หลังจาก JMART ประกาศเข้าถือหุ้น “สุกี้ ตี๋น้อย” 30% มูลค่าลงทุนรวมไม่เกิน 1,200 ล้านบาท พร้อมประกาศว่าจะผลักดันให้สุกี้ตี๋น้อยเข้าตลาดหุ้นภายในใน 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย วันนี้ SPOTLIGHT พาส่องผลประกอบการของ ‘สุกี้ ตี๋น้อย’ ที่จะทำให้ทุกคนเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาอันสั้น และไม่แปลกใจที่ยักษ์ใหญ่อย่างเจมาร์ท จะเห็นโอกาสในการเข้าลงทุนธุรกิจสุกี้ตี๋น้อย
ข้อมูลผลประกอบการของ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปีที่แล้ว (2564) สุกี้ตี๋น้อย มีรายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท ในขณะที่ก่อนหน้านั้น คือ ในปี 2563 มีรายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท ส่วนในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่จดทะเบียนบริษัท เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป มีรายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท ตัวเลขการเติบโตของกำไรใน 3 ปี ก้าวกระโดขึ้นมาเกือบ 10 เท่าตัวเลยทีเดียว
อัตราการเติบโตของสุกี้ตี๋น้อยที่มีอายุยังน้อยเพียงแค่ไม่ถึง 5 ปี แต่สามารถทำกำไรชนะสุกี้เจ้าตลาดอย่าง MK สุกี้ได้ ทั้งที่ MK มีสาขามากกว่า 400 แห่ง ในขณะที่สุกี้ตี๋น้อยมีสาขา 42 แห่งเท่านั้น แต่ปี 2564 MK สุกี้ มีรายได้ 11,368 ล้านบาท แต่กำไร 131 ล้านบาท
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของธุรกิจสุกี้ตี๋น้อย ตั้งแต่ก่อนช่วงปี 2562 สาวสวยคนเก่ง คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช ที่มาอายุในตอนนั้นยังไม่ถึง 30ปีด้วยซ้ำ มีแพชชั่นในการอยากทำธุรกิจที่มีความมั่นคงเป็นของตัวเอง แม้ว่าจะไม่ได้เรียนเรื่องการทำธุรกิจมาโดยตรง
โดยคุณเฟิร์นจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้าน Economics and Finance จาก University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาโท Marketing & Management ด้าน Luxury Brand จาก Emlyon Business School ประเทศฝรั่งเศส แต่ครอบครัวมีพื้นฐานของการทำธุรกิจร้านอาหาร โดยคุณพ่อ ถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์อย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดมาสู่ลูกและทำให้ได้เปิดธุรกิจร้านอาหารในที่สุด
สุกี้ บุฟเฟต์ ไม่ใช่สินค้าใหม่ในตลาด การแข่งขันสูง มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว แต่คุณเฟิร์นได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายครั้งว่า เธอได้เอาประสบการณ์จากการทานร้านอาหารชื่อดังมากมายของตัวเอง และ เธอพบว่า ในตลาดของสุกี้บุฟเฟ่ต์ ยังมีช่องว่างในเรื่องการให้บริการที่ลูกค้าต้องการ เช่น การตกแต่ง ความสะดวกสบายภายในร้าน ติดแอร์ ที่จอดรถสะดวก และที่สำคัญคือ ราคาย่อมเยาว์ จากเริ่มต้นธุรกิจ ราคาบุฟเฟต์อยู่ที่ 199 บาท ปัจจุบัน ปรับขึ้นราว 219 บาท ใครเคยใช้บริการจะรู้เลยว่า หลายสาขาต้องรอคิวนานเป็นชั่วโมง แถวยาวเหยียด แต่ลูกค้าก็ยินดีที่จะรอ
คุณเฟิร์น บอกว่า รายได้และกำไรที่เติบโตอย่างมาก น่าจะมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน แต่องค์ประกอบหนึ่งคือ หากสินค้าราคาไม่สูง แปลว่า จะต้องได้จากปริมาณลูกค้าที่มาก โดยสุกี้ตี๋น้อยจะเปิด 1 สาขาให้รองรับลูกค้าได้ไม่ต่ำกว่า 45 โต๊ะต่อรอบ และมีระยะเวลาการเปิดร้านที่ยาวถึง 17 ชั่วโมง คือ ช่วงระยะเวลาในการเปิดคือ 12.00-05.00 น. ซึ่งเปรียบได้กับร้านในห้างที่ต้องเปิด 2 วัน ขณะเดียวกันบริษัทพยายาม ลด Fix Cost เพื่อให้มีมาร์จิ้นที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยว่า ดีลนี้จะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 4/ 65 โดยกลุ่มบริษัทเจมาร์ทในฐานะที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี จะช่วยให้พันธมิตรทางการค้า BNN มีการเติบโตในด้านผลการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมาย
โดย JMART พร้อมช่วยดันการขยายสาขาของสุกี้ตี๋น้อยไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด เพราะมีคอมมูนิตี้อย่าง เจเอเอส แอสเซท อีกด้วย ที่จะบุกตลาดในต่างจังหวัดและเป็นไปได้ว่า จะนำสุกี้ตี๋น้อยขยายไปด้วยกัน เพื่อดึงดูดลูกค้าได้อีกด้วย ที่สำคัญคือ การผลักดันแผนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การเข้าลงทุนในครั้งนี้เป็นการเดินหน้าตามกลยุทธ์ Technology Investment Holding Company (T-IHC) บริษัทเล็งเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารของ BNN เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีโอกาสในการเติบโตสูง มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรม รวมไปถึง การต่อยอดพันธมิตรทางธุรกิจ และก่อให้เกิดการผนึกกำลัง Ecosystem ที่จะแข็งแรงขึ้นและมีพอร์ตธุรกิจกลุ่ม Food & Beverage เพิ่มเติม
สรุไปได้ว่างานนี้ น่าจับตามองทั้งสุกี้ตี๋น้อยร้อยล้าน และ การขยายธุรกิจที่หลากหลายอย่างเจมาร์ท ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล
https://www.blockdit.com/posts/62a1e286dd72eb5134f275ab
https://investor.mkrestaurant.com/th/downloads/financial-statements
https://m.listedcompany.com/misc/FS/20200225-m-fs-fy2019-th.pdf
https://m.listedcompany.com/misc/FS/20220224-m-fs-fy2021-th.pdf
https://www.brandbuffet.in.th/2022/02/mk-reported-net-profit-net-profit-131-million-in-2021/
https://datawarehouse.dbd.go.th/fin/profitloss/5/0105562009772