‘Google’ ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย โดยวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ในกรุงเทพมหานคร และชลบุรี เพื่อจะช่วยตอบสนองความต้องการในการใช้งานคลาวด์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก
นอกจากนี้ Google ยังได้เดินหน้าต่อยอดโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเติบโตในเศรษฐกิจ AI และช่วยให้คนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลและ AI ได้มากขึ้น ตามภารกิจ ’Leave No Thai Behind’
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รูธ โพรัท (Ruth Porat) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนของ Alphabet และ Google เปิดเผยว่า การประกาศครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานร่วมกันกับรัฐบาลไทย เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2566
โดยข้อตกลงนี้ ครอบคลุมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การส่งเสริมการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ การวางหลักนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะ ด้านดิจิทัลได้มากขึ้น
การลงทุนของ Google มูลค่าประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคระดับเวิลด์คลาสคาดว่า จะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาทแก่ GDP ของประเทศไทยภายในปี 2572 และสร้างงาน 14,000 ตำแหน่งต่อปีโดยเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2568-2572 จากการศึกษาโดย Deloitte
โครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ของ Google ในกรุงเทพมหานคร และชลบุรี จะช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้งาน Google Cloud และ นวัตกรรม AI รวมถึงบริการของ Google อย่าง Google Search, Google Maps, และ Google Workspace ที่องค์กรต่างๆ ประชาชนคนไทย ตลอดจนผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกใช้ในชีวิตประจำวัน
การประกาศแผนการลงทุนในครั้งนี้ เป็นภาคต่อจากประกาศของ Google Cloud เมื่อปี 2565 ที่วางแผนจะเปิดตัว ‘Cloud Region’ ในประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ทอัป ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร AI และ Machine Learning (ML) และการประมวลผลแบบออนดีมานด์ได้ง่ายและเร็วขึ้น
โดยจะช่วยทำให้บริการมีประสิทธิภาพสูงและมีความหน่วงต่ำ รวมถึงมอบเครื่องมือในการควบคุมหลักๆ แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถดูแลรักษาทั้งในเรื่องความปลอดภัยสูงสุด สถานที่ตั้งของข้อมูล และมาตรฐานการปฏิบัติงาน รวม ถึงข้อกำหนดของที่เก็บข้อมูลเฉพาะ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Google ได้ฝึกอบรมคนไทยไปมากกว่า 3.6 ล้านคน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นที่ต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้ โดยเมื่อไม่นานมานี้ Google ได้เปิดตัวหลักสูตรใหม่อย่าง ‘Al Essentials’ และยังมีโครงการ ‘Samart Skills’ ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้รับความรู้ และทักษะที่สำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือ AI และการใช้งาน
นอกจากนี้ยังมี ‘Gemini Academy’ โครงการฝึกอบรมทักษะด้าน AI ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ครูใช้งาน AI อย่างปลอดภัย ยกระดับความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน โดยโครงการนี้ให้การฝึกอบรมนักการศึกษาไทยไปแล้ว 20,000 คน นับตั้งแต่ปี 2566
เพื่อเป็นการต่อยอดความมุ่งมั่นในการผลักดันประเทศไทย สู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ระบบดิจิทัล Google ยังได้วางแผนลงทุนและสนับสนุนทักษะด้าน AI ในประเทศไทยผ่านองค์กรในประเทศ โดยตั้งเป้าส่งเสริมคนไทยจำนวน 150,000 คน ภายในปี 2569
‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ หรือ ‘ศูนย์ข้อมูล’ (Data Center) แห่งแรกของ Google ในประเทศไทย จะตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) จังหวัดชลบุรี ในส่วนของ Cloud Region จะตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ
โดยดาต้าเซ็นเตอร์ มีไว้สำหรับจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลคำขอสำหรับบริการดิจิทัลของ Google เช่น YouTube, Google Search, Google Maps และ Google Workspace
ส่วน Cloud Region รวบรวมทรัพยากรการประมวลผล และการจัดเก็บข้อมูลโดยมีการเชื่อมต่อเครือข่ายประสิทธิภาพสูงระหว่างกัน แม้ว่าฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการดำเนินการจะคล้ายคลึงกับดาต้าเซ็นเตอร์ แต่ Cloud Region จะให้บริการ ‘Google Cloud’ เฉพาะสำหรับองค์กรขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรอื่นๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ระบบดิจิทัล