากรด่านหน้า ที่เอาชีวิตของตนเองเข้าเสี่ยงเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างรุนแรง และแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่กำลังมองหาอาชีพที่ให้ความรู้สึกมีจุดมุ่งหมายและมีส่วนสนับสนุนต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ทำให้คนรุ่น Gen Z หันมาสนใจอาชีพที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนและการช่วยชีวิตมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จาก ผลสำรวจของ NSHSS ที่พบว่า กลุ่ม Gen Z มองปัญหาทางด้านการดูแลสุขภาพ หรือที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด (32%) แซงหน้าปัญหาสิทธิมนุษยชนไปแล้ว (29%) ขณะที่ความสนใจในนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ลดลงจาก 34% เหลือเพียง 28%
สภาพเศรษฐกิจ ความผันผวน และการเลิกจ้างพนักงาน ล่าสุด ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้บทบาทในองค์กรแบบเดิมดูไม่มั่นคง กลุ่มคน Gen Z จำนวนมากจึงมองหาโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อเป็นเส้นทางอาชีพที่มั่นคงกว่า โดยมองว่า การมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เป็นหนทางหนึ่งในการบรรเทาความไม่มั่นคงในการทำงาน จากการสร้างโอกาสให้ตนเองและกระจายแหล่งรายได้
การเป็นเจ้านายตัวเองทำให้คนรุ่น Gen Z มีอิสระในการกำหนดวัฒนธรรมการทำงาน ลำดับความสำคัญขององค์กร และมอบอิสระในการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์และค่านิยมของตัวเอง ซึ่งน่าดึงดูดกว่า เมื่อเทียบกับบทบาทในองค์กรเทคฯ แบบเดิม
นอกจากนี้ กลุ่มคน Gen Z จำนวนมากมองว่า งานเริ่มต้นของตน รวมถึง งานในสายเทคฯ เป็นประสบการณ์อันมีค่า ที่สามารถมอบทักษะและข้อมูลเชิงลึกในการเป็นผู้ประกอบการในอนาคตได้ พวกเขาใช้บทบาทเหล่านี้ในการสร้างเครือข่าย รับความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม และพัฒนาทักษะความชำนาญ ที่สามารถนำไปใช้กับธุรกิจของตนเองได้
ไม่เพียงเท่านี้ งานเริ่มต้นยังสามารถให้ความมั่นคงทางการเงิน เพื่อนำไปการระดมทุนสำหรับธุรกิจในอนาคต ทำให้บทบาทเหล่านี้เป็นเพียงวิธีการชั่วคราวเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้ประกอบการในระยะยาว ตรงกับผลสำรวจของ Talker ที่เผยว่า 4 ใน 10 ของกลุ่ม Gen Z ต้องการระดุมทุนก่อนเปิดกิจการของตนเอง
สำหรับประเทศไทย WorkVenture เผย 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดในปี 2567 พบว่า Google ยังขึ้นแท่นอันดับหนึ่งบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ตามมาด้วย ปตท. และ เอสซีจี
ในขณะที่ สถาบันยุทธศาสตร์การค้า จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยรายงาน 10 อาชีพเด่น อาชีพในฝันของเด็ก Gen Z ปี 2567 พบว่า วิศวกรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคความปลอดภัย เป็นอาชีพที่โดดเด่นที่สุด เนื่องจากมีผลตอบแทนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีแรงงานในตลาดน้อยมาก ถึงแม้ต้องมีทักษะเฉพาะด้านที่ครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ค่อนข้างสูง และต้องมีการพัฒนาตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ตาม
ในรายงานชี้ว่า ปัจจัยบั่นทอนที่มีผลต่อแรงงานไทยในปี 2567 คือ การขาดแคลนแรงงานทักษะฝีมือ รวมไปถึงแรงงานระดับล่างที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ภาวะการเงินโลกที่ยังคงตึงตัวและมีความผันผวน ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และวิกฤตหนี้นอกระบบที่ยังฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายของประชาชน
ที่มา Business Insider 1, Business Insider 2, Forbes, Business Insider Africa, Join Handshake, NSHSS, Techopedia, WorkVenture, YR Media, สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย