ในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้ ‘การหางาน’ เป็นเรื่องที่ยากขึ้นทั่วโลก องค์กรต่างรัดเข็มขัด ลดงบการจ้างงาน รวมถึงมีการเลย์ออฟอยู่พักใหญ่ กระทบถึงเหล่าผู้สมัครงานจำนวนมาก ที่ต้องแข่งขันกันหาวิธีใหม่ๆ ที่จะทำให้ตัวเองมี ‘ความโดดเด่น’ เมื่อสมัครงาน
เทคโนโลยีอย่าง ‘Generative AI’ และเครื่องมือดิจิทัลที่ได้รับการปรับปรุง ทำให้การสร้าง CV และจดหมายสมัครงาน (cover letter) ที่ซับซ้อน เป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องทำในรูปแบบเดิม ใช้ตัวหนังสือฟอนต์ Times New Roman ที่น่าเบื่อ บนกระดาษ A4 ที่ว่างเปล่า
ตรงกับผลสำรวจของ Canva ที่พบว่า ผู้หางานเกือบ 45% ใช้ Generative AI ในการสร้าง อัปเดต หรือปรับปรุง CV ของตน และได้ผลลัพธ์ในเชิงบวก
อย่างไรก็ตาม การใช้ AI เพื่อช่วยรังสรรค์ในเรซูเม่ กลับมีปัญหาเช่นกัน ตามที่ Govind Balakrishnan รองประธานอาวุโสของ Adobe Express กล่าวว่า "ทุกคนต่างต้องเผชิญกับเนื้อหาที่ ‘ซ้ำซาก’ และ จำเจ’ เพราะมักจะมีลักษณะและความรู้สึกที่เหมือนกัน และมักขาดความเป็นเอกลักษณ์”
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้สมัครงานจำนวนมาก เลือกเทมเพลต CV สำเร็จรูป ที่ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์เสนอให้ แม้เทมเพลตเหล่านี้สามารถปรับแต่งด้วยข้อความและรูปภาพ แต่มักจะมีลักษณะคล้ายกัน ทำให้ผู้ใช้งานบางกลุ่ม เริ่มใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น เพิ่มแอนิเมชั่นใน CV ของตน หรือทำใบสมัครในรูปแบบของวิดีโอ
แต่ Balakrishnan เตือนว่า ผู้ใช้งานควรระมัดระวัง เมื่อทดลองใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ สำหรับการทำเรซูเม่ แม้จะช่วยสร้างความโดดเด่น แต่หากไม่สร้างสมดุลที่เหมาะสม เช่น ใส่เนื้อหามากเกินไป และโทนโดยรวมที่ไม่เหมาะสม อาจสร้างผลเสียราวกับว่า ‘จะไม่มีวันพรุ่งนี้’ แล้ว
จากการสำรวจผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลกว่า 5,000 โดย ‘Canva’ อีกหนึ่งแพลตฟอร์มคู่แข่งของ Adobe ที่มีเครื่องมือออกแบบที่คล้ายคลึงกัน และมีผู้ใช้กว่า 900 ล้านคนในปีที่ผ่านมา พบว่า 39% ของผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม มักใส่ข้อความตัวหนังสือมากเกินไปเวลาทำ CV ของตนเอง
Duncan Clark หัวหน้า Canva ภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า หลายคนหันมาใส่ลิงก์สำหรับข้อมูลที่ต้องการใส่เพิ่มเติม หรือแนบผลงานแยกต่างหาก เพื่อรักษา CV ให้เป็นเอกสารที่จัดพิมพ์อย่างสวยงาม สั้น กระชับ และจับประเด็นสำคัญในรูปแบบที่อ่านง่าย
“สิ่งที่เราเห็น คือ ในการสื่อสารด้วยภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะเครื่องมือดิจิทัล ทำให้ผู้ใช้งานที่ไม่มีทักษะเฉพาะด้านการออกแบบ เช่น สี เค้าโครง และกราฟิก สามารถนำเสนอตัวเองในรูปแบบที่ดึงดูดสายตาได้ โดยไม่ต้องผ่านการฝึกฝนใดๆ” Clark กล่าว
ในช่วงปีที่ผ่านมา แชทบอท AI อย่าง ‘ChatGPT’ ของ OpenAI และ ‘Bard’ ของ Google ช่วยให้การสร้างข้อความจำนวนมหาศาล โดยใช้ Generative AI ที่ความสามารถเทียบเท่ากับทักษะการเขียนของมนุษย์ ผ่านการใช้ภาษาที่มีความธรรมชาติ จากการฝึกฝนด้วยข้อมูลข้อความจำนวนมาก
ทำให้ผู้สมัครงานสามารถป้อนคำอธิบายงานลงในแชทบอท และขอให้สร้างจดหมายสมัครงาน หรือตอบคำถามได้ นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถป้อน CV ของตนเองลงในระบบ ขอคำติชมหรือแก้ไข และทำให้ข้อความมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นตามความต้องการของตำแหน่งงาน
อย่างไรก็ตาม Generative AI มักมีการลอกเลียนคำตอบจากแหล่งข้อมูลอื่น ส่งผลให้เรซูเม่บางชิ้น มีข้อความที่เหมือนกับเรซูเม่ชิ้นอื่นๆ ทุกประการ
Khyati Sundaram ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ‘Applied’ แพลตฟอร์มจัดหางาน กล่าวว่า “เราพบเห็นผู้คนจำนวนมากวางแบบฟอร์มลงใน ChatGPT และพบโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันจำนวนมาก ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ เราได้รับคำตอบที่เหมือนกัน เพราะแชทบอทมีการคัดลอก และวางคำตอบที่เหมือนกันทุกประการ”
ส่วน Nicky Hutchinson ที่ปรึกษาด้านการจ้างงานและอาชีพ จากมหาวิทยาลัย Exeter พบว่า มีนักศึกษาจำนวนมากที่ถูกปฏิเสธจากการสมัครงาน เนื่องจากเขียนใบสมัครงานโดยใช้ Generative AI ถึงแม้ AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์จริงๆ ก็ตาม แต่เมื่อมันพยายามทำอะไรให้ผู้ใช้งานมากเกินไป มันก็จะลบ ‘ตัวตน’ ของผู้ใช้งานออกไป
สิ่งที่ Hutchinson แนะนำสำหรับการใช้เครื่องมือ AI คือ ใช้ในการสร้างคำถามสัมภาษณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมการสัมภาษณ์ให้มีประสิทธิภาพ หรือใช้เพื่อช่วยในการจัดโครงสร้างของใบสมัครงาน เพราะหากใช้ Generative AI หรือเทมเพลตสำหรับ CV โดยไม่ได้ผ่านคิด หรือปรับแต่งให้เหมาะสมเพียงพอ อาจสร้างผลลัพธ์ที่ ‘จืดชืด’
นอกจากนี้ คำแนะนำของเธอสำหรับผู้ที่ต้องการทำให้ CV ของตนดูสวยงามมากขึ้นก็คือ อย่าทำให้เนื้อหาใน CV เสียหาย เพราะบางครั้งการออกแบบอาจต้องใช้พื้นที่จำกัด
ที่มา Financial Times